จันทร์นภา สายสมร บอสหญิง' ผู้ล้ม ยักษ์ แห่งธุรกิจฟิล์มกรองแสง ลามิน่า

 จันทร์นภา สายสมร

“บอสหญิง“ ผู้ล้ม “ยักษ์” แห่งธุรกิจฟิล์มกรองแสง
 

ผู้หญิงกับอุตสาหกรรมประดับยนต์มักไม่ใช่ของคู่กัน ด้วยเหตุนี้ การจะควานหาผู้บริหารหญิงในธุรกิจประดับยนต์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเอ่ยชื่อหญิงแกร่งนามนี้ “จันทร์นภา สายสมร” ผู้คนในแวดวงประดับยนต์และอุตสาหกรรมยานยนต์น้อยคนที่ไม่รู้จักเธอ เพราะเธอคือเจ้าของตำนาน “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” ในธุรกิจฟิล์มกรองแสง

คุณจันทร์นภาเป็นผู้ก่อตั้งหลัก และเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทคโนเซล (เฟรย์) จำกัด ตัวแทนจำหน่ายฟิล์มกรองแสงรถยนต์ "ลามิน่า" และฟิล์มกลุ่มพิเศษ "ลูมาร์" จากประเทศสหรัฐอเมริกา 

ปัจจุบัน “ลามิน่า” ถือเป็น “เบอร์ 1” ในตลาดฟิล์มกรองแสงของเมืองไทย แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เส้นทางชีวิตบน “แผ่นฟิล์ม” ของคุณจันทร์ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้กระทั่ง “หนทางเดิน” ก็ไม่ได้มีใครมากรุยทางไว้ให้ ความสำเร็จทุกขั้นมาจากย่างก้าวที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและอดทนของเธอ 
 

จากชีวิต “ติดดิน” สู่ธุรกิจ “ติดฟิล์ม”  
คุณจันทร์เป็นลูกสาวคนสุดท้องจากพี่น้อง 8 คน เกิดในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน พ่อแม่ขายอาหารในโรงอาหารวิทยาลัยหอการค้าไทยสมัยนั้น ด้วยฐานะครอบครัวที่ไม่ค่อยดีนักในสมัยเด็ก คุณจันทร์นภาจึงไม่มีของใช้ใหม่ๆ เหมือนเพื่อนๆ  

“พอเปิดเทอมปุ๊บ เพื่อนๆ ก็จะได้เสื้อผ้าใหม่ กระเป๋าใหม่ แต่ของเราตกทอดมาจากพี่ หนังสือได้ใหม่หมดเพราะหลักสูตรเปลี่ยนบ่อย แต่กว่าจะได้ก็ทยอยมา เพราะต้องรอพ่อแม่มีเงินก่อน ช่วงปิดเทอม เพื่อนๆ ได้ไปเล่น แต่เราต้องช่วยแม่ขายของ มันเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกนิดๆ ว่า ทำไมเราจึงไม่มีอะไรเหมือนเพื่อน แต่ก็ไม่ถึงกับแย่” 

คุณจันทร์เล่าว่า หลังจากมานั่งทบทวนในวันนี้ เธอกลับมองว่าเป็นความโชคดีที่เธอได้ผ่านชีวิตจุดนั้นมา “มันทำให้เราไม่รู้สึกว่าเป็นความยากลำบากในการอดทนต่ออุปสรรค การต่อสู้กับปัญหา หรือการประหยัด เพราะเราได้ทำมาจนเรื่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาและกลายเป็นธรรมชาติของตัวเรา”
 
 
สมัยมัธยมศึกษาตอนปลาย คุณจันทร์ก็เหมือนกับเด็กสายวิทย์หลายคนที่ฝันอยากเป็นหมอ เธอลงทุนสอบเทียบและเอ็นทรานซ์ จนติดคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ ม. 5 ด้วยหวังว่าจะนำความรู้จากคณะเทคนิคการแพทย์ไปใช้สอบเข้าคณะแพทย์ศาสตร์ในปีถัดไป แต่เมื่อสอบไม่ติด เธอจึงต้องเรียนเทคนิคการแพทย์ ไปจนจบ

“หลังเรียนจบ ก็มาคิดว่า เรามีทางเลือกอยู่ 3 ทาง คือ เป็นนักเทคนิคการแพทย์ในโรงพยาบาล เรียนต่อเพื่อเป็นอาจารย์ หรือไม่ก็เป็นเซลล์ขายผลิตภัณฑ์ทางด้านแพทย์ ส่วนตัวคิดว่าการเป็นนักเทคนิคการแพทย์คงไม่เหมาะกับตัวเอง เพราะเป็นคนไม่ค่อยนิ่ง” 

คุณจันทร์ตัดสินใจใช้ความรู้ที่เรียนมา ทำงานเป็นเซลล์ขายเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับบริษัทฝรั่งนาน  7-8 ปี ความฝันที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจได้ผุดขึ้นมา 
“อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำสินค้าอะไร แต่ที่ไม่นำเข้าทางด้านเทคนิคการแพทย์ เพราะต้องใช้ทุนเยอะ ตอนนั้นก็คิดว่าน่าจะเป็นธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ที่พอมีกำลัง เพราะพื้นฐานครอบครัวเป็นคนกลาง-ล่าง จะทำธุรกิจก็ยากมาก เพราะไม่มีทุน บ้านยังไม่มีเลย” 

จากนั้น เธอเริ่มสร้างลู่ทางสู่ถนนสายธุรกิจให้กับตัวเอง ด้วยการไปเรียนต่อปริญญาโททางด้านการบริหารจัดการการตลาดภาคภาษาอังกฤษ (โปรแกรม MIM) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยปีสุดท้ายของการเรียน เธอและเพื่อนเลือกทำแผนธุรกิจของตลาด “ฟิล์มกรองแสง” ในประเทศไทย ส่งอาจารย์ บนเหตุผลว่า เป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำและเป็นธุรกิจที่พอหาข้อมูลจริงได้ โดยในเวลานั้น ไม่มีใครเคยคิดว่าแผนธุรกิจนี้จะต่อยอดมาเป็น “ธุรกิจร้อยล้าน” เช่นวันนี้

...และนี่ก็คือก้าวแรกของฟิล์ม “ลามิน่า” ในประเทศไทย
 
 
กว่าจะเป็น “ลามิน่า” ผู้ล้ม “ยักษ์” 
“พอดูแล้วว่าธุรกิจนี้พอมีทาง ก็คุยกับพี่สาว 2 คน เล่าให้ฟังว่า คิดจะทำธุรกิจนี้ มีแนวทางอย่างนี้ ตอนนั้นคิดว่า ถ้าไม่รอดก็แค่กลับไปเป็นพนักงาน พี่ๆ เห็นดีด้วยก็หุ้นกัน พี่สาว 2 คน รวมเงินได้ 6 แสนกว่าบาท ตัวเองขายรถได้ 2 แสนบาท ที่เหลือก็หาเพื่อนและเพื่อนพี่สาวมาจนครบ 100%” คุณจันทร์เล่า

บริษัท เทคโนเซล (เฟรย์) จำกัด ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2538 เพื่อเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์ ด้วยทุนเพียง 1 ล้านบาท ช่วงแรกออฟฟิศยังเป็นเพียงห้องแถวขนาด 1 ชั้น กับพนักงานอีก 8 คน ซึ่งคุณจันทร์บอกว่า เพราะบริษัทยังเล็ก และไม่มีโปรไฟล์ที่ดี จึงไม่มีสิทธิเลือกพนักงาน

“เราอยากได้คนดี คนเก่ง แต่ไม่มีสิทธิเลือก ฉะนั้นช่วงแรก เราได้แม่บ้านมาเป็นพนักงานแอดมิน ได้พนักงานส่งสินค้าที่เกเรมาจากที่อื่นก็ต้องรับ พนักงานเก็บเงินก็เป็นพนักงานเข็นน้ำอัดลม เซลล์ก็เป็นคนตกงาน” 

เดือนตุลาคม ปีเดียวกัน คุณจันทร์ตัดสินใจนำแผนธุรกิจที่ได้จากคลาสเรียนปริญญาโท บินไปประเทศอเมริกา เพื่อเข้าพบผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตฟิล์มยักษ์ใหญ่ในอเมริกา ซึ่งมีประสบการณ์ในการผลิตฟิล์มมานานกว่า 55 ปี และขอเป็นตัวแทนจำหน่ายฟิล์มกรองแสง “ลามิน่า” และฟิล์มนิรภัย “ลูมาร์” ในประเทศไทย

“ผู้บริหารฝรั่งก็คงงง เพราะเราไม่มีโปรไฟล์อะไรเลย นอกจากแผนธุรกิจ แต่มันก็เป็นความแปลก เขาบอกว่า ไม่เคยมีใครเอาแผนธุรกิจมาเสนอเขา ยิ่งคนไทย มีแต่มาต่อราคา มาเอาของถูก แต่เราบอกว่าของถูก (Economy grade) เราไม่ขาย จะขายแต่ของเกรดพรีเมี่ยม (Professional grade) เท่านั้น ความแปลกนี่เองที่ทำให้เขายอม” คุณจันทร์เล่าพร้อมกับหัวเราะให้ความกล้าของตัวเอง ซึ่งขณะนั้นเธอมีอายุเพียง 29 ปี 
 
 
สินค้าล็อตแรกที่นำเข้ามาขายมูลค่าราว 4 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยกว่าล้านบาท เงินส่วนหนึ่งมาจากเงินกู้ธนาคารซึ่งพี่สาวช่วยเอาบ้านและทาวน์เฮาส์ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันให้ อีกส่วนเป็นเงินกู้นอกระบบ 

“พอกิจการเริ่มโตขึ้น พี่สาวก็ใช้เครดิตตัวเองไปยืมเงินนอกระบบ ดอกเบี้ย 2 บาทต่อเดือนมาลงทุน พอจ่ายตรงเวลาเขาก็ลดดอกให้ เหลือ 1.5 บาทต่อเดือน ทำไปสักพักก็เริ่มได้เครดิตจากโรงงาน แล้วก็เล่นแชร์ไปด้วย ต้องหาเงินจากหลายทางมาก เพราะกู้เงินยากมาก การทำธุรกิจในช่วงแรกไม่ง่ายเลย”  

เพราะเป็นสินค้าพรีเมี่ยม คุณจันทร์จึงใช้ “คุณภาพ” เป็นจุดขายเพื่อสร้างความแตกต่าง และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ซึ่งขณะนั้นตลาดฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์ในเมืองไทย แม้แต่ “รายใหญ่” ในตลาด ก็ล้วนแต่เล่นเกมราคา  
“เป็นเวลาหลายสิบปีที่ผู้เล่นเดิมจะเน้นขายของถูก รวมถึงรายใหญ่ด้วย พวกเขานึกว่าเราก็คงมาไม้เดียวกัน ตีหัวเข้าบ้าน ส่วน “เจ้าตลาด” มองว่า เราสายป่านสั้นเดี๋ยวก็ไป ปรากฏว่าเรายังทำมาเรื่อยๆ” คุณจันทร์บอกว่า นั่นเป็นเพราะเธอเป็นคนที่เมื่อตั้งใจทำอะไรแล้วจะทำอย่างจริงจัง 

อีกความต่างจากตลาด คือ การซื้อสินค้าโดยตรงจากโรงงาน ทำให้บริษัทได้รับการสนับสนุนข้อมูลทางด้านเทคนิคจากทางโรงงาน ซึ่งสมัยก่อน แม้แต่ผู้นำตลาดก็ยังต้องซื้อผ่านยี่ปั๊ว จึงไม่เคยมีใครให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับฟิล์มกรองแสงแก่ผู้บริโภค 

นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการสนับสนุนด้านมาตรฐานในการติดตั้งฟิล์ม ทำให้ช่างติดตั้งฟิล์มของ “ลามิน่า” ทุกคนจึงติดตั้งได้อย่างมีมาตรฐาน คุณภาพการติดฟิล์มของรายอื่นจะขึ้นกับความชำนาญของช่างแต่ละคน        

...และความแตกต่างเหล่านี้เอง ทำให้ “ลามิน่า” เบียดขึ้นมาเป็น “เจ้าตลาด” ในเวลาไม่นานนัก 
 
 
ก้าวแห่งความ “มั่งคั่ง” และ “ยั่งยืน”
มีคำกล่าวว่า การเป็นแชมป์ว่ายากแล้ว แต่การรักษาแชมป์นั้นยากกว่า โดยในการรักษาตำแหน่ง “ผู้นำ” ในธุรกิจฟิล์มกรองแสงในประเทศไทย และสมญา “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” ของลามิน่า คุณจันทร์ลงความเห็นว่า “การจะรักษาตำแหน่งไว้ได้ยาวนานแค่ไหนก็อยู่ที่ตัวเรา คือเราต้องไม่ประมาท ต้องเดินหน้าตลอดเวลา”

ยิ่งการแข่งขันทางธุรกิจในยุคโลกาภิวัติรุนแรงมาก โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปและอเมริกา ทำให้ทุนข้ามชาติหันมามองเอเชียมากขึ้น ตลอดจนการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) ทำให้คุณจันทร์มองว่าต้องเพิ่มขีดความสามารถของบริษัทให้มากขึ้น เพราะต่อไปคงไม่อาจแข่งแค่ในประเทศได้แล้ว พร้อมกับเผยถึงแผนขยายธุรกิจสู่ตลาดอินโดจีน

“เราก็วางแผนจะหาพาร์ทเนอร์ที่มีความชำนาญตลาดในต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนทำธุรกิจมาก่อนก็ได้ ขอให้มีความรอบรู้ในตลาดนั้นๆ”

นอกเหนือจากการขยายพรมแดนตลาด คุณจันทร์ยังขยายวิสัยทัศน์ของบริษัท จากการเป็น “ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิล์มกรองแสง” มาสู่วิสัยทัศน์ในการเป็น “ผู้จัดจำหน่ายมืออาชีพ” บนหลักการเดิมคือ “เทคโนเซลล์” หรือก็คือ การขายสินค้าที่มีเทคโนโลยีที่เป็นที่ยอมรับและเป็นชั้นนำของโลก

นี่เป็นที่มาของการจัดจำหน่าย “ธูเร่” แบรนด์อุปกรณ์บรรทุกสัมภาระจากประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำของโลกในธุรกิจนี้ โดยตั้งเป้ายอดขายปีนี้ ซึ่งเป็นปีแรกอยู่ที่ 12 ล้านบาท  

สำหรับยอดขายฟิล์มปีที่ผ่านมา บริษัททำได้ 560 ล้านบาท ไม่ถึงเป้า 600 ล้านบาท เนื่องจากปัญหาน้ำท่วม ส่วนปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 640 ล้านบาท แต่คุณจันทร์เชื่อมั่นว่า หากเหตุการณ์บ้านเมืองและภัยพิบัติไม่รุนแรง ยอดขายจะทะลุเป้าไปถึง 700 ล้านบาท

นอกจากนี้ ความสำเร็จยังอาจวัดได้จากทุนจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้น 1 ล้านบาทเมื่อ 18 ปีก่อน เป็น 5 ล้านบาทเมื่อไม่นานมานี้ จากพนักงานเพียง 8 คนในวันแรก มาเป็น 86 คนในวันนี้ หรือจากขนาดออฟฟิศที่เคยมีพื้นที่แค่ตึกแถว 1 ชั้น ขยายสู่อาคารใหญ่ริมถนนตลิ่งชัน-บางบัวทอง พื้นที่ราว 2,000 ตร.ม. ซึ่งมีทั้งคลังสินค้า และลานกีฬา เป็นของตัวเอง 

คุณจันทร์เปิดเผยเคล็ดไม่ลับแห่งความสำเร็จว่า “มันมีหลายอย่าง ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ความมุ่งมั่น การพัฒนาตัวเอง การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการไม่เอาเปรียบคน นอกจากนี้ยังต้องมีคุณธรรมประจำใจอย่าง ความกตัญญูรู้คุณ ความซื่อสัตย์สุจริต และความรับผิดชอบ เป็นพื้นฐาน สุดท้าย เรายังยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย” 

ไม่เพียงมุ่งมั่นในธุรกิจติดฟิล์มให้กับรถ คุณจันทร์ยังมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะ “ติดฟิล์มให้โลก” ผ่านหลากหลายโครงการเพื่อสังคม โดยเฉพาะทางด้านสิ่งแวดล้อมและการศึกษา ซึ่งเธอให้ความสำคัญและทำมาอย่างต่อเนื่อง  

แม้จะห่างวัยเกษียณอยู่หลายปี แต่ในวัย 47 ปี คุณจันทร์เริ่มตระหนักถึงการวางเป้าหมายระยะยาวเพื่อนำไปสู่การสร้างระบบงานที่ดี ที่จะทำให้การบริหารงานไม่ต้องพึ่งกับตัวบุคคลและมีมาตรฐานทัดเทียมสากล พร้อมกับการมองหาบุคคลที่จะมาสืบทอดทางธุรกิจ เพื่อนำพาธุรกิจไปสู่ความเจริญรุ่งเรื่องอย่างมั่งคั่งและยั่งยืน และสืบสานกิจกรรมตอบแทนสังคมให้เดินหน้าไปอย่างยาวนาน  

ชีวิตในฝันหลังวัยเกษียณ 
“ตอนเริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ คิดว่าอยากเกษียณตอนอายุ 45 ปี แต่ตอนนี้ถ้าเกษียณตอน 50 ปีก็ยังถือว่าเร็วมาก ก็ขยับไปสัก 55 ปี หลังเกษียณก็อยากทำงานเล็กๆ น้อยๆ จะได้มีเวลาดูแลคนในครอบครัว ถ้าใครให้ไปบรรยายที่ไหนก็จะไปเพื่อเป็นวิทยาทาน และก็ทำกิจกรรมหลายอย่างที่ตัวเองอยากทำแต่ยังไม่มีเวลา” 

กิจกรรมที่สาวแกร่งอย่างคุณจันทร์หมายถึง ได้แก่ ท่องเที่ยว เล่นกีฬา เล่นกีตาร์ เรียนทำอาหาร และการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ที่โปรดปราน เป็นต้น

นับเป็นเวลาร่วม 18 ปีตั้งแต่เริ่มสร้างธุรกิจส่วนตัว คุณจันทร์ยอมรับว่า สมัยก่อน ความต้องการพื้นฐานของเธอคือ การมีเงินทองเพื่อจะได้ดูแลความจำเป็นขั้นพื้นฐานให้กับตัวเองและคนที่รักได้ แต่เมื่อผ่านชีวิตมาจนวันนี้ เธอประจักษ์แล้วว่า เงินไม่ได้ตอบโจทย์ความสุขในชีวิตเสมอไป
 
 
“ความสุขในชีวิตคือ ได้ทำในสิ่งที่รัก ได้อยู่กับคนที่รัก ได้มีสุขภาพร่างกายที่ดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีเงินทองใช้จ่ายตามสมควร แค่พอดูแลบุคคลในครอบครัวได้อย่างไม่ลำบาก นี่เป็นความสุขพื้นฐาน แต่ก็ถือเป็นความสุขที่สมบูรณ์แบบในชีวิตมนุษย์แล้ว” 
แม่ทัพหญิงแห่ง “ลามิน่า” ทิ้งท้าย
 

LastUpdate 10/03/2557 17:02:19 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 11:44 am