เมื่อวิศวกรหันมาจับงาน Exhibition


เมื่อวิศวกรหันมาจับงาน Exhibition

การให้บริการที่เป็นเลิศ เหนือความคาดหมายของลูกค้า คือ คำมั่นสัญญาจากเรา” 
 

ต้องยอมรับว่า เป็นวลีเด็ดที่สามารถสร้างความประทับใจ ความมั่นใจเบื้องต้นให้แก่ผู้อ่านไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ที่มาใช้บริการจาก บริษัท แอ็ดเด็กซ์ จำกัด  (ADDEX CO.,LTD.) ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของงานแสดงสินค้าและนิทรรศการมากมาย เติบโตจากบริษัทเล็ก ๆ ที่มีพนักงานเพียง 4-5 คนกระทั่งปัจจุบันมีมากกว่า 40 คน และทำรายได้นับ 100 ล้านบาทภายใต้ผู้กุมบังเหียนใหญ่ “คุณทัศพันธุ์ อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา”  วิศวกรที่หันมาเอาดีทางด้านรับจัดแสดงสินค้าและนิทรรศการ(Exhibition)อย่างครบวงจร   

คุณทัศพันธุ์ อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา” หรือ “คุณปริ๊นซ์” หนุ่มใหญ่วัย 43 ปี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ็ดเด็กซ์ จำกัด และพ่วงด้วยตำแหน่งประธานอนุกรรมการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ สมาคมการแสดงสินค้า(ไทย) และกรรมการสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมลาดกระบัง คุณปริ๊นซ์ไม่ได้เปิดตัวมากนัก ชอบเป็นผู้อยู่เบื้องหลังมากกว่า จึงไม่ค่อยได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ นับเป็นความโชคดีของ เอซีนิวส์ ที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับเขาในครั้งนี้  เขาเป็นหนุ่มไฟแรงที่มีส่วนสร้างสรรค์งาน Exhibition มากมายให้เกิดขึ้นได้ โดยอาศัยการผสมผสานประสบการณ์จากการทำงานด้านวิศวกรรมในไซต์งานก่อสร้างและประสบการณ์จัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ

 
วิศวกรจากรั้วสจล.ลุยงานก่อสร้างก่อนหันจับงาน Exhibition

คุณทัศพันธุ์เป็นศิษย์เก่าจากรั้วสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จบระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้ากำลัง 2536 รุ่นที่ 28  และศึกษาต่อปริญญาโทในปี 2550 ด้านบริหารธุรกิจ หลักสูตรผู้บริหารที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
 
คุณปริ๊นซ์เล่าให้ฟังว่าหลังเรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์ได้ทำงานเลย โดยอยู่ที่ไซด์งานก่อสร้าง และทำงานด้านคอนซัลท์ โดยไซต์งานสุดท้ายที่ทำได้แก่ ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจภาวะฟองสบู่แตกในปี 2540  ซึ่งเป็นช่วงที่งานแวดวงก่อสร้างซบเซามาก จึงลาออกจากงานและขายทุกอย่างที่มีอยู่เพื่อเดินทางไปนิวซีแลนด์ มุ่งศึกษาภาษาอังกฤษเพิ่มเติม เพราะคิดว่า อายุ 28 ปีแล้ว แต่ความรู้ด้านภาษาอังกฤษยังไม่ดีพอและต่อไปจะทำงานลำบาก โดยใช้เวลา 3 เดือน   

จากนั้นราวปี 2543 ได้กลับเข้าทำงานใหม่ที่บริษัท NCC  หรือบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ตำแหน่งผู้จัดการด้านไฟฟ้า ดูแลรับผิดชอบงานไฟฟ้า 
หลังการทำงานเป็นเวลา 6 ปี ทำให้คุณทัศพันธุ์ได้มีโอกาสรู้จักลูกค้านักธุรกิจมากหน้าหลายตาและเรียนรู้งานด้านการจัดแสดงสินค้า หรือ Exhibition เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้แรงหนุนจากเหล่าลูกค้าให้เปิดบริษัททำเองเพื่อความก้าวหน้า โดยพวกเขาพร้อมจะให้ความช่วยเหลือป้อนงานให้ทำ  ซึ่งเป็นแนวคิดที่โดนใจ ตรงกับความใฝ่ฝันของเขาพอดี ที่เคยฝันไว้ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ว่า สักวันหนึ่งจะมีบริษัทเป็นของตัวเอง 

“การได้มาทำงานร่วมกับ NCC  ทำให้มองเห็นช่องทางเพิ่มขึ้นว่า การทำงานด้านจัดแสดงสินค้าง่ายกว่างานก่อสร้างเดิม ๆ มาก และมีโอกาสได้เงินเร็วกว่า งานเดิมที่ทำเน้นไปทางด้านงานวิศกรรมมากกว่า เช่น งานก่อสร้าง งานติดตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งต้องใช้เวลาทำงานนานถึง 2 ปีกว่าจะเสร็จ แต่งาน  Exhibition ใช้เวลาเพียง 4-5 วันเท่านั้น เราไม่นับช่วงเตรียมงาน เพราะอาจจะ 1-2 เดือนหรือ 2 อาทิตย์แต่ก็คุ้มค่า 

ในช่วงปลายปี 2548  จึงได้เดินหน้าทำตามความฝันด้วยการเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง โดยใช้ชื่อว่า “บริษัท แอ็ดเด็กซ์ จำกัด” รับบริการออกแบบบูธให้เช่าเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในงานมหกรรมต่างๆ  เป็นการผสมผสานงานด้านวิศวกรรมเข้ากับงานจัดแสดงสินค้าหรือนิทรรศกาลต่าง ๆ   เปิดทำการในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548”  

 
ธุรกิจโตต่อเนื่อง ทำรายได้จาก 15 ล้านบาทเข้าหลัก 100 ล้านบาท
 
คุณปริ๊นซ์เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจว่า เริ่มทำงานแรกในช่วงเดือนมกราคม 2549  เป็นงานวางระบบไฟฟ้าให้กับ บริษัท เวิลด์แฟร์ จำกัด ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา  3  ฮอลล์ ถือเป็นงานแรกที่ทำออกมาในนามของ แอ็ดเด็กซ์ และเป็นบุญคุณอย่างล้นเหลือจาก บริษัท เวิล์ดแฟร์  จำกัด ที่ให้โอกาสเขาได้ทำงาน ทั้งที่เป็นบริษัทเพิ่งเปิดใหม่และให้ความเชื่อมั่นในตัวเขาแม้จะเสี่ยง เพราะยังมีอุปกรณ์ไม่ครบถ้วน อย่างไรก็ตามทุกอย่างก็สามารถผ่านมาได้ด้วยดีและทางแอ็ดเด็กซ์ ได้ร่วมทำงานกับทาง เวิลด์แฟร์ มาตลอด ก่อนจะมีลูกค้าตามมาอีกหลายราย

ตอนออกมาเปิดบริษัทเหมือนเป็นการจับเสือมือเปล่า เพราะแทบไม่มีอะไรเลย เป็นการลงแรง ลงความคิด แต่ไปไม่ได้เพราะเรามีเงินทุนไม่มากนัก เนื่องจากเป็นลูกจ้างแต่ก็มีคนลาออกมาร่วมเสี่ยงกับเราด้วย ทำงานได้โดยอาศัยเครดิตจากเป็นคอนซัลท์มา ใช้วิธีซื้อของมาก่อนและจ่ายทีหลัง ขณะที่อุปกรณ์บางอย่างก็อาศัยหยิบยืมจากเพื่อน ๆ ที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน  แม้แต่ค่าเช่าสำนักงานก็ใช้เครดิต  จ่ายเมื่องานเสร็จ แต่เมื่องานแรกจบได้กำไร  จึงเริ่มลงทุนซื้อของแทนการเช่าและทยอยซื้อเพิ่มหลังจากผลการดำเนินงานของปีแรกมีกำไร”   


จากวันนั้นจนถึงวันนี้กล่าวได้ว่า “แอ็ดเด็กซ์”   มีอายุ 9 ปีแล้วและเจริญเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง บริษัทพัฒนาธุรกิจจนกลายเป็นบริษัทที่บริการทำทุกอย่างครบวงจร เสมือนเป็น “One Stop Service”  ซึ่งหมายถึงการเป็นบริษัทรับจัดงานอีเว้นท์ จัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ ออกแบบบูธ ออกแบบงานทั้งภายในและภายนอกอาคารและเช่าอุปกรณ์เครื่องมือครบวงจร 

ในขณะที่มีลูกค้าให้ความไว้เนื้อเชื่อใจให้ทำงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยลูกค้าสำคัญ ๆนอกเหนือจากเวิลด์ แฟร์ ได้แก่  กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย( ททท.)  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจการถ่ายภาพสยามพารากอนและบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด เป็นต้น

“หลังจากงานเฟอร์นิเจอร์ บริษัท ได้งานเพิ่มขึ้น ทั้งจาก ททท.  สยามพารากอน   ได้ทำบูธ พอได้ทำบูทเราก็กลายเป็น One Stop Service ทำทุกอย่างครบวงจรของงานออร์กาไนซ์....เติบโตมาเรื่อย ๆ จนต้องสร้างโกดังและบ้านพักคนงาน เพราะจากวันแรกมีพนักงาน 7 คนรวมตัวผมด้วย ปัจจุบันพนักงานเพิ่มเป็นมากกว่า 70 ชีวิต ทั้งที่เป็นพนักงานประจำราว 40 คนและลูกจ้างรายวันอีกประมาณ 30 คน ”

ในส่วนของรายได้มีการเติบโตตามงานที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยคุณปริ๊นซ์เล่าว่า จากยอดรายได้ปีแรกที่ตั้งเป้าไว้ 5 ล้านบาทในการทำระบบไฟฟ้า บูธและงานกราฟฟิกดีไซน์ โดยมีคนทำงานเพียง  4-5 คนกลับทำรายได้สูงเกินคาดถึง 15 ล้านบาท หลังจากนั้นในปีถัดมารายได้ขยับขึ้นต่อเนื่องเป็น 20 ล้านบาท,  30 ล้านบาท, 37 ล้านบาท,70 ล้านบาทและคาดว่าทะลุ 100 ล้านบาทในปี 2557 
 

 
มองธุรกิจ Exhibition ยังโต  ไทยเด่นสุดในAEC แต่มีจุดอ่อนด้านภาษา
 
 คุณปริ๊นซ์ยังมองแนวโน้มธุรกิจด้านจัดแสดงสินค้าหรือ Exhibition ยังคงสดใสต่อไปได้อีก โดยชี้ว่า การจัด Exhibition เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับเทรนด์ในปัจจุบัน เพราะบริษัทห้างร้านต่าง ๆต้องมีนโยบายด้านการตลาด ซึ่งพื้นที่ๆจะทำ นอกจากโฆษณาออกสื่อแล้ว ยังออกงาน Exhibition เพราะทำให้เจอเป้าหมายที่มาในงานได้ตรงกลุ่ม มาเดินดูสินค้า แล้วแต่ว่าจะชอบแบรนด์ไหน และเทรนด์นี้ทั่วโลกกำลังตื่นตัวมาก และเชื่อว่าธุรกิจ Exhibition ในไทยจะต้องเติบโตแน่นอน จากมูลค่าตลาดรวมประมาณ 8 หมื่นล้านบาทไปอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี

“เวลานี้ผมเป็นกรรมการสมาคมการแสดงสินค้า(ไทย) ดูแลในส่วนมาร์เก็ตติ้ง จึงต้องรีบทำให้เห็นว่าทั่วโลกเขากระตือรือร้นกับการให้ความสำคัญการแสดง Exhibition  แม้ในไทยเองจะเห็นได้ว่ามีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นของสถานที่จัดงานแต่ละแห่ง เช่น ศูนย์ประชุมไบเทค, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยไบเทคมี 6 ฮอลล์และกำลังสร้าง 4 ฮอลล์ ปลายปี 2559  เขาจะมี 10 ฮอลล์ เป็นฮอลล์ที่ยิ่งใหญ่แม้พื้นที่จะน้อยกว่าอิมแพ็ค เมืองทองธานี ถ้างานโชว์ติดตลาดก็จะขายตัวเองได้ ส่วนอิมแพ็ค เมืองทองธานีเองก็ไม่หยุดนิ่งมีการสร้างต่อเนื่องเช่นกัน  เพราะ Exhibition Hall  ที่สมบูรณ์แบบระดับโลกต้องมีระบบสาธารณูปโภครองรับพร้อม ทั้งห้องจัดแสดงสินค้า ห้องประชุม สัมมนา โรงแรม มีที่จอดรถให้เหมาะสม” 

คุณปริ๊นซ์กล่าวต่อว่า นอกจากสถานที่จัดงานมีการเคลื่อนไหวขยายพื้นที่กันแล้ว ในส่วนของผู้จัดงานมีหลายบริษัทที่รับงานเต็มมือเช่นกัน  สำหรับแอ็ดเด็กซ์เองก็เตรียมจะเปิดบริษัทออร์แกไนเซอร์เป็นของตัวเองเพื่อบริการจัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ เพิ่มเพื่อทำงานประสานกัน  โดยมีงานรองรับแล้วในอนาคตซึ่งจะร่วมมือกับพันธมิตรไทยและความร่วมมือกับต่างประเทศนำเสนอความแปลกใหม่ให้คนไทยได้ชม เช่น  งานโชว์ในต่างประเทศที่อยากจะมาจัดโชว์ในไทย โชว์แปลก ๆ ที่คนไทยยังไม่เคยเห็น ซึ่งอาจจัดที่ไบเทคหรือศูนย์ฯสิริกิติ์
 
นอกจากนี้ในโอกาสที่กำลังก้าวสู่ AEC ในปี 2558 (เลื่อนจาก 1 ม.ค.เป็น 31 ธ.ค. 2558 ) ยังเป็นโอกาสอันดีของธุรกิจจัดงาน Exhibition ของไทย โดยเขามองว่า ในอาเซียนไม่นับสิงคโปร์ ไทยดีที่สุดทั้งในเรื่องของทำเลที่ตั้ง สถานที่จัดงาน ความพร้อมและความได้เปรียบในแง่ของศักยภาพ ทีมงานและความเป็นมืออาชีพ รวมถึงการขนส่งสินค้า แต่สิ่งที่ไทยด้อยกว่า คือ ด้านสื่อสารหรือภาษา เพราะคนไทยยังไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้เหมือนเพื่อนบ้าน 
 
สำหรับงานใหญ่ระดับโลกในปี 2558 นี้มีหลายงาน เช่น  เวิลด์เอ็กโปร์ ที่มิลานของอิตาลี ซึ่งจัดทุก 5 ปี  ปี 2556  จัดที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศไทยไปประมูลงานได้ปี 2563  นอกจากนี้ทางสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย)จะลงนามบันทึกข้อตกลงกับ AEC EXPO ซึ่งร่วมกันทำได้ ส่วนงานใหญ่ในไทยเช่น บีโอไอแฟร์ หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  
 

ประทับใจทุกงานที่ทำ แต่ที่สุดแห่งความภูมิใจ “งานเทิดพระเกียรติในหลวง”
 
คุณปริ๊นซ์มองในแง่การตลาดว่างาน Exhibition สามารถทำรายได้สูงกว่าและรวดเร็ว  โดยเฉพาะการเป็นเจ้าของกิจการเอง แต่ต้องใส่ใจทุกงานที่ทำ เมื่อถามถึงงานที่ประทับใจมากที่สุด คำตอบจึงอยู่ที่ “ประทับใจทุกงาน” เพราะเป็นที่มาของการต่อยอดมาเรื่อย ๆ  

“แต่ถ้าให้เลือกหนึ่งในนั้น ต้องยกให้เป็นงานแรกที่ทำให้กับ เวิด์ลแฟร์  เพราะนั่นหมายถึง จุดที่เริ่มจากศูนย์ มีเพียงความไว้วางใจหรือเครดิต ซึ่งทำให้บริษัทแอ็ดเด็กซ์ได้รับโอกาสที่ดี

แต่สุดยอดแห่งความภูมิใจได้แก่ “งานเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ที่จัดในเดือนธันวาคมปี 2556  ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยจัดร่วมกับทางสมาชิกวุฒิสภาและกระทรวงพลังงาน เป็นงานที่ต้องการสื่อให้ประชาชนเห็นว่า โลกเราใช้พลังงานกันมหาศาล แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงมีสายพระเนตรกว้างไกลให้นำพลังงานทดแทนมาใช้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม น้ำ แอททานอลและขยะ ถือเป็นงานยากที่สุด แต่ก็ภูมิใจมาก”

ความสำเร็จมาจาก “ซื้อใจ” ดูแลลูกน้องอย่างดี ให้โอกาสโตไปด้วยกัน..
 
อย่างไรก็ดีความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากมีเพียงแม่ทัพตามลำพัง  ทว่าจำเป็นต้องพึ่งองคาพยพอื่น ๆ ภายในบริษัทด้วย ซึ่งหมายถึงเหล่าพนักงานทั้งหมดที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานไปสู่เป้าหมายคือความสำเร็จลุล่วง 

ในฐานะผู้กุมบังเหียน เขาจึงต้องมีเทคนิคการบริหารทั้งเรื่องงานและบุคลากรที่ดีด้วย ซึ่งได้เปิดใจสไตล์บริหารของตนเองว่า ใช้กลยุทธ์การบริหาร.....แบบพี่น้อง มีอะไรก็มาคุยกัน 

“ในการทำงานผมให้คำมั่นสัญญาไว้ว่า ข้อแรก “ช่วยกันทำงาน” ถ้ารวย รวย ด้วยกัน เป็นหุ้นส่วน ปีแรกโบนัส 3 เดือน ซื้อใจกันด้วย เพราะบริษัทเพิ่งเปิด  ข้อสอง “สร้างความเชื่อถือ” อยู่กับเรา อยู่ได้ตลอด เดือดร้อนอะไรไม่ว่าเรื่องส่วนตัว เกี่ยวกับบริษัทหรือตัวผมเอง ช่วยเหลือหมด ลูกน้องเป็นหนี้บัตรเครดิตก็ไปเคลียร์ให้หมด แต่ขอคำสัญญาว่าจะไม่ไปเป็นหนี้อีก และให้ผ่อนแบบไม่มีดอกเบี้ย บางรายยืมเงิน แต่หลัง ๆ ไม่ได้แล้วเพราะเคยมีคนทำเสียไว้ยืมแล้วหนี  ข้อสาม “ให้ความเป็นกันเอง” จริง ๆ ผมชอบดื่มชอบกิน เมื่อก่อนเลี้ยงกันบ่อยมาก อย่างปีแรกที่เราได้กำไรเราขึ้นเครื่องบินไปเที่ยว พวกช่างก็ดีใจใหญ่ เอาเข้าจริง ๆ เมาเครื่องไม่ได้เที่ยว ไม่สนุก จากนั้นก็นั่งรถบัสเที่ยวสนุกกว่า” (เขาเล่าพร้อมหัวเราะ)

แต่แม้จะประคับประคองบริษัทให้อยู่รอดปลอดภัยมาได้หลายปี คุณปริ๊นซ์เปิดใจว่า เวลานี้ค่อนข้างเครียดอยู่กับ กับภาระหน้าที่ที่จะต้องนำพาบริษัทให้ก้าวต่อไปในอนาคต เดิมเคยตั้งตัวเลขไว้ว่า เมื่ออายุ ได้ 45 ปี บริษัทที่ทำคงจะอยู่ตัวแล้ว สามารถคุมงานอยู่ห่าง ๆได้ โดยอาจจะเข้าบริษัทเพื่อมาเซ็นเช็ค เซ็นเอกสาร เท่านั้น แต่เวลานี้วัยเข้า 43 ปีแล้ว เหลืออีก 2 ปีจะเข้า 45 ปี แต่น้อง ๆ ที่จะฝากผีฝากไข้เอาไว้ยังไม่โต ยังติดทำตามคำสั่ง  ยังไม่กว้างพอ  ซึ่งการทำงานไม่ได้ทำแค่เอาผลกำไร แต่ต้องมองอนาคตด้วย ไม่ว่าจะเป็นทักษะการเสนอราคาเพื่อให้ได้งานต่อเนื่อง หรือการเชื่อมโยงธุรกิจหรือต่อยอดธุรกิจกับเพื่อน ๆ เป็นต้น

หากถามว่า คิดวางมือเมื่ออายุ 45 เร็วไปไหม  เขาบอกว่า เคยคุยกับเพื่อน ๆ ว่า ถ้าหยุดเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่ยอดรายได้ 30 ล้านบาท ก็สามารถอยู่ได้อย่างสบาย ๆ มีผลกำไรเป็นที่น่าพอใจ แต่หากถึงจุดที่รายได้ 100 ล้านบาท จะมีภาระเพิ่มตามมาทั้งต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานเพิ่มเป็น 2 เท่า อีกทั้งต้องเพิ่มจำนวนพนักงาน เพิ่มตำแหน่ง ซึ่งเป็นภาระรับผิดชอบที่หนักอึ้งพอสมควร

“ลูกน้องที่ผมอยากได้ จะต้องเปิดใจทำเพื่อองค์กร เราต้องทำให้เขารู้สึกว่าอยากจะเป็นเรา เขาอยู่กับเราเขามีการเติบโตแน่ ทั้งหน้าที่การงาน เงินเดือน ไม่น้อยหน้ากว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เรียนมา ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ก็ไม่เกิดความยั่งยืน ต้องรู้ว่าพนักงานเงินเดือนทุกคนอยากได้อะไร ประกันสังคม ความรู้เพิ่มเติม เอาใจเขามาใส่ใจเรา มีปีหนึ่งงานหนักมากแต่กำไรไม่ถึงเป้าแต่เราต้องจ่ายโบนัส 3 เดือน ตั้งแต่ปีแรกจนเมื่อ 3 ปีที่แล้วก็ยังจ่าย บางปีเศรษฐกิจไม่ดีก็ต้องจ่าย เพราะโทษเขาไม่ได้ ไม่ใช่ความผิดของเขา เป็นความผิดอะไรไม่รู้ที่เราได้งานน้อยลง  แม้แต่เซลล์เราให้เขาหามา 100 ล้านบาท เขาหามาไม่ถึงเราเองหาได้ไหม มีปัญหาน้ำท่วม ความไม่สงบทางการเมือง ไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เขาคาดหวังปลายปี...เวลานี้เราขยายกิจการเพื่อรองรับ AEC....เพราะถ้างานและโอกาสเข้ามาจะขยายไม่ทัน ก็ต้องขยายรอไว้ก่อน  พนักงานที่อยู่กับเรา ก็จะได้ปรับตำแหน่งให้ เราต้องหยิบยื่นให้เขา แม้เขายังไม่แน่ใจ แต่ไม่อยากให้คิดอย่างนั้น ต้องให้เขาลองทำ 

ในการทำงานผมพยายามบอกลูกน้องว่า .ผมอาจจะดูดุแต่จริง ๆ เป็นกุศโลบายบางอย่างเพื่อให้เขาได้โต คือ ทำอย่างไรก็ได้ ตัดสินใจได้เลย ถ้าไม่มั่นใจให้ถาม แต่คุณจบเองให้ได้ สุดท้ายจบงานแล้วคุยก็ได้ เช่น ถ้าตัดสินใจแล้วมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไม่กี่พันบาทไม่น่าจะถามเมื่อแลกกับโปรเจคเป็นล้าน นอกจากค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นแสนนั่นละสมควรถาม สอนให้เขารู้จักตัดสินใจ มีความมั่นใจ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยที่ทุกอย่างไม่ต้องมาถามเจ้านายหมด ก็จะไม่โต” 

 
เน้นจัดกิจกรรมเพื่อสังคมมากกว่าทำตลาด
 
 คุณปริ๊นซ์เล่าว่า ที่ผ่านมาทางเแอ็ดเด็กซ์ไม่ได้ประชาสัมพันธ์บริษัทมากนัก แม้เวลานี้มีช่องทางโซเชี่ยลมีเดียเพิ่มมาก็ตาม ซึ่งความจริงแล้วหากรู้จักนำมาใช้จะมีประโยชน์มหาศาล แต่ด้วยกำลังคนที่มีอยู่ทำให้ยังไม่มีการสื่อสารด้านนี้อย่างจริงจัง ทั้งเว็บไซต์และเฟสบุ๊ก แต่งานกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ทำเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น การนำสิ่งของไปบริจาคให้เด็กกำพร้า เด็กพิการ แต่ในช่วง 2 ปีมานี้ได้จัดทอดผ้าป่าให้วัดแห่งหนึ่งของจ.สุรินทร์ เพราะช่างที่ทำงานกับแอ็ดเด็กซ์หลายคน ราว 40-50 คนมาจากท้องถิ่นดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นที่ยากจนและวัดอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคตามฐานะ 

“ทำต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว รู้สึกประทับใจมาก เพราะพ่อแม่ ญาติพี่น้องของเขาขอบคุณเราใหญ่เลย ที่ช่วยให้ลูกหลานของพวกเขามีงานทำ ไม่ต้องไปติดยาเสพติด เพราะมาทำกันตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นจนโตเป็นผู้ใหญ่  เงินที่มีผู้ทำบุญมาก็เอาไปถวายให้กับทางวัดจริง ๆ ตั้งใจจะทำทุกปีจนกว่าวัดจะพัฒนาเจริญขึ้น   ถือเป็นกิจกรรมที่ดี น้อง ๆ ได้กลับบ้านเกิดไปเยี่ยมบุพการีและยังมีกิจกรรมที่ได้สนุกสนานร่วมกันกับชุมชนของพวกเขาด้วย”
 
 
สุดท้ายต้องดูแลรักษาสุขภาพเพื่อให้พร้อมรับมือกับงาน
 
แม้จะมีธุรกิจ มีงาน มีเงิน ครบครัน เขายอมรับว่า “การดูแลสุขภาพ” เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย เพราะหากไร้ซึ่งสุขภาพที่ดีแล้วไซร้ ทุกอย่างคงต้องจบลง ทรัพย์ที่หามาได้คงต้องหมดลงไปกับการรักษาร่างกาย 
ดังนั้นเขาจึงเน้นที่การพักผ่อน การออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ ดื่มให้น้อยลงและยังรับประทานวิตามินเสริมด้วย
“การดูแลตัวเอง มีทั้งดูแลและทำร้าย เพราะเป็นคนชอบดื่มเป็นประจำ รู้ว่ามันไม่ดีก็หาวิธีออกกำลังกายหรือหาพวกวิตามินเสริม อะไรที่เขาบอกว่าดีจะทำ ส่วนกีฬาชอบไปตีกอล์ฟ จริง ๆ ตั้งแต่เด็กผมเล่นกีฬาทุกประเภท สมัยเด็กเป็นนักกีฬาแบดมินตัน นักกีฬาเทนนิส ฟุตบอล ปัจจุบันตีกอล์ฟและเล่นฟิตเนส”

โดยภาพรวมแล้วกล่าวได้ว่า คุณปริ๊นซ์เป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จในการทำงานที่น่าเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักธุรกิจรุ่นใหม่  ที่นอกจากมีวิสัยทัศน์กว้างไกล รู้ทันเทรนด์โลกแล้ว ยังรู้จักผสมผสานความรู้และประสบการณ์ด้านวิศวกรรมมาใช้ในงานด้านExhibitio อีกทั้งยังฉลาดในการบริหารบุคลากรภายในด้วยความใส่ใจ

คงต้องจับตาดูกันว่า “แอ็ดเด็กซ์”  ภายใต้หัวเรือใหญ่อย่าง คุณทัศพันธุ์  อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ็ดเด็กซ์ จำกัด จะรุ่งเรืองสดใสขนาดไหน กับคำมั่นสัญญา “ช่วยกันทำงาน ถ้ารวยก็รวยด้วยกัน”

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ม.ค. 2558 เวลา : 19:14:42
กลับหน้าข่าวเด่น
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 1:54 am