ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย






 
“THE DISTANCE BETWEEN YOUR DREAMS AND REALITY IS CALLED ACTION”
 
เป็นประโยคที่เหมาะกับ ดร.สมพร สืบถวิลกุล เป็นที่สุด เพราะความมุ่งมั่นต่อเป้าหมาย เพื่อสร้างฝันให้เป็นจริงได้นั้น ดร.สมพร มีและบอกไว้กับตัวเองในทุกก้าวย่างของจังหวะชีวิต
 
 
 
“ผมเป็นมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ ถ้าเราจะทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุด ต้องสามารถไปถึงตำแหน่งสูงสุดได้” นั่นคือความสำเร็จต่อเป้าหมายอันเป็นรูปธรรมกับตำแหน่งปัจจุบัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่รั้งตำแหน่งมาแล้วกว่า 9 ปี
 


จากเด็กบ้านนอกอำเภอทุ่งสง

บนเส้นทางของความสำเร็จของ “เด็กบ้านนอก” ที่ ดร.สมพร เรียกขานตนเอง เริ่มต้นจากพื้นเพคนทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วยความเป็นคนขยันทำมาหากินของคุณพ่อชาวจีนโพ้นทะเล และคุณแม่ ครึ่งไทยและจีน ที่ช่วยกันสร้างเนื้อสร้างตัวจากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ จนสร้างฐานะขึ้นมาได้ระดับหนึ่งถึงขั้นที่สามารถส่งเสียลูกๆ จำนวน  6 คนเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนได้ทั้งหมด
 
“ผมมีพี่น้อง 6 คน เป็นชาย 4 หญิง2 ผมเป็นคนที่ห้า เป็นลูกชายคนที่สาม คุณพ่อสนับสนุนเรื่องการเรียนอย่างมาก ตอนผมจบป.4 ก็ขอพ่อว่า ผมจะไปสอบเข้าโรงเรียนรัฐบาล ผมก็ไปสอบเข้าโรงเรียนเทศบาลวัดท่าแพซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงที่สุดในอำเภอ ตอนนั้นเรียนเก่ง สอบได้ที่หนึ่ง”
 
 
นั่นคือเป้าหมายและความมุ่งมั่นแรกๆ ของชีวิต และ ดร.สมพรก็ทำได้สำเร็จจนสร้างความปลาบปลื้มใจและภูมิใจให้กับตัวเองและครอบครัวกระทั่งจบป.7 ทางบ้านส่งเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ
 
“ตอนมาเรียนที่กรุงเทพฯ ก็ไม่รู้จักอะไรมากมาย เป็นเด็กบ้านนอกแท้ๆ จากเด็กนักเรียนเทศบาลที่ใส่แต่กางเกงสีกากีมาตลอด พอมากรุงเทพฯ เห็นเด็กนักเรียนใส่กางเกงสีดำ ก็รู้สึกสวย เท่ห์ขณะที่พี่ๆ ไปเรียนที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ โรงเรียนวัดราชาธิวาส แต่ผมดื้อ ไม่เอา โรงเรียนต้องไม่มีคำว่าวัดนำหน้า และต้องไม่มีกางเกงสีกากี เลยกลายเป็นว่าผมได้ไปเรียนที่ “โรงเรียนนนทรีวิทยา”ได้สวมกางเกงนักเรียนสีดำ
 
ครั้นเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 5 ก็ต้องสอบเอนทรานซ์ เพราะความที่เป็นคนเรียนเก่ง ได้ที่หนึ่ง ที่สองตลอด ดร.สมพรเลือกคณะแพทย์เป็นหลักตามด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์  พลาดเป้าหมายไปเล็กน้อย เพราะ ดร.สมพร มีคะแนนเพียงพอที่จะเรียนต่อในคณะวิศวะฯ มหาวิทยาลัยสงขลาราชนครินทร์ เท่านั้น
 
 
 
การตัดสินใจครั้งสำคัญในการเลือกเส้นทางเรียน

“ช่วงที่กำลังเอ็นทรานซ์ ตอนนั้นมีโอกาสไปสอบได้หลายที่ ผมเห็นพวกนักเรียนนายร้อยแต่งตัวเท่ห์ เราก็อยากเรียนที่โรงเรียนนายร้อยบ้าง แต่ไปสมัครเข้าไม่ได้ เพราะคุณพ่อเป็นคนจีน เลยไปสอบที่โรงเรียนพาณิชย์นาวีไว้ เพราะมีใส่เครื่องแบบเหมือนกัน แล้วผมโชคดีสอบได้”
 
แต่เป้าหมายเพื่อสวมเครื่องแบบจีบสาว คงมิใช่เป้าหมายในเบื้องลึกที่แท้จริง เพราะสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น คือโอกาสอันสำคัญ  ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชีวิตของ ดร.สมพร ต้องเข้าสู่ธุรกิจประกันภัยมาจนถึงปัจจุบัน
 
“ตอนนั้นต้องมาตัดสินใจว่าจะไปเรียนวิศวะ หรือเรียนพาณิชย์นาวีดี บังเอิญที่พาณิชย์นาวี ให้โอกาสคนที่สอบเข้าได้มาสอบชิงทุน เพื่อที่จะไปเรียนที่อังกฤษ โดยมีบริษัทเชลล์ (บริษัท เชลล์แทงค์เกอร์ ยูเค – บริษัทเดินเรือขนน้ำมันให้กับบริษัทเชลล์ในทุกประเทศ) เป็นสปอนเซอร์ให้ ผมก็เลยไปสอบชิงทุนแล้วฟลุ๊คได้ เป็น1 ใน 6 คนที่ได้รับทุน ก็เลยตัดสินใจไปเรียนที่อังกฤษที่โรงเรียน พรีมัสโพลีเทคนิค เป็นสคูล ออฟ มารีนไทม์ สตัดดี้ (School of Marine times study) ที่เมือง Plymouth เรียนอยู่ 4 ปีครึ่ง และใช้หนี้สองเท่า คือ 9 ปี”
 
แม้จะสวมเครื่องแบบ แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสจีบสาวได้มากนัก แต่มีโอกาสอันดีอื่นที่วิ่งเข้าหาชีวิต เพราะเมื่อเรียนจบต้องใช้คืนทุนเรียนให้กับบริษัท เชลล์ฯ ซึ่งในเวลานั้น ได้ร่วมทุนกับบริษัท ไทยออยล์ เปิดบริษัทรับขนส่งน้ำมันทางทะเล ชื่อว่า TOTCO (Thai Ocean Transportation Company) แต่ทำได้ไม่นานนัก เมื่อเกิดข้อปัญหาทางการเมืองและธุรกิจ ทางบริษัท เชลล์ฯ ตัดสินใจถอนการลงทุนในประเทศไทยออกหมด
 
“ทางเชลล์ถามนักเรียนไทยที่จบแล้วว่า ถ้าจะโยกย้ายไปทำงานที่ตะวันออกกลางหากคิดอาสาก็สามารถทำงานกับบริษัทต่อได้ แต่ถ้าไม่อยากไป ทางบริษัทถือว่าตนเองเป็นคนผิดสัญญาที่ระบุว่าจะตั้งกองเรือไทย แทนที่เราจะใช้หนี้
กลายเป็นว่า ทางบริษัทยินดีใช้หนี้ผมแทนเป็นเงินล้านกว่าบาท ซึ่งสมัยนั้น 30 ปีที่แล้ว ถือว่าเยอะมาก ผมก็เลยรีบเอา และได้กลายเป็นอิสระ”
 
 
 
แต่เป็นความอิสระที่อยู่ได้ไม่นานนัก เพราะทุกบริษัทที่เดินเข้าไปสมัครงาน ก็ยินดีรับให้ทำทั้งหมด แต่ ดร.สมพร มีเป้าหมายที่ชัดเจนและจริงจังกว่า จึงทำอยู่ไม่ได้นานนัก
 
“ตอนนั้นหางานทำในบริษัทเดินเรือในประเทศไทย หลายบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่จะรับ เพราะ Certificate ของอังกฤษ เป็นหลักสูตรที่ทั่วโลกชื่นชมอยู่แล้ว แต่ว่าระบบความปลอดภัยของบริษัทเดินเรือในประเทศไทยตอนนั้น ค่อนข้างที่จะไม่ดีพอ เราไปเรียนมาตรฐานของอังกฤษ พอมาเจอระบบในบ้านเรา มันทำให้เราไม่สบายใจ ในที่สุดเลยตัดสินใจว่า ถ้าระบบเรือไทยเป็นแบบนี้ เราไม่ทำงานเรือดีกว่า เลยพยายามหางานบนบกทำ
 
 
 
 
เส้นทางก้าวสู่การทำธุรกิจประกัน         

ตอนนั้นก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอะไรดีจึงได้ไปช่วยผู้ใหญ่ที่เคารพในการดูแลร้านอาหาร ชื่อสวนอาหารอู่ข้าว แถวจตุจักร เป็นผู้จัดการร้าน ทำได้สักพักหนึ่ง บังเอิญเกิดไฟไหม้ในครัว แต่ทางร้านมีการทำประกันภัยไว้ ก็มีบริษัทเซอร์เวย์มาสำรวจความเสียหาย ซึ่งบังเอิญอีกว่าในวันนั้นเจ้าของบริษัทมาเอง หลังจากสำรวจความเสียหายเรียบร้อย ก็มานั่งคุยกับผมว่า เอ๊ะ ไอ้น้องหน่วยก้านดี จบอะไรมา ก็เลยเล่าให้ฟัง ซึ่งทางเจ้าของบริษัทสำรวจภัยก็บอกว่าพี่กำลังหาคนมาช่วยทำงานเกี่ยวกับเรื่องการสำรวจความเสียหายทางทะเล ก็เลยชวนให้อยู่ด้วย”
 
บริษัทเซอร์เวย์ที่ว่า คือ บริษัท เบลล์ อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์เวย์เยอร์ แอนด์ แอดจัสท์เตอร์ (Bell International Surveyor and Adjuster) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเบอร์ลี่ยุคเกอร์ และเป็นบริษัทเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่อาชีพการประกันภัย
 
 
“ตอนนั้นอายุประมาณ 23-24 ปี ก็รู้สึกว่าดี เพราะจะได้ใช้ความรู้ที่ได้เรียนมาด้วย ก็เลยไปทำหน้าที่เกี่ยวกับการสำรวจความเสียหายการประกันภัยทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นประกันสินค้า หรือตัวเรือ ซึ่งรับทำงานให้หลายบริษัทประกันภัย รวมถึงทิพยประกันภัยด้วย ทำประมาณ 3 ปี พอดีผู้อำนวยการฝ่ายสินไหมของบริษัท ทิพยประกันภัย เกษียณอายุ ผู้บริหารทางทิพยประกันภัยเลยมาทาบทามว่าจะมาร่วมงานกับทิพยหรือไม่”
 
“ที่น่าประหลาดใจมาก ตอนที่มาสมัครงานนั้น คือคนที่มาทาบทามผม ไม่ได้เป็น MD แต่เรามาสมัครงานและสัมภาษณ์กับ MD คือ คุณวลัย ศิริพงษ์ ซึ่งถามผมว่า รู้เรื่องประกันภัยทางทะเลมั๊ย ผมก็บอกว่าไม่รู้ ถามว่ารู้เรื่องประกันภัยมั๊ย ผมก็บอกว่าไม่รู้ครับ เคยทำอะไรเกี่ยวข้องกับประกันภัยมั๊ย ก็บอกว่าเคยเป็นแต่เซอร์เวย์ แต่ก็บอกไปว่า ผมมั่นใจว่าผมเรียนรู้ได้ คุณวลัยก็รับผมเลย ซึ่งตำแหน่งที่รับตอนนั้นก็สูงมากด้วย เป็น “ผู้จัดการสินไหมทางทะเล”
 
 
อายุน้อยมุ่งมั่น-ใจรักทำงานจึงเติบโตเร็ว

นั่นคือความมุ่งมั่นในคำตอบที่ออกมาจากใจแท้จริง เพราะเพียงปีเดียวจากตำแหน่งผู้จัดการ ก็แสดงผลงานและความสามารถจนได้รับความไว้วางใจให้ก้าวขึ้นสู่ระดับผู้อำนวยการที่เป็นคนหนุ่มอายุน้อยที่สุดในขณะนั้นที่ได้รับตำแหน่งบริหารระดับสูง
 
“ผมเป็นได้ปีเดียว ก็ได้รับการโปรโมทให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายสินไหมทั่วไป เพราะด้วยผลงาน และเป็นคนที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี จริงๆแล้ว ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสินไหมว่างอยู่แล้ว แต่ยังไม่กล้ารับผมเข้าไปรับตำแหน่งนั้นโดยทันที แต่ให้ผมทดลองดูก่อน”
 
“มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในช่วงนั้น ตอนที่มาทำงานในปีแรก เนื่องจากคนที่จะมารับตำแหน่งนี้ต้องเป็นคนอาวุโสหน่อยกลายเป็นว่าผมเป็นผู้บริหารที่หนุ่มมาก และมีดีกรีจบจากต่างประเทศ ด้วยความที่เป็นคนขาวๆ ตี๋ด้วย ก็เป็นที่ร่ำลือในบริษัท ผมจะสังเกตเห็นว่าช่วงเที่ยงๆ ก็จะมีคนแอบขึ้นมาดูว่าผู้จัดการใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร ดูเด็กๆ ด้วย ก็รู้สึกแปลกๆ ดี สงสัยว่ามาดูอะไรกัน”
 
ความรับผิดชอบ กับความสำเร็จในผลงาน ไล่เรียงเป็นฉากต่อเนื่อง จากตำแหน่งผู้อำนวยฝ่ายสินไหมทั่วไป ซึ่งไม่ได้ดูแลงานสินไหมทางด้านรถยนต์ ผ่านไป 3 ปี ก็ได้รับการโอนงานด้านสินไหมรถยนต์ให้ดูแล และพอขึ้นปีที่ 4 กับองค์กร ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ดูแลเรื่องสินไหมทดแทนทุกประเภทของบริษัททิพยประกันภัยฯ
 
“ถือว่าเป็นคนที่โตได้เร็วมาก ตอนนั้นอายุประมาณ 34 ปี ถือว่าหนุ่มสุด” โดยในตอนนั้น ดร.สมพร ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะฉายแววมาเป็น MD แต่อาจเป็นคนที่มุ่งมั่น และบ้าดี ถึงได้รับตำแหน่ง
 
 
 
 
คนแรกที่บุกเบิกนำระบบไอทีมาใช้ในทิพย

นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่า ดร.สมพร เป็นคนที่มีความเก่งที่หลากหลายทั้งพูดภาษาอังกฤษได้ และเป็นคนที่มีองค์ความรู้ด้านไอทีในยุดแรกๆ ในยุคที่ได้เข้ามาทำงานนั้น ไอที หรือคอมพิวเตอร์ ถือว่าเป็นอะไรที่ลึกลับและหวงแหนมาก
 
“ผมเป็นคนแรกที่บอกว่าให้เอาเกมส์ไปใส่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วให้พนักงานเล่นเกมส์ในคอมพิวเตอร์ได้เพราะเมื่อก่อน พอไม่มีเกมส์คนที่ไม่คุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์ก็ไม่ค่อยกล้าฝ่ายไอทีก็บอกว่าอย่าไปเล่นนะ เดี๋ยวมันพัง  กลายเป็นมีเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ไม่มีใครกล้าใช้ ผมก็บอกว่า ไม่เป็นไร เฉพาะฝ่ายผมฝ่ายเดียว เอาเกมส์ไปลงเลย แล้วใครอยากจะเล่นก็ให้เล่น เพราะผมอยากให้ทุกคนคุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์ จะได้ใช้คอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งก็ได้ผล คนเริ่มกล้าที่จะใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น
 
ถือว่า ดร.สมพร เป็นคนแรกๆ ในทิพยประกันภัย ที่ชื่นชอบเรื่องคอมพิวเตอร์มาก แต่ในเวลานั้น เขายังไม่ถนัดในการเขียนโปรแกรม ดังนั้นเวลาที่อยากจะได้โปรแกรมในระบบคอมพิวเตอร์ของฝ่ายสินไหม ก็ต้องเข้าคิวเพื่อให้ฝ่ายไอทีเขียนให้ ซึ่งนานและไม่ทันใจดร.สมพร จึงขอให้ให้ฝ่ายไอทีส่งไปเรียนเขียนโปรแกรมที่ตอนนั้นบริษัทใช้ในการเขียนโปรแกรมต่างๆซึ่งตอนนั้น ดร.สมพร ก็ไปเรียน และดร.สมพร ก็กลับมาเขียนโปรแกรมให้ฝ่ายสินไหมทั่วไปด้วยตัวเอง
 
“เชื่อไหมครับ โปรแกรมที่ผมเขียนนี้ ก็ยังใช้กันอยู่จนเมื่อผมกลับมาเป็น MD  ซึ่งเป็นโปรแกรมเดียวในทิพยที่ไม่เคยถูกแก้ไขเลย เพราะไม่มีใครรู้ว่าผมเขียนโปรแกรมไว้อย่างไร”
 
 
 
ดร.สมพร เป็นคนตั้งเป้าทุกอย่างที่เขาจะก้าวไป

หลังจากวันที่ได้รับการโปรโมทตำแหน่งงานขึ้นมาเรื่อยๆ จนได้เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ดร.สมพร ก็เคยคิด ใฝ่ฝัน และตั้งเป้าที่จะได้เป็น MD เหมือนกัน
 
“ผมเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ ตอนที่ไปเรียนพาณิชย์นาวี ผมตั้งเป้าเลยว่าจะเป็นกัปตันเรือ พอเข้าสู่บริษัทเซอร์เวย์ ก็คิดเลยว่าสักวันผมต้องเป็น MD ของบริษัทเซอร์เวย์นี้ พอมาอยู่บริษัทประกันภัย ก็คิดเหมือนกันว่า สักวันหนึ่งเราต้องสามารถที่จะไต่เต้าขึ้นไปถึงตำแหน่งที่สูงสุดของบริษัทได้ เป็นคนอย่างนี้จริงๆ ว่าถ้าเราจะทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุดต้องสามารถไปถึงตำแหน่งสูงสุดได้ จึงทำให้ผมหมั่นเรียนรู้เสมอ
 
พอทำงานที่ทิพยประกันภัยได้ 7 ปี ก็มีการออกกฎหมายพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถขึ้นมาซึ่งบังคับให้รถทุกคันต้องต้องทำประกันภัยภาคบังคับบริษัทประกันภัยทุกบริษัทต้องรับประกันเรื่องพ.ร.บ. ปรากฎว่า ระบบ พ.ร.บ.ก็มีปัญหาในเรื่องการจ่ายค่าสินไหมทดแทน เลยมีการแก้กฎหมายใหม่ ให้มีการจัดตั้ง บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบอุบัติเหตุ ขึ้นมาในพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พอจัดตั้งบริษัทกลางฯ ขึ้นมา ก็ต้องหาคนไปก่อตั้งบริษัท ตอนนั้นผมอยู่ในสมาคมประกันวินาศภัย ก็ช่วยกันคิดระบบ กำหนดหลักเกณฑ์ ระเบียบต่างๆ เพื่อให้บริษัทนี้เกิดให้ได้ แล้วสมาคมก็ช่วยกันสรรหาคนที่จะมาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทกลางฯ
 
 
 
 
 
ดร.สมพร นั่งกรรมการผู้จัดการบริษัทกลางฯ

“ตอนนั้น สรรหาไป สรรหามา พวกกรรมการสรรหาด้วยกันบอกว่า ดร.สมพร น่าจะเหมาะที่สุด เพราะตอนนั้นผมยังหนุ่มมาก อายุประมาณ 39 ปี เลยกลายเป็นว่า สมาคมทาบทามให้ผมมาสมัครเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทกลางฯ ก็เลยไปสมัคร ไปลาออกจากบริษัททิพยประกันภัย ซึ่งเป็นบริษัทที่แสนดีมาก ตอนแรกบอกกับผมว่าไม่ควรไป เพราะบริษัทนี้จะรอดหรือไม่รอด ก็ไม่รู้ แต่ตอนนั้นผมคิดอย่างเดียวว่า มันเป็นโอกาสที่ผมจะได้ไปสร้างบริษัทประกันภัยในรูปแบบที่ผมอยากจะเห็น ในรูปแบบที่ผมอยากจะให้เป็น เลยอยากจะไปลองทำดู ผมก็ไปยืนยันกับประธานบริษัท ยืนยันกับ MD ในยุคนั้น คือคุณจารึก กังวานพณิชย์ ส่วนประธานคือ ท่านสมใจนึก เองตระกูล”
 
ท่านประธานสุดยอดมาก โดยบอกกับผมว่า เอาอย่างนี้ ถ้าผมอยากจะไป ก็ไปลองดู แต่ท่านจะ Hold ตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการไว้ให้ 6 เดือน ถ้าไปแล้วไม่ใช่ก็กลับมา
 
“ผมก็ลาออกไปทำงานที่บริษัทกลางฯ ซึ่งยังไม่มีบริษัทเลย มีแค่เจตนารมย์กับกฎหมายที่บอกว่าจะก่อตั้ง ยังไม่มีออฟฟิศ ยังไม่มีอะไรทั้งสิ้น มีแค่สมุดบัญชีเงินฝากเล่มเดียวที่บริษัทประกันภัยลงขันกันมา 25 ล้านบาท แต่ใช้ไปแล้ว 1.5 ล้าน เหลือ 23.5 ล้านบาท”
 
แม้ ดร.สมพร จะลาออกจาก บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในรอบแรกแต่ยังได้รับการสนับสนุนจากท่านผู้ใหญ่ของบริษัทในหลายๆ เรื่อง แต่ที่สำคัญ ส่งผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของทิพยประกันภัย ตามไปช่วย ทั้งให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำเรื่องการประชาสัมพันธ์ต่างๆ รวมถึงคนอื่นที่ตามไปช่วยจัดตั้งบริษัทขึ้นมาถือเป็นความยากแต่ก็ท้าทาย
 
 
 
เริ่มต้นจากไม่มีอะไรจนมีเบี้ยรับ3,000 ล้าน

ทำงานอยู่ที่บริษัทกลางอยู่ 13 ปี จากที่กระท่อนกระแท่น จะล้มมิล้มแหล่ เคยมีช่วงเวลาหนึ่งที่มีเงินเหลืออยู่ในบริษัทพอที่จะให้เงินเดือนพนักงานได้เพียง 2 เดือน ต้องตัดสินใจแก้ไข ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในช่วงนั้น คือ ท่าน ไพฑูรย์ แก้วทอง โดยมีท่านบรรพต หงษ์ทอง เป็นอธิบดี ก็ได้ให้การสนับสนุนและช่วยแก้ไขปัญหาในขณะนั้น
 
“ตอนนั้นสิ่งที่บอกให้ผมรู้ คือ ที่พึ่งของผมคือประชาชน ต้องทำให้คนยอมรับบริษัทนี้ให้ได้เร็วที่สุด และทำทุกอย่างให้เป็นที่ยอมรับ ครั้งนั้นมีการแจกหมวกกันน็อคสีเหลือง อันนั้นบริษัทกลางฯ เป็นคนทำ เพื่อให้ประชาชนภาคสังคมยอมรับบริษัทกลางฯให้ได้มากที่สุด หรือโครงการสถานีมอเตอร์ไซด์ไปร่วมกับกระทรวงคมนาคม ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนและมูลนิธิเมาไม่ขับในการรณรงค์เรื่องการป้องกันอุบัติเหตุรถยนต์รวมทั้งสร้างระบบการในการจ่ายค่าสินไหมโดยเชิญโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นแนวร่วมและอีกหลายๆเรื่องสุดท้ายเราก็ประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับ และกลายเป็นยาสามัญประจำบ้านให้กับธุรกิจประกันภัย หากมีปัญหาอะไรก็ให้บริษัทกลางช่วยแก้ไขให้”
 
พอทำงานมาถึงปีที่ 13 บริษัทกลางฯ มีเบี้ยประกันภัยรับ 3,000 ล้านบาท และมีกำไรที่ไม่มาก ประมาณ 700 กว่าล้านบาท จากเงินทุนที่ทยอยเรียกเพิ่มรวมประมาณ 100 ล้านบาท
 
 
 
 
ท่านประธานเรียก “เสือ” คืนถ้ำ

หลังจากนั้นท่านประธานสมใจนึก ก็โทรศัพท์มาหา บอกว่า สมพร พี่คิดว่า สมพร ไปฝึกวิทยายุทธ์นานแล้วกลับมาช่วยทิพยประกันภัยดีกว่า ซึ่งตอนนั้น คุณจารึก กำลังจะเกษียณ ท่านบอกว่า ทิพยประกันภัย ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง
 
“บังเอิญตอนนั้นบริษัทกลางฯ กำลังจะดี แต่ไม่ stable เลยบอกว่า พี่ ผมขออีกปีเดียว ผมทราบแล้วว่าท่านต้องการอะไร ผมจะได้เตรียมทางของผมให้เรียบร้อย ท่านก็โอเค รอปีนึง”
 
พอครบ 1 ปี ตอนนั้นผมไปเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ขอท่านว่า ผมกำลังอยู่ในช่วงครอสเวิร์ค ถ้าผมไปอยู่ที่ทิพยประกันภัย ผมจะมีเวลาให้กับบริษัทได้ไม่เต็มที่ ก็ขอผลัดท่านอีกปี เป็นสองปี ช่วงเวลาของการตัดสินใจเพื่อนฝูงทั้งในและนอกวงการ เห็นว่ากว่าผมจะทำบริษัทกลางฯ ให้อยู่รอด และเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ ตอนนี้ต้องเริ่มเสวยสุขได้แล้ว แต่กลับจะลาออก เพราะคนข้างนอกมองว่าทิพยประกันภัย คล้ายๆ เป็นแดนสนธยา แต่ละคนที่ทำงานมีแบ็คอัพกันทั้งนั้น แตะไม่ได้ คุณเข้าไปก็ทำอะไรไม่ได้หรอก ทำงานยากมากเลยนะที่ คล้ายๆ ว่าเอาชีวิตไปทิ้งเสียเปล่าๆ
 

“แต่ผมเชื่อมั่น เพราะเคยอยู่ทิพยมา รู้จักทิพยมาก่อน ผมบอกว่าไม่เป็นไร มันท้าทาย ผมอยากจะไปทำ พอปีที่สาม ผมไม่รอท่านโทรมา ผมก็โทรไปหา บอกว่า พี่ครับผมพร้อมแล้ว ก็เลยมาอยู่ที่ทิพยประกันภัย และอีกสาเหตุหนึ่ง คือการทดแทนคุณให้กับทิพยประกันภัยที่ให้การช่วยเหลือดูแล แม้มิได้เป็นพนักงาน ตอนที่มาคุยกับคณะกรรมการสรรหาผมเรียนว่าท่านว่าขอให้คณะกรรมการให้นโยบาย ว่า อยากได้อะไร แต่ฮาวทู ขอให้เป็นเรื่องที่ผมสามารถกำหนดแนวทางและวิธีการได้เอง”

ผมจำได้ว่า ก่อนเข้ามาก็นั่งศึกษา พอเข้ามาในปีแรก ก็เสนอกับคณะกรรมการ บริษัท ทิพยประกัยภัย ว่าผมเสนอขอโต 30% จากปกติทิพยประกัยภัย เติบโตประมาณ 5-8% คณะกรรมการก็ตกใจ ผมก็บอกว่า ถ้าผมมาบริหารแล้วผมไม่สามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมของทิพยได้ ผมจะไม่ประสบความสำเร็จในการบริหารทิพยประกันภัยเลย

เพราะฉะนั้น ผมต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมของทิพยประกันภัยให้ได้ แม้คณะกรรมการท่านกรุณาแล้วว่าไม่ต้องถึง 30% แต่ผมขอว่า หากผมทำไม่ถึง 30% ท่านอย่าลงโทษผมก็แล้วกัน แต่ยังไงผมจะพยายามทำให้เกิน 8%  แล้วในปีแรกที่ผมกลับมาบริหารงานให้ทิพยประกัยภัยรอบที่สองนี้ ผมก็ทำให้ทิพยประกัยภัยเติบโต ได้ถึง 38%
 
 
ดร.สมพร พกพาความมั่นใจตามคำประกาศที่ให้กับบอร์ดเพื่อการเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งใหญ่

“ถ้าผมจะบริหารองค์กรได้ ผมต้องสามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ถ้าผมไม่สามารถเปลี่ยนได้ ผมถูกวัฒนธรรมองค์กรกลืน มันจะไม่มีความแตกต่างด้วยความที่ทิพยประกันภัยเป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องเปลี่ยนให้พนักงานมีแนวคิดเยี่ยงเอกชน ต้องเปลี่ยนจากทำงานแบบระบบตั้งรับต้องเป็นการทำงานแนวรุกได้ อีกประการหนึ่ง นโยบายของผม คือไม่เพิ่มคนหรือเพิ่มเท่าที่จำเป็น เชื่อหรือไม่ว่าจากบริษัทกลางมาอยู่ที่ทิพยประกันภัยผมเอาคนมาเพียงคนเดียวเท่านั้น คือเลขาฯผม หลังจากนั้นอีกสองปี ก็เอามาอีก2คน”
 
 
โต้คลื่นมรสุมภายใน บทพิสูจน์ความแกร่ง

เมื่อเริ่มงานในตำแหน่งหัวเรือใหญ่ อีกทั้งผมมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์กร ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องพบเจอกับแรงต้าน เสมือน “คลื่นมรสุม”  เป็นการลองของจากลูกน้อง ที่ไม่พร้อมรับนโยบาย และการเปลี่ยนแปลง

บางคนก็บอกว่ารับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ผมก็ให้โอกาสเขาพิสูจน์ตัวเอง แต่ต้องมีมาตรการในการกระตุ้นให้เขารู้สึกว่าเขาจะต้องพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่าเขาได้ทำสุดความสามารถแล้ว ไม่เช่นนั้นเขาจะไม่ได้ในสิ่งที่เคยได้โดยง่ายจากบริษัท 
 
มีหลายครั้งที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนผู้บริหารฝ่ายงานเพื่อให้งานบรรลุเป้าหมาย  “ช่วงครึ่งปีแรกนั้น ทิพยก็ไปได้ดีมาก กำไรขึ้น เบี้ยก็ขึ้น ทะลุเป้าหมายที่วางไว้ พอเดือนตุลาคม เกิดน้ำท่วมใหญ่ (ปี พ.ศ. 2554) ก็มาเจออีกปัญหาในเรื่องการจัดการสินไหมทดแทนซึ่งมีจำนวนมากและมีมูลค่าเสียหายสูง เราต้องเร่งการทำงาน โดยเฉพาะต้องเร่งรัดให้บริษัทเซอร์เวย์ต้องประเมินความเสียหายให้ถูกต้องและต้องมีการ Update  ข้อมูลกันอย่าสม่ำเสมอเพื่อให้การตั้งสำรองของค่าสินไหมฯใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุดและเป็นปัจจุบันอยู่เสมอรวมทั้งต้อง ทำแบบแฟร์ๆ เขาก็บอกว่าทำไม่ได้หรอก งานเขาเยอะมาก พวกเซอร์เวย์ไม่ได้ทำเฉพาะบริษัทเรา ผมบอกว่าเซอร์เวย์เยอร์จะทำให้บริษัทไหนไม่เป็นไร แต่ถ้าทำให้บริษัทเรา ต้องทำได้ เขาก็ยังยืนยันว่าไม่ได้ แถมท้าผมว่าหากทำได้ ให้ผมไปทำเอง และเขาก็พร้อมจะลาออก จึงให้เขาลาออกแล้วผมก็เชิญผู้บริหารท่านอื่นมาจากภายนอกทำงานแทนในทันที
 
 
สร้างคนดีด้วยใจ วางเป้าใหญ่ เบอร์หนึ่งอาเซียน

จากความมุ่งมั่นเพื่อการเปลี่ยนแปลง และความเด็ดขาดเพื่อการสร้างสรรค์งาน ส่งผลให้เพียงปีที่สองของผู้นำในนาวาลำนี้ก็แสดงผลงานออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ รวมถึงความสำเร็จในปีต่อๆ มา รวมกว่า 9 ปีในตำแหน่ง MD ที่โชว์ผลงานการเติบโตมากกว่า 100%

“ปีที่สองที่ผมมา เราโตอีก 40% ปีที่สามเราขึ้นแตะสองหมื่นล้านบาท ซึ่งใน 3 ปี เราโต 100% ในปีที่สี่ ก็เป็นครั้งแรกที่ทิพยประกันมีกำไรแตะที่ 1,000 ล้านบาท จากในอดีตที่เราเคยมีเบี้ยประกันภัย 10,000 ล้านบาทและมีกำไร 500 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2561 เรามีเบี้ยสองหมื่นล้าน และมีกำไร 1,500 กว่าล้านบาท จริงแล้วๆ หลังจากน้ำท่วมเป็นต้นมา เราก็New highทุกปี มีเพียงปี 2561ที่มีการสั่งปิดบริษัทประกันภัยบริษัทหนึ่งทำให้เราต้องสำรองความเสียหายไว้ทั้ง100% เลยทำให้เราไม่ถึง New high”

เพื่อการเดินหน้าให้สำเร็จตามเป้าหมาย และตามเจตนารมณ์ที่ได้ประกาศไว้กับคณะกรรมการเมื่อครั้งการสัมภาษณ์เข้ารับตำแหน่ง ดร.สมพรได้สร้างหลักประกันในการปฏิบัติงาน สร้างวิชาชีพ บนพื้นฐานความยุติธรรม และหลักคิดเพื่อนมนุษย์บนโลกร่วมกัน และการเติบโตขององค์กร
 
 
“อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเปลี่ยนในทิพยประกันภัย คือเรื่องระบบการให้รางวัลพนักงาน โบนัสกับเงินเดือน เดิมจะให้เท่ากันหมด แต่การให้เท่ากันหมดนี้จะเป็นการทำร้ายคนที่ทำดี คนที่ทำดีมาทั้งปี แต่ได้เท่ากับคนที่เห็นๆกันอยู่ว่าไม่ได้ทำอะไรเลย คนทำดีก็จะเสียกำลังใจ คนที่ไม่เคยทำดีก็คิดว่าฉันก็ไม่เห็นต้องทำอะไรเลยก็ได้เท่ากัน ผมก็มาเปลี่ยนวิธีคิดนี้ ใครทำดี ผมให้มาก ใครไม่ทำผมให้ศูนย์
 
“ยุคผมน่าจะเป็นยุคเดียวที่มีปรากฎการณ์ที่ว่า มีคนไม่ได้ขึ้นเงินเดือนหรือ ไม่ได้โบนัสและก็คือให้ศูนย์เลย จนถึงทุกวันนี้ทุกคนเริ่มเข้าใจระบบนี้แล้ว ต่างพยายามที่จะหนีที่โหล่ คนที่ทำดีจะได้เหนือกว่าค่าเฉลี่ย อย่างปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยที่ 5 เดือน บางคนได้ถึง 8 เดือนเลย บางคนได้แค่ 2 เดือน เป็นระบบที่คนเริ่มยอมรับกัน เลยทำให้มีผลิตภาพในการทำงานมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเราก็จะมีฟิกซ์โบนัสให้ (Fixed Bonus)จำนวนหนึ่งเป็น Bonus พื้นฐานซึ่งทุกคนถ้ามีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ก็จะได้รับเหมือนกันหมดและจะมีโบนัสส่วนที่เพิ่มตามผลงานอีกจำนวนหนึ่งและผมก็ลดฟิกซ์โบนัสลงเรื่อยๆ จาก 3 เดือน ตอนนี้เหลือเพียง 2 เดือน ซึ่งเป็นระบบที่คนยอมรับกัน เลยทำให้มีผลิตภาพในการทำงานมากขึ้นอย่างชัดเจน”
 
สำหรับภารกิจบทบาทผู้นำในช่วงเวลาต่อจากนี้ ดร.สมพร กำหนดเป้าหมายใหญ่ไว้ในใจ ที่แย้มพรายว่าฝันไว้และอยากให้ไปถึง “ผมต้องการให้ทิพยประกันภัยเป็นเบอร์หนึ่งของอาเซียน”
 
 
การขับเรือ-ใช้ชีวิตอยู่กับทะเลคือสิ่งที่ชอบที่สุด
 
สำหรับเส้นทางชีวิตของ ดร.สมพร ไม่ได้มีแค่โหมดของการทำงานหนักเพียงอย่างเดียว แต่เขายังมีมุมสบายๆ ในการใช้ชีวิต
 
ด้วยเหตุผลที่ เขาชื่นชอบเรือ ชอบทะเล หรืออะไรที่มีความเป็นน้ำมาก ดังนั้นเวลาพักผ่อนจึงใช้เวลาอยู่กับเรือ กับทะเล ซึ่งเป็นสิ่งที่เขารักและชอบมากที่สุดซึ่งหลังจาก ดร.สมพร กลับมาจากต่างประเทศใหม่ๆ เขามีความฝันที่ต้องการจะมีเรือสักลำหนึ่งเป็นของตัวเอง
 
และหลังจากที่ ดร.สมพร มุ่งมั่นทำงานอย่างหนัก และมุ่งมั่นในการเก็บหอมรอมริบ จนเขาสามารถซื้อเรือลำแรกขนาด 24 ฟุตลำแรกได้สำเร็จ
 
ด้วย ดร.สมพร เป็นคนมีเพื่อนเยอะ และมีเพื่อนมาร่วมสังสรรค์ผ่อนคลายบนเรือ Sport Yatchของเขา จนทำให้เรือขนาด 24 ฟุต ดูมีขนาดเล็กลงทันตาเขาจึงซื้อ Sport Yatchขนาด 35 ฟุต หลังจากนั้นได้คุยกับเพื่อนๆที่เป็นคนชอบเรือและมีเรือว่าเราเอาเรือที่แต่ละคนมีมาร่วมกันทำเป็นธุรกิจจึงตัดสินใจซื้อเรือ Sport Yatchเพิ่มอีกหนึ่งลำและตกลงกันว่าเมื่อเราเลิกเห่อเรือกันแล้วก็มาปล่อยเช่ากันจนทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เริ่มธุรกิจกันเลย ตอนนี้ ดร.สมพร มีเรือ Sport Yatch 3 ลำ และมี Jet Ski อีก 1 ลำ
 
“นี่คือความสนุกสนาน และความชอบของผม ถ้าผมมีเวลาว่าง หรือถ้าวันไหนผมเลิกงานเร็วก่อน 5 โมงเย็น ผมก็จะไปขับเรือสัก 2-3 ชั่วโมง พร้อมกับเพื่อนๆ 2-3 คน พอค่ำๆ ผมก็ขับเรือกลับ นี่ก็เป็นอีกชีวิตหนึ่ง หรืออีกไลฟ์สไตล์หนึ่งที่ผมชอบมาก”
 
หรือถ้ามีจังหวะเวลาที่ได้ไปพักผ่อนต่างจังหวัด หรือไปต่างประเทศ ดร.สมพร ก็มักจะเลือกสถานที่เที่ยวที่มีทะเล และหากเป็นไปได้ทุกครั้งที่เขาไปเที่ยว ก็จะเช่าเรือขับออกไปเที่ยว นอกจากความสุขเกี่ยวกับเรือ และท้องทะเลที่เขาชื่นชอบมากแล้ว เขายังชอบตีกอล์ฟ และตีแบด อีกด้วย
 
 
แต่ด้วยระยะหลังนี้ไม่ค่อยได้มีโอกาส หรือมีเวลามากพอ ที่จะไปตีกอล์ฟ และขับเรือ เพราะด้วยภารกิจ และงานที่ต้องรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ เพราะมีการแข่งขันค่อนข้างมาก เขาจึงต้องทุ่มเทให้กับงานที่อยู่เบื้องหน้าอย่างมุ่งมั่น
 
“ใจผมรักเรือ และรักการขับเรือมาก ผมบอกตัวเองเสมอว่า ถ้าผมมีเวลา ผมอยากมาขับเรือ และใช้ชีวิตกับทะเล เพราะตอนที่ผมเป็นผู้ช่วยกัปตันเรือ อยู่ในเรือขนน้ำมัน 2 ปี ทำให้ชีวิตผมผูกพันกับการเดินเรือ และการที่ผมได้ขับเรือ ทำให้ผมรู้สึกสงบนิ่ง โดยเฉพาะช่วงที่ยืนบังคับเรืออยู่คนเดียวบนท้องมหาสมุทรที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาผมรู้สึกชอบมากเป็นพิเศษกับสิ่งนี้”
 
ในยามที่เขารู้สึกเครียดจากการทำงาน ในฐานะหัวเรือใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบองค์กรประกันภัยขนาดใหญ่ที่อยู่แถวหน้าของประเทศ มีลูกน้องอีกจำนวนมากที่ต้องรับผิดชอบดูแล หรือในช่วงเวลาที่มีอุปสรรคถาโถมเข้ามาการได้ขับเรือไม่เพียงแค่สร้างความสุขความสงบให้กับเขาเท่านั้น  แค่ได้ลมปะทะหน้าก็เสริมพลังให้สู้ต่อในวันถัดไป
 
“ทุกครั้งที่ผมเครียด ในหลายๆ ครั้งที่ผมทำงาน ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่เราต้องมีความเครียดจากการทำงาน หรืออุปสรรคอะไรก็แล้วแต่
 
 
ถ้าผมมีโอกาสขับเรือ แล้วมีลมโต้ใบหน้าผม ความเครียดต่างๆ ที่ผ่านเข้ามามันดูเหมือนจะ ปลิวกระจายหายไปหมด และสิ่งที่ผมได้กลับคืนมา “คือพลังใหม่ที่จะทำให้ผมสู้ต่อในวันต่อไป”
 
และที่สำคัญเหนืออื่นใด เด็กบ้านนอกอย่าง ดร.สมพรยึดถือคติในการทำงาน โดยเฉพาะในช่วงที่มีปัญหา เขามักบอกตัวเองว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาทำนั้น เขาทุ่มเทในการทำงานอย่างเต็มที่ และเทใจทำอย่างดีที่สุดเท่าที่เขามีพลัง แล้วหากอะไรจะเกิดก็ต้องยอมรับ เพราะการทำงานของ ดร.สมพร เขาไม่เคยเอาประโยชน์ส่วนตัวมาเป็นที่ตั้ง
 
 
รีไทร์จากงาน แต่ไม่คิดรีไทร์จากชีวิต
 
ความสำเร็จที่ได้จากการตั้งเป้าหมายในทุกครั้ง จนทำให้มีข้อสงสัยว่า อะไรคือเป้าหมายสุดท้ายที่เขาอยากทำ โดยเฉพาะหากต้องเกษียณอายุจากการทำงาน
 
“ผมเป็นคนที่ไม่เชื่อในเรื่องของการรีไทร์ชีวิตตนเองแบบ totally ผมเห็นด้วยกับการรีไทร์จากงานประจำ แต่ไม่เห็นด้วยกับรีไทร์กับชีวิตในการทำงาน การทำงานประจำตอนนี้เป็นการทำในสิ่งที่เราต้องทำ เพราะมีภาระ มีความรับผิดชอบมากมายให้ประสบความสำเร็จ แต่หลังจากที่เรารีไทร์แล้ว เรายังคงต้องทำงานอยู่ แต่งานที่ทำจะเป็นงานในสิ่งที่เราอยากจะทำ เรามีความสุขกับการที่เราทำ ถ้าผมยังมีความสุขกับการทำงาน ผมก็อาจจะทำงานในฐานะที่ปรึกษา หรือกรรมการบริษัท แต่จะไม่ลงไปบริหารหรือรับผิดชอบเองทุกอย่าง จะใช้ประสบการณ์ในอดีตที่เราผ่านมา ให้กับคนรุ่นหลังๆ
 
               
“อย่างทุกวันนี้ ชอบในเรื่องของการลงทุนเพราะเราเริ่มมีประสบการณ์มากพอ พูดตรงๆ พอเราเกษียณไปแล้ว วิทยาทานทางการแพทย์ทุกวันนี้ดีมาก เราจะเป็นคนมีชีวิตที่ยืนยาวไปแค่ไหนก็ไม่รู้ ถ้าเราไม่เตรียมให้เรามีรายได้มากพอ เหมือนที่บอกกันว่า เป็นเรื่องเศร้าถ้าเกษียณไปแล้วมีเงินเก็บไม่พอ เราเลยต้องเตรียมว่า หลังจากเกษียณไปแล้ว เราจะอยู่ได้เท่าไหร่ ผมถึงให้ความสำคัญกับ Passive income มาก ทุกวันนี้ที่ผมทำงานอยู่ มีรายได้เป็น Active income แต่เราต้องมี Passive income มีเงินไหลเข้ามาเรื่อยๆ ผมวางแผนเรื่องนี้มาตั้งแต่หนุ่มๆ”
 
 
 
สูตรลับทางการเงิน

ปัจจัยทางการเงินมิใช่สิ่งที่ ดร.สมพรมีฐานะได้เพราะตำแหน่งในหน้าที่การงานอย่างที่หลายคนคิดกัน แต่ ดร.สมพรวางแผนกับตัวเองเช่นกัน และเป็นการวางแผนที่มีระเบียบวินัยในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จนสามารถสร้างตัวตน สร้างฐานะที่ประสบความสำเร็จได้ในปัจจุบัน
 
“ผมเป็นคนที่เรียกว่ามีกติกาในเรื่องนี้ ทุกครั้งที่มีเงินเดือนเข้ามาตั้งแต่สมัยทำงานใหม่ๆ ไม่ใช่ผมเก็บเงินจากที่เหลือใช้ แต่จะบอกกับตัวเองเลยว่าผมจะเก็บเงินเท่าไหร่ เก็บก่อน 30% ของเงินที่ได้รับเลย แล้วใช้ส่วนที่เหลือ ซึ่งผมทำแบบนี้มาตลอด 20-30 ปี ซึ่งทำให้เราสามารถสร้างเงินของเราได้มากพอ เมื่อได้ก้อนใหญ่มาก เราก็นำไปลงทุนต่อได้
 
 
ผมอยากแนะนำน้องๆ ทุกคนให้แบ่งสัดส่วนของเงินคือถ้าเรามีรายได้ เราต้องเก็บเงินก่อนจำนวนหนึ่ง เงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันจำนวนหนึ่ง เงินที่จะใช้เพื่อจะซื้อความสุข ไม่ใช่ยอมทนทรมานเพื่อจะไปหาความสุขหลังเกษียณ ทุกวันนี้เราต้องมีความสุขพอสมควร และอีกเงินก้อนเป็นเงินอุปถัมภ์คนที่เราควรจะอุปถัมภ์ ไม่ว่าพ่อแม่ ลูกเมีย หรืออะไรก็ตามแต่ โดยแบ่งเป็น 4 ส่วนอย่างนี้ แต่ผมจะหนักหน่อย เงินสำหรับอนาคตของผมเก็บ 30% เงินใช้ชีวิตประจำวัน 40% เหลือ 15% สำหรับเอนจอยชีวิต และอุปถัมภ์คนที่ต้องอุปถัมภ์อีก 15%”
 
 
สูตรทางการเงินนี้ ดร.สมพร จะจดไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัว เพื่อการย้ำเตือนมิให้ลืมถึงเป้าหมายที่ต้องการ

“ถ้าได้เห็นสมุดโน้ตของผม ผมมี My life plan จะวางแผนว่า ใน 5 ปีข้างหน้า หรือ 10 ปีข้างหน้า ผมควรจะมีอะไร อย่างตอนที่ผมเข้ามาอยู่วงการประกันภัย ผมจะแบ่งว่าต้องมีเงินเก็บเท่าไรต่อปี เหลือเท่าไร และพยายามทำให้ได้ตามนั้นวันนี้กล้าพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่า ที่บ้านถือว่ามีฐานะ พ่อแม่แบ่งเงินไว้ให้ แต่ทุกวันนี้เงินที่แบ่งไว้ให้ก็เก็บไว้ในกงสี ผมไม่เคยเอามาเลย ให้พี่ชายเป็นคนบริหาร แล้วเราก็พยายามสร้างตัวของเราเอง และลูกชายของพ่อ 4 คน เรามานั่งคุยกันตลอดเวลา ว่าต่างคนต่างต้องสร้างตัว เราพยายามใช้เงินกงสีให้น้อยที่สุด และให้เงินกงสีรันของตัวเองไป เอาเงินเรามาเติมให้กงสี เพื่อเงินกงสีจะได้ใหญ่ขึ้น พี่น้องทุกคนต่างก็เป็นแบบนี้ แต่วิธีการต่างกัน”

เส้นทางชีวิตของคนที่บอกตัวเองว่าเป็น “เด็กบ้านนอก”ตลอดการสนทนานั้นเสมือนเขาเตือนตัวเองว่าจะต้องไม่ทิ้งความฝัน และเป้าหมาย พร้อมลงมือทำ นี่คือปัจจัยแห่งความสำเร็จอย่างแท้จริงที่สำคัญ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัดสินใจลงมือทำนั้น ต้องทุ่มเทอย่างเต็มที่ และเทใจทำอย่างดีที่สุดเท่าที่พลังกายและใจจะมีให้ และหากอะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องยอมรับผลที่เกิดนั้น โดยที่ไม่มีความจำเป็นต้องเสียใจแม้แต่น้อยเพราะการทำงาน ไม่ควรเอาประโยชน์ส่วนตัวมาเป็นที่ตั้ง

 
 

และนี่คือ ผู้ชายผู้พลิกโฉมองค์กร ด้วยแนวคิด 

“สร้างคนดีด้วยใจ วางเป้าใหญ่ เบอร์หนึ่งอาเซียน”

ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย 

 


LastUpdate 14/03/2563 15:04:26 โดย : sakidlo
กลับหน้าข่าวเด่น
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 7:00 am