Scoop: "Ready to Eat" ธุรกิจอาหารพร้อมทาน กำลังเติบโต สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ


 
ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะประเทศไหนก็ต่างมีไลฟ์สไตล์ที่ใช้ชีวิตกันอย่างเร่งรีบ จากการขยายตัวของชุมชนเมืองในหลายๆพื้นที่ ที่ต้องมีการเดินทางแข่งกับระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่การเติมพลังงานเพื่อรับมือกับภาระหน้าที่แต่ละวันก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้สำหรับมนุษย์ทุกคน ฉะนั้นอาหารพร้อมทาน หรืออาหารแบบ Ready to Eat จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์กลุ่มคนที่ต้องใช้ชีวิตแข่งกับเวลา เนื่องด้วยความสะดวกและรวดเร็ว ประกอบกับวิถีชีวิตของกลุ่มคนทำงานในเมืองและกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่การเช่าที่พักอาศัยซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ใช้สอย โดยเฉพาะพื้นที่ในการประกอบอาหาร ก็ยิ่งเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ตลาดอาหารพร้อมทานนั้นเป็นทางเลือกหลักที่มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพอย่างมากอีกด้วย
 
อุตสาหกรรมอาหารพร้อมทานในตอนนี้ จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีโรงงานที่จดทะเบียนอยู่ 249 แห่ง ซึ่งมีการพึ่งพาตลาดในประเทศอยู่ที่ 80-85% คิดเป็นมูลค่า 4.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นอาหารสำเร็จรูปแบบแห้ง 2.6 หมื่นล้านบาท อาหารแช่แข็ง 1.8 หมื่นล้านบาท และมีการส่งออกอยู่ 15-20% คิดเป็นมูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท โดยมีตลาดสำคัญได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน 36.2% ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา 13.8% และเนเธอร์แลนด์ 8.4%
 
ด้านข้อมูลจากสำนักวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ให้ข้อมูลว่าในปี 2565-2567 อุตสาหกรรมอาหารพร้อมทานนั้นมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดในและนอกประเทศ แบ่งเป็นประเภทอาหารแห้ง ที่การบริโภคในประเทศมีแนวโน้มการเติบโตอยู่ที่ 2-3% ต่อปี ส่วนการส่งออกไปยังต่างประเทศมีแนวโน้มการเติบโตอยู่ที่ 3-4% ต่อปี และประเภทอาหารแช่เย็นและแช่แข็ง การบริโภคในประเทศมีแนวโน้มการเติบโตอยู่ที่ 10-12% ต่อปี ส่วนการส่งออกไปยังต่างประเทศมีแนวโน้มการเติบโตอยู่ที่ 3-4% ขณะที่ในแง่ของแนวโน้มกำลังการผลิตในระยะเวลาเดียวกันนั้น ประเภทของอาหารแห้งมีการผลิตเติบโตอยู่ที่ 2-3% ส่วนประเภทอาหารแช่เย็นและแช่แข็งมีทิศทางการเติบโตอยู่ที่ 9-10%
 
และหากโฟกัสโดยเฉพาะปี 2566-2567 ให้หลังในตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างแข็งแรงมากขึ้น เพราะอาหารพร้อมทานที่ผลิตจากประเทศไทยได้รับการยอมรับทั้งในแง่คุณภาพ ความสะอาดปลอดภัย และเรื่องของรสชาติที่ถูกปาก อีกทั้งตลาดอาหารประเภทที่เน้นไปยังเรื่องสุขภาพก็มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นอีกเช่นเดียวกัน หากอยู่ในรูปแบบของอาหารพร้อมทาน ก็คาดว่าจะมีการตอบรับที่ดีมากขึ้นไปอีก
 
แต่สิ่งที่จะเป็นปัจจัยกดดันหลักๆในตลาดอาหารพร้อมทานนั้นมีข้อกังวลอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน คือราคาของวัตถุดิบประกอบอาหารและราคาของเม็ดพลาสติกที่ใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์ มีแนวโน้มที่จะราคาสูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจยิงยาวไปถึงปีสองปีหน้า ส่วนเรื่องที่สองคือความเข้มงวดด้านการตรวจสอบสินค้าของประเทศคู่ค้า ซึ่งจะมีมาตรฐานการควบคุมสินค้าอาหารที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่นเรื่องของ Halal ในประเทศอิสลาม หรือมาตรฐาน ISO 22000 เป็นต้น รวมถึงข้อกำหนดของการติดฉลาก ไปถึงการตรวจสอบแหล่งวัตถุดิบว่าได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของตัวเองหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนในกระบวนการประกอบการผลิตให้กับผู้ประกอบการต้องรับภาระหน้าที่ตรงส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น รัดกุมมากขึ้น มี Process การทำงานที่ซับซ้อนมากกว่าเดิม
 
แม้ปี 2565 นี้จะมีอัตราการเติบโตที่ยังไม่มากนัก เพราะยังอยู่ในเฟสของการระบาย Stock การนำเข้าจากผลของการกักตุนอาหารตอนช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐและกลุ่มประเทศยุโรปที่มีการชะลอตัวลงจากสภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน แต่ในปี 2566 เป็นต้นไปตามข้อมูลที่ได้กล่าวไปข้างต้น ก็คาดว่าธุรกิจอาหารพร้อมทาน จะเป็นตลาดที่เติบโตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพประมาณ 4-5% ต่อปี ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่สำคัญให้กับผู้ประกอบการได้เตรียมตัวออกมาวาดฝีไม้ลายมืออย่างเต็มกำลังสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีทิศทางสัมพันธ์กัน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ต.ค. 2565 เวลา : 12:54:07
กลับหน้าข่าวเด่น
06-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 6, 2024, 12:53 pm