Special Report : โอกาส "ตลาดอัญมณีไทย" ส่งออกบูม รับเติบโตต่างแดน


 
ในช่วงระยะแรกของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 การเติบโตของตลาดอัญมณีและเครื่องประดับ อาจจะมีการซบเซาลงไปตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย สินค้าอัญมณีก็ค่อยๆกลับมาฟื้นตัวตามสถานการณ์ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในปี 2022 ที่ธุรกิจการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับนั้น มีการทำผลงานเอาไว้ได้อย่างดีทีเดียว และคาดว่าจะเติบโตยิ่งขึ้นในช่วงปีใหม่ที่จะถึงนี้
 
แต่ถึงจะบอกว่าตลาดมีการหดตัวไปบ้างในช่วงการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจก่อนหน้าดังกล่าว แต่ก็เป็นเพียงลักษณะของการสะดุ้งรับสถานการณ์เท่านั้น เพราะกลุ่มคนที่มีรายได้ระดับกลางบน-สูงนั้นยังมีศักยภาพในการซื้อสินค้าอัญมณีเท่าเดิม ตามข้อมูลของ บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายเครื่องประดับเพชร "Jubilee" ที่ออกมาประกาศเตรียมบุกตลาดอาเซียน เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มสินค้า Luxury Brand อย่างตลาดเครื่องประดับเพชรมีอัตราการเติบโตดีมาก พร้อมกับเปิดแบรนด์ใหม่ชื่อ "Jubilious” ที่มองไว้ว่าจะมียอดขายเติบโตขึ้น 15-20% ในสิ้นปีนี้ ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว เป็นตัวบ่งบอกว่า ตลาดอัญมณี ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงที่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจหรือไม่ ก็ยังมีกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ แค่ต้องขยายฐานตลาดออกไปหาเท่านั้น โดยการส่งออกหรือเจาะตลาดต่างประเทศ ก็เป็นการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจได้อย่างดี อย่าง Jubilee ที่ชี้ชัดว่าจะเจาะตลาดอาเซียน ก็แสดงให้เห็นว่าตลาดนี้เป็นพื้นที่ของโอกาสในการนำส่งสินค้าอัญมณี และอาจปรองดองกันจนกลายมาเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้ สอดรับกับข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ที่จะไปเปิดตลาดใหม่ในประเทศเมียนมาร์ และอีกหลายประเทศอย่าง เกาหลีใต้ โมซัมบิก และแอฟริกา ขณะที่ปัจจุบัน บรูไน มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นตลาดส่งออกสำคัญของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับของไทย
 
และจากข้อมูลล่าสุดของ Future Market Insights (FMI) ได้คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดอัญมณีของโลกในปี 2022 จะอยู่ที่ราว 30,779 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 53,146 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2032 สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2022 การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยนั้นมีการเติบโตขึ้น โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 6,778 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้น 37% (ถ้าหากรวมทองคำด้วย จะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 13,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้น 66%) ซึ่งมีแรงหนุนมาจากเงินบาทอ่อนค่าก่อนหน้านี้ที่ เฟด หรือ ธนาคารกลางสหรัฐ มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เมื่อเวลาแปลงค่าคิดเป็นค่าเงินบาทไทย มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ผนวกกับการกลับมาของกลุ่มคนระดับปานกลาง ที่อำนาจในการจับจ่ายใช้สอยที่มีแนวโน้มกลับมาเป็นปกติอีกครั้งในช่วงปลายปีมานี้ ทั้งค่าเงินเฟ้อทั่วโลกที่ลดต่ำลงมา รวมถึงการทยอยเปิดประเทศที่เป็นพาร์ทใหญ่ในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้ช่วงการมาของเทศกาลคริสต์มาส และช่วงปีใหม่ ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้คนหันมาซื้อสินค้าอย่างอัญมณีและเครื่องประดับมากยิ่งขึ้น จากที่เลือกจับจ่ายเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค หรือสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในช่วงก่อนหน้านี้
 
โดยสินค้าที่มีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน พลอยสี และทองคำ มีสัดส่วนส่งออกกว่าร้อยละ 50 ของยอดส่งออกรวมใน 10 เดือนดังกล่าว เป็นการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น อันเป็นเหตุจากความต้องการของตลาดที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย ฮ่องกง เยอรมัน สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ สวิสเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และญี่ปุ่นตามลำดับ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่การบริโภคอัญมณีมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
 
และด้วยความที่ไทย เป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในเวทีโลก จากรายงานของปี 2021 ที่ไทยเป็นผู้ส่งออกพลอยสี อันดับ 4 ของโลก และส่งออกเครื่องประดับแท้ เป็นอันดับ 9 ของโลก ฉะนั้นการเติบโตของสินค้าดังกล่าวเป็นโอกาสสำคัญให้กับผู้ส่งออกไทยกับประเทศคู่ค้าที่กล่าวไปข้างต้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีน ที่พลอยสีเริ่มจะเป็นที่นิยมในตลาดเนื่องจากมีความเป็นเอกลักษณ์ หรือทางฝั่งอินเดีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความเชื่อเกี่ยวกับการใช้พลอยสีมาตั้งแต่โบราณ สื่อถึงความหรูหราที่ยังนิยมจนถึงปัจจุบันนี้ และทางกระทรวงพาณิชย์ยังแนะนำให้ผู้ประกอบการในไทย วางแผนเจาะไปยังตลาดใหม่ๆเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ฝรั่งเศส ที่อัญมณีมีการเติบโตดีจากกลุ่มผู้หญิงวัยทำงาน ที่มีกำลังใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น และที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง คือทวีปเอเชียทางตะวันออกกลาง ที่มีแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่มีมูลค่าสูงเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
 
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดอัญมณีจะเติบโต ซึ่งเป็นโอกาสอันดีของไทยในการส่งออกสินค้า แต่คู่แข่งก็นับว่ามีมากขึ้นตามไปด้วย ฉะนั้นไม่ว่าประเทศแห่งโอกาสจะมีกำลังซื้อมากเท่าไหร่ แต่การนำเสนอสินค้าอัญมณีที่ตรงใจนับว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก และนอกจากนี้อาจต้องร่วมผลักดันให้ภาครัฐยกเลิกกำแพงภาษีต่างๆ เช่น ยกเว้น VAT หรือ ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อให้ได้แต้มต่อด้าน Market Share ในตลาดอัญมณีของโลก

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ธ.ค. 2565 เวลา : 19:57:36
กลับหน้าข่าวเด่น
06-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 6, 2024, 6:32 am