Special report: จับตาการ "เพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ" คืออะไร? ส่งผลกระทบร้ายแรงอย่างไรกับภาคเศรษฐกิจ?


เพดานหนี้สหรัฐ คือระดับที่กำหนดว่า กระทรวงการคลังของสหรัฐ สามารถก่อหนี้ได้สูงสุดเป็นจำนวนเท่าไหร่ ถ้าเมื่อไหร่ที่ฝ่ายบริหารก่อหนี้ถึงระดับเพดานที่กำหนดเอาไว้แล้ว ก็จะมีเหตุการณ์ที่ต้องหารือกับทางรัฐสภาในการขยายเพดานหนี้ให้สูงขึ้นไปอีก เพื่อรองรับการชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการด้านประกันสังคมและด้านสุขภาพ, ดอกเบี้ยตราสารหนี้ของรัฐบาล และการใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งการหารือดังกล่าว จะเป็นบริบทของการเจรจาต่อรองระหว่างทำเนียบขาว (ฝ่ายบริหาร) กับทางรัฐสภา โดยรัฐสภาจะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ และอาจมีการวางข้อกำหนดร่วมเพื่มเติมให้รัฐบาลปฏิบัติ แลกกับการขยายเพดานหนี้สหรัฐ

ต้องเกริ่นก่อนว่า สหรัฐอเมริกานั้นมีพรรการเมืองใหญ่อยู่สองพรรค ได้แก่ พรรคเดโมแครต และ พรรครีพับลิกัน ที่ต่างผลัดเข้ามาบริหารประเทศ ผ่านกระบวนการเลือกตั้งฝ่ายบริหาร (พรรคที่ได้จัดตั้งเป็นประธานาธิบดี) โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันตอนนี้นำโดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน จากฝั่งของพรรคเดโมแครต ต้องหารือกับสภาผู้แทนราษฎร อันได้แก่ฝั่งรีพับลิกันที่ครองเสียงข้างมากอยู่ในตอนนี้ (พรรครีพับลิกันชนะที่นั่งสภาผู้แทนราษฎร 218 ที่นั่ง ในสภาล่างได้สำเร็จจากการเลือกตั้งกลางเทอม 8 พ.ย.2022 ที่ผ่านมา) ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การที่พรรครีพับลิกัน ฝั่งตรงข้ามของเดโมแครต ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ก็สามารถทำการขัดแข้งขัดขา นโยบายและการออกกฎหมายต่างๆของ โจ ไบเดน ได้ ฉะนั้นการเข้าหารือระหว่างผู้นำรัฐบาล(พรรคเดโมแครต) กับทางรัฐสภาในการขยายเพดานหนี้สหรัฐครั้งนี้ ทางพรรครีพับลิกันอาจเอาเรื่องของการขยายเพดานหนี้ แลกกับการให้พรรคเดโมแครตยอมปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อผลในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 ที่นำโดย โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะถึงนี้

ซึ่งทางฝั่งพรรครีพับลิกันเอง ก็ได้ออกการวางเงื่อนไขจริงๆว่า ทางพรรคจะสนับสนุนการเพิ่มเพดานหนี้ก็ต่อเมื่อ รัฐบาลของ โจ ไบเดน ลดการใช้จ่ายของรัฐบาลย้อนหลังในช่วง 10 ปีข้างหน้านี้ แต่ทางโจ ไบเดน ต้องการให้ขยายเพดานหนี้โดยไม่มีการปรับลดค่าใช้จ่าย ทำให้เรื่องนี้ยิ่งยืดเยื้อ และทางกระทรวงการคลังก็ได้มีการประเมินว่า ทางกระทรวงอาจจะผิดนัดชำระหนี้ตามพันธกรณีทางกฎหมายภายในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ หากยังไม่สามารถเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐได้ก่อนเส้นตายดังกล่าว

จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่สามารถเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐได้?

ทางด้านของ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ได้มีการเรียกร้องให้ทางรัฐสภาเร่งเพิ่มปรับเพดานหนี้เช่นกัน และได้มีการเตือนว่า หากไม่อนุมัติการเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาล จะนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ (เร็วกว่าที่รัฐบาลและนักวิเคราะห์ในตลาดวอลล์สตรีทคาดการณ์ไว้ว่าเป็นช่วงปลายเดือน ก.ค.) ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับหายนะ เพราะต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลสูงขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ ตลาดสินเชื่อจะย่ำแย่ลง อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น ไปด้วยกันกับการกระตุ้นสภาวะเงินเฟ้อให้ย่ำแย่ขึ้นไปอีก ประชาชนจะประสบปัญหากับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น และเสี่ยงต่อการโดนเลิกจ้างงาน อีกทั้งรัฐบาลจะไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนให้กับครอบครัวของเหล่าทหารและผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาเงินประกันสังคมในสหรัฐได้ เพราะการผิดนัดชำระหนี้ ก็ส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนโดยตรงเช่นกัน มีความเสี่ยงสูงมากที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีต และเงินออม เงินบำเหน็จบำนาญที่ลงทุนอยู่ในตลาดจะมีมูลค่าทิ้งดิ่งลงไป ก่อให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในที่สุด 

แล้วจะกระทบไทยหรือไม่?

ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ชี้แจงว่า หากมีการผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 1 มิ.ย. จากการที่รัฐสภาไม่เพิ่มเพดานหนี้สหรัฐจริง ทางเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบอย่างจำกัด แต่เนื่องจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน อาจส่งผลต่อตลาดการเงินที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรสหรัฐระยะสั้นปรับสูงขึ้น แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐระยะยาว ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรของไทยยังไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก

อย่างไรก็ตาม การเข้าไปหารือเรื่องเพดานหนี้สหรัฐ ระหว่าง โจ ไบเดน กับ เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะถูกเลื่อนออกไปเป็นสัปดาห์หน้า (จากเดิม 12 พ.ค.2023) ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไปว่าการปรับลดและจำกัดรายจ่ายของรัฐบาล ที่เป็นเงื่อนไขของการเพิ่มเพดานหนี้จะมีความคืบหน้าอย่างไร หากตกลงกันไม่ได้ รัฐบาลสหรัฐอาจหมดเงินเพื่อชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ และอาจเป็นชนวนที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเสี่ยงตกต่ำลง รวมถึงภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลกของสหรัฐ ก็อาจมีความน่าเชื่อถือน้อยลงไปอันส่งผลต่อบทบาทขั้วอำนาจโลกในอนาคต
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 พ.ค. 2566 เวลา : 20:33:53
กลับหน้าข่าวเด่น
06-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 6, 2024, 4:34 am