ท่ามกลางปัญหาวุ่น ๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยของข้าวไทย เนื่องจากความวิตกกังวลถึงอันตรายจากการตกค้างของสารที่ใช้ในกระบวนการผลิตข้าวสารถุง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)ร่วมกับบริษัทเอกชนเปิดเผยผลงานวิจัยระบบใหม่ซึ่งใช้ก๊าซไนโตรเจน คาดว่า จะเป็นทางเลือกใหม่เพื่อให้ได้ข้าวที่ปลอดภัยถึงมือผู้บริโภคทั่วไป
เดิมการกำจัดมอดและด้วงในข้าวสารที่ใช้กันมี 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่ อย่างแรกคือ การใช้สารเคมีเมธิลโบรไมด์ ที่จะห้ามใช้ภายในปี พ.ศ. 2558 นี้ ซึ่งเป็นไปตามพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยการลดและเลิกสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ที่กำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิกจำนวน 177 ประเทศ ดำเนินการลดและเลิกการใช้สารเมทิลโบรไมด์ โดยกำหนดให้กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วต้องยกเลิกใช้ภายในปี 2548 สำหรับกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาได้รับการผ่อนผัน และต้องยกเลิกการใช้ภายในปี 2558
วิธีที่2 เป็นการใช้สารเคมีฟอสฟีนหรืออะลูมิเนียม ฟอสไฟด์ ที่กำลังเป็นที่นิยมใช้สำหรับข้าวสารทั่วไป เนื่องจากมีต้นทุนต่ำและกำจัดได้เร็ว และ3. การเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้สิ่งมีชีวิตเบื่ออาหาร เพลีย หมดสติและตายไปเอง แต่วิธีนี้ต้นทุนการกำจัดสูงกว่าวิธีอื่น ใช้เวลาประมาณ 15 วัน ข้อกำหนดของการผลิตข้าวอินทรีย์ระบุให้ใช้วิธีนี้ เพราะไม่ต้องใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต
เวลานี้มีวิธีใหม่เพิ่มมาอีก ซึ่งเป็นผลงานของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สนับสนุนทุนให้บริษัท สยาม วอเตอร์เฟลม จำกัด เป็นผู้พัฒนาระบบใหม่ให้บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด นำไปใช้ในการผลิตข้าวอินทรีย์ส่งออก โดยมีกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ร่วมวิจัยและวิเคราะห์ผลการทดสอบประสิทธิภาพของระบบใหม่ด้วย
ทั้งนี้ระบบที่พัฒนาขึ้นใหม่เกิดขึ้นภายใต้“โครงการระบบกำจัดมอดและด้วงงวงข้าวโดยใช้ก๊าซไนโตรเจน” ซึ่งมีต้นทุนการกำจัดต่ำกว่าการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และใช้เวลาเร็วกว่าเดิม อีกทั้งยังเหมาะกับการใช้กับข้าวอินทรีย์เช่นกัน
วิธีกำจัดมอดใหม่มาจากแนวคิดที่ว่า อากาศที่อยู่รอบตัวเรามีปริมาณก๊าซไนโตรเจน 77% ก๊าซออกซิเจน 21% ที่เหลือเป็นก๊าซอื่นๆ สิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องใช้ก๊าซออกซิเจนในการหายใจ ดังนั้นหากมีปริมาณก๊าซออกซิเจนในระดับต่ำมาก สิ่งมีชิวิตจะเริ่มหายใจถี่เร็วขึ้นและตายในที่สุด
ระบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นจึงมีกระบวนการทำงานโดยใช้วิธีดูดอากาศภายในห้องที่เก็บข้าวสารมาผ่านเครื่องดูดซับก๊าซออกซิเจนและปล่อยก๊าซที่เหลือกลับสู่ห้องเก็บอีกครั้ง โดยขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมงทำให้ปริมาณก๊าซออกซิเจนเหลือต่ำกว่า 0.5% จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ที่สัดส่วนนี้ ซึ่งจะมีผลทำให้มอดแป้งและด้วงงวงข้าวตายภายใน 7 วัน โดยตัวเต็มวัยตายก่อน และตามด้วยตัวอ่อน ไข่และดักแด้ ตามลำดับ ซึ่งในระยะดักแด้ที่จะฝังตัวเข้าไปในเมล็ดข้าวและสร้างใยรอบตัวเองตายยากที่สุด
นอกจากมีข้อดีเป็นวิธีที่ปลอดภัย เพราะเกิดจากดัดแปลงอากาศตามธรรมชาติ ก๊าซไนโตรเจนเป็นก๊าซเฉื่อย ไม่เป็นพิษเป็นภัย ไม่ทำปฏิกิริยากับธาตุอื่นและไม่ใช้เคมีแล้ว ยังเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่า โดยมีค่าใช้จ่ายด้านก๊าซราว 10 บาทต่อตัน เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย 110 บาทต่อตันของวิธีใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
คาดว่า ระบบใหม่นี้จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อประชาชนผู้บริโภคข้าวในประเทศทั่วไปและต่อการส่งออกข้าวอินทรีย์ของประเทศด้วย ซึ่งไทยส่งออกข้าวจำนวน 5,966 ตันต่อปี รวมมูลค่าประมาณ 243 ล้านบาท จากการผลิตข้าวอินทรีย์ในประเทศทั้งหมดประมาณ 69,000 ตัน ซึ่งมีผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 500 กิโลกรัมต่อไร่
ข่าวเด่น