การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
ม.มหิดล ร่วมสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม "เครื่องวัดรังสีคอสมิกในอวกาศ" สนองรับภารกิจพิชิตอวกาศส่งดาวเทียมไทยโคจรรอบโลก


รังสีคอสมิกเป็นรังสีธรรมชาติที่มาจากนอกโลก อาจส่งผลกระทบต่อระบบสื่อสารและสุขภาพของนักบินอวกาศได้ รวมถึงผลกระทบต่อการสื่อสาร การขับขี่ยานพาหนะ และสัญญาณดาวเทียม การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับรังสีคอสมิกอย่างต่อเนื่องทั้งจากพื้นโลกและจากอวกาศ จึงยังคงมีความจำเป็น เช่นปัจจุบันที่ไทยเตรียมพร้อมจะส่งดาวเทียมวิจัยไปโคจรรอบโลก




ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ2565 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" จากปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการแชร์ในสื่อโลกโซเชียลจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ปรากฏการณ์พายุสุริยะ" ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล ได้เป็นผู้ให้ความกระจ่าง โดยการทำหน้าที่มอบองค์ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ อย่างเต็มกำลังวิชาการมาโดยตลอด 

และยังรวมทีมสร้างกลุ่มวิจัยที่ผลิตผลงานด้านทฤษฎีและการวิเคราะห์ข้อมูลการเคลื่อนที่ของรังสีคอสมิกมายังโลกติดตั้งสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร ณ ยอดดอยอินทนนท์เพื่อวัดอนุภาคและพลังงานของรังสีคอสมิก ตลอดจนนำทีมวิจัยจากไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย โดยได้รับทุน10 ปีจาก Australian Antarctic Division (AAD) ดูแลและปรับปรุงเครื่องตรวจวัดนิวตรอน และอนุภาคมิวออน ณMawson Station ทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นการขยายผลเทคนิคที่พัฒนาขึ้นในไทยไปสู่ต่างประเทศอีกด้วย

ล่าสุดได้ร่วมสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม "เครื่องวัดรังสีคอสมิกในอวกาศ" ที่ได้มีการวางแผนจะติดตั้งไปกับภารกิจพิชิตอวกาศด้วยดาวเทียมที่ออกแบบโดยนักวิจัยไทยจากหลายสถาบัน ภายใต้ชื่อ Thai Space Consortium ซึ่งถือเป็นการบุกเบิกพัฒนาระบบนิเวศในการสร้างเทคโนโลยีทางอวกาศให้เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อไปอีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล กล่าวว่า สิ่งมีชีวิตบนพื้นโลกได้รับผลกระทบน้อยจากรังสีคอสมิกจากนอกโลกเนื่องจากอยู่บนพื้นผิวของโลกที่ได้รับการปกป้องด้วยสนามแม่เหล็กธรรมชาติ และชั้นบรรยากาศต่างๆ ในขณะที่ดาวเทียม ยานอวกาศ และนักบินอวกาศได้รับผลกระทบมากกว่า ซึ่งอาจมีความเสี่ยงมากจนทำให้นักบินอวกาศป่วยเป็นมะเร็ง หรือถึงแก่ชีวิต จึงจำเป็นต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว เพื่อติดตามผลกระทบจากพายุสุริยะ

นอกจากนี้ ถึงแม้จะยังไม่มีรายงานว่ารังสีคอสมิก หรือปรากฏการณ์พายุสุริยะครั้งที่ผ่านๆ มาส่วนใหญ่จะทำอันตรายโดยตรงต่อชีวิตบนพื้นโลก ก็ยังคงมีความจำเป็นต้องติดตามสภาพอวกาศอยู่เสมอ เพื่อการวางแผนรองรับในกรณีที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบพลังงานไฟฟ้า และดาวเทียม ซึ่งหมายความว่าระบบการสื่อสารจะได้รับผลกระทบต่อไปอีกด้วย

ไม่ว่าในอนาคตประเทศไทยจะบรรลุสู่การเป็นประเทศนวัตกรรมได้ตามกำหนดเวลาของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือภายในปีพ.ศ.2580 ได้หรือไม่นั้น สิ่งที่สำคัญกว่า คือวันนี้ไทยเราได้มีการกระตุ้นส่งเสริมให้เยาวชนไทยใส่ใจใฝ่เรียนรู้ พร้อมเปิดรับ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่มากน้อยเพียงใดซึ่งจะทำให้ประเทศไทยไปได้ไกลกว่าเป้าหมายที่จะก้าวสู่การเป็นประเทศนวัตกรรมในอนาคตได้ต่อไปอย่างแน่นอน โดยมหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมที่จะเป็นแกนนำในการสอนคนรุ่นใหม่ และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ที่จำเป็นเช่นนี้ต่อไป

ร่วมเป็นกำลังใจ และติดตามภารกิจการสร้างนวัตกรรม"เครื่องวัดรังสีคอสมิกในอวกาศ" พร้อมข่าวสารที่น่าสนใจได้ที่ https://science.mahidol.ac.th/th/
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ก.พ. 2565 เวลา : 17:56:38
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 1:53 am