เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บทความ สุรพล โอภาสเสถียร ตอนที่ 3/2556 : ใครว่าบ้านเราปล่อยกู้แบบบ้านๆแบบนี้ไม่ได้ ที่ไม่มี เพราะยังคิดในกรอบ


มีข่าวออกมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า ธปท. กำลังศึกษาจุดแข็งการเงินชาวบ้าน หรือท้องถิ่นที่มีอยู่ในระบบปัจจุบัน เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ สัจจะออมทรัพย์ หรือกองทุนหมู่บ้าน เพื่อพยายามหาคำตอบที่เหมาะที่ควรในการดำเนินนโยบายหรือการสร้างมาตรการสนับสนุนให้คนด้อยโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในทางที่ถูกต้อง หลุดพ้นจากการกดทับในเรื่องหนี้โหด หนี้ที่มีความเสี่ยงในด้านความปลอดภัย
 
เนื่องจากความเป็นจริงที่ว่ายังมีประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในพื้นที่ภูธรหรือพื้นที่นครบาลบางจุด ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบของสถาบันการเงิน จึงต้องอาศัยเงินทุนนอกระบบที่บางครั้งเอารัดเอาเปรียบในสิ่งที่เกินกว่าคนไทยควรทำกับคนไทยด้วยกัน ซึ่งท้ายสุดอาจทำเป็นข้อเสนอแนะให้บรรจุอยู่ในกรอบการทำงานของภาครัฐต่อไป ท่านผู้ว่าการฯ ได้กล่าวไว้น่าสนใจว่า

“สมมติว่าสถาบันการเงินมีคนเดินตลาดไปดูว่าพ่อค้าแม่ค้า คนเก็บของเก่า ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์มีตัวตนจริง เขาเหล่านั้นมาขอกู้วงเงินไม่สูงมากนักสัก 50,000 บาท สถาบันการเงินจะกระจายอำนาจได้หรือไม่ ทุกโมเดลเป็นไปได้หมด เพียงแต่เราคิดว่าจะใช้สถาบันการเงินที่มีอยู่ หรือให้คนท้องถิ่น/ประชาคมดูแลกันเอง เหมือนสหกรณ์ออมทรัพย์ สัจจะออมทรัพย์ ขณะนี้มีทีมเจ้าหน้าที่กำลังศึกษา”
 
 
นายประสาร ไตรรัตนวรกุล ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ธปท.มีแนวคิดอยากให้สถาบันการเงินกลับไปใช้ระบบการปล่อยแบบกระจายศูนย์ หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 สถาบันการเงินนิยมใช้โมเดลรวมศูนย์ที่มีมาตรฐานเครดิตสูงเกินไป แต่บางทีอาจจะไม่เหมาะสำหรับผู้ด้อยโอกาสที่อยู่กระจัดกระจาย ธปท. จึงตั้งโจทย์ให้ธนาคารพาณิชย์ลองคิดว่าจะใช้ระบบเครดิตแบบกระจายศูนย์ได้หรือไม่ เช่น ธปท. อาจอนุญาตให้สถาบันการเงินใช้เอเย่นต์แทนที่จะเป็นสาขาเต็มรูปแบบทำให้ต้นทุนถูกลง โดยให้อำนาจอนุมัติเครดิตกรณีวงเงินไม่สูงมากเกินไป ธนาคารจะทำหรือไม่ จะกระทบคุณภาพหรือไม่ เรื่องนี้ยังเป็นโจทย์ให้ทีมเจ้าหน้าที่ศึกษาด้วยว่าประเทศไทยในที่สุดแล้วต้องมีใครคนใดคนหนึ่งเข้ามาทำ

ตัวอย่าง ธนาคารปล่อยกู้ให้เจ้าของตลาดสดเพื่อเอาเงินไปพัฒนาให้ตลาดสะอาด สะดวก แข่งกับตลาดติดแอร์ได้ จากนั้นให้เจ้าของตลาดเป็นคนแนะนำแผงค้ามากู้ (เข้ามาเป็นตัวแทนแนะนำโดยได้รับค่าแนะนำ) เพราะเขารู้จักตัวตนของลูกค้าดีกว่าธนาคาร (KYC : Know Your Customer) เมื่อมีการกู้จริงเจ้าของตลาดก็ทำหน้าที่เก็บหนี้ส่งธนาคารทุกสองอาทิตย์ (เข้ามาเป็นตัวแทนเก็บหนี้โดยได้รับค่าเก็บหนี้) แผงค้าที่กู้เงินได้ก็เข้ามาสู่ระบบไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยโหด ชำระให้ดี ชำระให้ตรง ประวัติในเครดิตบูโรก็ดีไม่มีเสีย ทำอย่างนี้ชำระอย่างนี้ให้ครบสัก 6 เดือน 12 เดือน ก็สามารถไปขอกู้เพิ่มเป็นรถจักยานยนต์ รถกะบะส่งของ บ้านที่อยู่อาศัย โดยไม่ต้องแสดงสลิปเงินเดือน เพราะมันไม่มีในชีวิตจริง ธนาคารก็รู้จักตัวตนลูกค้ามากขึ้น ทุกคนในกระบวนการได้ประโยชน์หมด มันเกิดขึ้นแล้วและจะมากขึ้น ทั้งหมดคือ มีวินัย ใช้หนี้ตรง เครดิตดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง ขอบคุณครับ

สุรพล โอภาสเสถียร

ผู้จัดการใหญ่

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ม.ค. 2556 เวลา : 12:18:19
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:14 am