เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.แจงการทำงานห่วงกระทบความเชื่อมั่น


 

 
 
 
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้ออกเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริง  เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของธปท.ในระยะนี้ที่มีกระแสข่าวตามสื่อต่างๆ  ซึ่งอาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนและกระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ธนาคารกลางของประเทศ โดยชี้แจงใน 4 ประเด็นหลักได้แก่  ด้านบทบาทหน้าที่และความเป็นอิสระ        
 
โดยหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่าจะเป็น ธปท. กระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานอื่น ต่างมีจุดมุ่งหมายสูงสุดร่วมกัน คือ ความกินดีอยู่ดีของประชาชน  ซึ่งจะเกิดได้ ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพอย่างยั่งยืน ไม่สะดุดลงจากปัญหาวิกฤตเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ตลอดจนมีการกระจายรายได้ที่ทั่วถึงและเป็นธรรม ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจมหภาค ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงิน หรือนโยบายการคลัง   จึงต้องสอดประสานให้เหมาะสมกับภาวะและพื้นฐานของเศรษฐกิจ
 
 
                                            
 
 
ซึ่งในการพิจารณาประเด็นเชิงนโยบายต่างๆ นั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่ ผู้ว่าการ ธปท.และรัฐมนตรีคลัง  อาจมีความเห็นหรือมุมมองที่แตกต่างกันได้ โดยเฉพาะการให้น้ำหนักกับเศรษฐกิจในระยะสั้นกับระยะยาว  ซึ่งต้องอาศัยการหารือและพิจารณาในภาพรวม  ดังนั้นการร่วมกันพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยยึดประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ย่อมจะนำไปสู่ข้อสรุปที่เหมาะสมกับสถานการณ์ได้
                   
และจากผลการศึกษาและการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทยเป็นที่เชื่อถือและยอมรับ  มีกระบวนการที่ชัดเจน มีความโปร่งใส เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลอดจนมีประสิทธิภาพในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
 
ด้านการดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ยอมรับว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงต้นปีนี้  แม้จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม โดยในไตรมาสแรก ทั้งมูลค่าและปริมาณการส่งออก ยังขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และจากข้อมูลเบื้องต้นของเดือนเมษายนที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว ภาคธุรกิจที่บริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ดี ก็ยังสามารถรองรับผลจาก การแข็งค่าของเงินบาทได้
 
รวมทั้งจากการหารือเพื่อประเมินผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อเศรษฐกิจระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. และ ธปท. ภายใต้สมมติฐานการแข็งค่าของเงินบาทที่ระดับต่างๆ ได้ผลที่ค่อนข้างสอดคล้องกัน โดยพบว่าในกรณีเลวร้าย เช่น สมมติให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วมากต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี  ถึงแม้จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ปรับลดลงบ้าง แต่ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า การแข็งค่าของค่าเงินจะทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงมากถึงขั้นวิกฤต
 
 

ทั้งนี้ หาก กนง. ประเมินว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทมีความผันผวนผิดปกติ จนอาจส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่อาจจะไม่สามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ  กนง.ก็พร้อมที่จะพิจารณาทบทวนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และพิจารณาความจำเป็นในการใช้มาตรการเสริมเข้าดูแล รวมถึงประสานการใช้มาตรการอื่นๆ ภายใต้อำานาจกระทรวงการคลัง โดยจะพิจารณาความเข้มของมาตรการตามความจำเป็นและเหมาะสมของสถานการณ์

 

       
ด้านการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย  ธปท.ยืนยันว่า ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่  2.75% ไม่ได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และไม่ได้สูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาคที่มีระบบการเงินคล้ายคลึงกับไทย  และหากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง จะพบว่า อัตราดอกเบี้ยหักด้วยอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันของไทยอยู่ในระดับใกล้ศูนย์  ซึ่งบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจในต่างประเทศแสดงให้เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ประชาชนก่อหนี้มากขึ้น และผู้ออมเกิดแรงจูงใจนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่า
 
และปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณความร้อนแรง ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ตามหัวเมืองใหญ่  ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนยังขยายตัวสูง และหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระยะหลังที่เร่งขึ้นมาก มาอยู่ที่ 78% ของ GDP ทำให้การพิจารณาใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือจำเป็นต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อให้สามารถรักษาสมดุลในระบบเศรษฐกิจได้ในระยะปานกลางและระยะยาว
 
และประเด็นสุดท้ายการขาดทุนจากการดำเนินงานของ ธปท.ซึ่งในภาวะที่ ธปท.มีผลขาดทุน แต่หากการดำเนินงานยังเป็นที่เชื่อถือและสามารถอธิบายสาเหตุของการขาดทุนให้สาธารณชนเข้าใจและยอมรับได้ ผลขาดทุนของธปท.ก็จะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นและประสิทธิผลในการดำเนินนโยบาย
 
ทั้งนี้ ธปท.ได้ตระหนักในภาระการขาดทุนจากการดำเนินงานดังกล่าว และได้วางแนวทางเพื่อลดการขาดทุนดังกล่าว และปรับปรุงฐานะการเงินให้เข้มแข็งขึ้น โดยได้ดำเนินการขยายประเภทสินทรัพย์ ที่นำเงินสำรองทางการไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มโอกาสในการหาผลตอบแทน
 
ดังนั้นจึงขอให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า ธปท. จะยังคงดำเนินการตามหลักการและมาตรฐาน ในการดำเนินงานของธนาคารกลางที่เป็นที่ยอมรับตามหลักสากล โดยยึดมั่นต่อพันธกิจตามกฎหมายในการดูแลรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจการเงิน เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

LastUpdate 11/05/2556 12:14:17 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 1:06 am