การตลาด
"ซีพี ออลล์" เล็ง "เพิ่มศูนย์กระจายสินค้าภูมิภาค" รับการเติบโต AEC


 

 
 
 
แม้ชื่อ "ซีพี ออลล์" อาจไม่คุ้นเคยกันนักสำหรับคนทั่วไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชื่อของ "เซเว่น อีเลฟเว่น" (7-11) เป็นรู้จักกันตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดงไปจนถึงรุ่นคุณปู่คุณยายกันเลยทีเดียว เพราะเป็นร้านอิ่มสะดวกใกล้บ้าน ที่สามารถพึ่งพาให้อิ่มท้องได้ตลอด 24 ชั่วโมง เวลานี้เซเว่น อีเลฟเว่น ก้าวสู่ปีที่ 25 แล้วและยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงต้องเดินหน้ายุทธศาสตร์เพิ่มและกระจายศูนย์กระจายสินค้าไปยังส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับสาขาที่คาดว่าจะทะลุเป้าที่ 10,000 สาขา ภายใน 5 ปี รวมถึงการรวมเป็นตลาดเดียวของกลุ่มประเทศอาเซียน หรือที่เรียกว่า "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" (AEC)
 
 
 
 
นายพิทยา เจียรวิสิฐกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น เปิดเผยว่า เซเว่น อีเลฟเว่นเปิดดำเนินการมาเป็นเวลา 25 ปี จนปัจจุบันมีมากกว่า 7,000 สาขา มีสินค้ามากถึง 15,000 รายการ และมีลูกค้าเข้าร้านเป็นจำนวนมากถึง 9 ล้านคนต่อวัน โดยมีสาขากระจายไปครบแล้วทุกจังหวัด มีทั้งระดับอำเภอและตำบล คาดว่าจะขยายสู่เป้าหมายที่ 10,000 สาขาใน 5 ปี จากเหตุดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีระบบการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพมาช่วย เพื่อให้ส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ให้ลูกค้าได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพ
 
ปัจจุบัน ซีพี ออลล์ มีศูนย์กระจายสินค้า รวม 6 แห่ง แห่งล่าสุดได้แก่ ศูนย์กระจายสินค้าลำพูน ที่ใช้งบประมาณ 550 ล้านบาท มีพื้นที่ 17,000 ตรม. เพิ่งเปิดดำเนินการมาเป็นเวลา 6 เดือน รับผิดชอบกระจายสินค้าป้อนสาขาเซเว่น อีเลฟเว่นใน 14 จังหวัดทางภาคเหนือ ไม่รวมเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ฯ ที่บางบัวทอง ศูนย์ฯสุวรรณภูมิ สุราษฎร์ ขอนแก่นและชลบุรี ส่วนที่กำลังก่อสร้างอีก 1 แห่ง คือ ที่ มหาชัย จ.สมุทรสาคร มีขนาดใหญ่เป็นพื้นที่มากกว่า 25,000 ตรม.ใช้งบประมาณราว 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ราวต้นปีหน้า
 
 
 
 
ทาง ซีพี ออลล์ ยังมีแผนเปิดศูนย์ฯ เพิ่มอีก 3 ศูนย์ฯ เพื่อรองรับการเติบโตของสาขาภายใน 5 ปี ได้แก่ ทางภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลางตอนล่างและใต้ตอนล่าง ด้วยงบลงทุนแห่งละประมาณ 500-600 ล้านบาท เพื่อรองรับการกระจายสินค้าตามสาขาที่จะเพิ่มขึ้น อีกทั้งรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอีกมหาศาล ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือใต้หรืออีสาน กรุงเทพฯ ภาคตะวันออก โดยคาดว่า ทุกพื้นที่จะมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
               
ด้าน นายชูศิลป์ จิรวงศ์ศรี รองกรรมการผู้จัดการ สำนักกระจายสินค้า ผู้ดูแลศูนย์กระจายสินค้า (DC) ของเซเว่น อีเลฟเว่นทั้งหมด เปิดเผยถึงยุทธศาสตร์ของซีพี ออลล์ มุ่งสร้างเครือข่ายระบบศูนย์กระจายสินค้า เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งและการกระจายสู่ภูมิภาค เพื่อให้เข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคและให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าคุณภาพ ขณะเดียวกันยังมีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที (IT) มาช่วยเพื่อให้ทำงานได้ถูกต้องแม่นยำและรวดเร็ว และยังเน้นทำระบบโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า Green Logistic ด้วย
 
นายชูศิลป์ยังกล่าวว่า การสร้างศูนย์ฯในภูมิภาคยังส่งผลดีต่อท้องถิ่นที่ไปตั้ง เช่น ทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ 500-1,000 คน ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐาน เกิดธุรกิจต่อเนื่องในชุมชน นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ในท้องถิ่นมีโอกาสร่วมงานกับเซเว่น อีเลฟเว่น ได้นำสินค้าเข้าไปวางขาย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายสินค้าได้เร็วขึ้น ผู้บริโภคได้สินค้าสดใหม่ขึ้น แบ่งเบาภาระศูนย์ฯอื่น ๆ   
 
 
 
 
โดยภาพรวมกล่าวได้ว่า การทำระบบกระจายสินค้าเป็นประโยชน์ต่อหลายฝ่าย
 
กลุ่มแรกได้แก่ ผู้บริโภคได้สินค้าตรงตามต้องการ ตลอดเวลา ได้สินค้าสดใหม่ หาซื้อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้สะดวกและสามารถซื้อสินค้าSME ต่างถิ่นได้ 
 
ขณะเดียวกันยังเป็นประโยชน์ต่อร้านสาขา ที่สามารถสั่งครั้งเดียวได้สินค้าครบถ้วนซึ่งสินค้าจะส่งทุกวันประมาณ 70% ของร้านสาขา
 
นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิต ช่วยประหยัดต้นทุน เนื่องจากให้ศูนย์ฯทำหน้าที่ส่งแทนไม่ต้องไปส่งตามร้านสาขาแบบเดิม ทำให้ขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการ SMEs มีช่องทางขายสินค้า
 
สุดท้ายเป็นประโยชน์ต่อสังคม-ชุมชุม-ประเทศ ด้วยก่อให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น เกิด SMEs ใหม่ ๆ ลดความแออัดของจราจร เนื่องจากขนส่งในเวลากลางคืน จึงช่วยประหยัดเชื้อเพลิง ลดมลพิษ ทำให้ช่วยลดเวลาในการขนส่ง ส่งได้เร็วขึ้น ที่ช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งตามมาและช่วยลดอุณหภูมิให้กับโลก
  
 

LastUpdate 13/05/2556 15:20:58 โดย : Admin
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 11:02 am