การตลาด
สกู๊ป : "โออิชิ"ผนึก "เอฟแอนด์เอ็น" ชิมลาง "ตลาดชาเขียวมาเลเซีย"


 

 

 

ประกาศความร่วมมือไปเรียบร้อยแล้วสำหรับ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กับ "เอฟแอนด์เอ็น เบเวอเรจเจส มาร์เก็ตติ้ง เอสดีเอ็น บีเอชดี หรือ เอฟแอนด์เอ็นเบเวอเรจเจส” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีซ โฮลดิ้งส์ เบอร์ฮาด ในประเทศมาเลเซีย หลังจากที่เอฟแอนด์เอ็นได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทในกลุ่มไทยเบฟ

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธที่โออิชิ  จะประกาศศักดาขนทัพสินค้าเข้าไปบุกตลาดต่างประเทศภายใต้เครือข่ายธุรกิจของเอฟแอนด์เอ็น  โดยเบื้องต้น โออิชิ  จะใช้ฐานที่มั่นของเอฟแอนด์เอ็นในมาเลเซียรุกตลาดมาเลเซีย  บรูไน และสิงคโปร์  หลังจากนั้นจะเริ่มสบายปีกในประเทศอื่นๆ ของตลาดอาเซียนและเอเชีย

ในส่วนของแผนการทำตลาดในประเทศมาเลเซีย  โออิชิจะเข้าไปบุกตลาดด้วยการเสิร์ฟความสดชื่นผ่านช่องทางร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทั้ง 1,460 สาขาทั่วประเทศมาเลเชีย   ซึ่งช่องทางดังกล่าวถือเป็นช่องทางที่เอฟแอนด์เอ็น  มีศักยภาพเครือข่ายการจัดจำหน่าย  เช่นเดียวกับช่องทางร้านค้า และร้านอาหารที่อยู่ทั่วประเทศมาเลเซีย 

 

 

นายแมทธิว กิจโอธาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  การผนึกกำลังกับเอฟแอนด์เอ็น เบเวอเรจเจส ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัท  ในการบุกเข้าไปทำตลาดประเทศมาเลเซีย  เนื่องจากตลาดดังกล่าวเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีโอกาสในการเติบโตสูง  แม้ว่าผู้บริโภคชาวมาเลเซียจะมีแต่กว่า 29 ล้านคน  แต่จากกำลังซื้อต่อหัวที่ค่อนข้างสูงกว่าประเทศไทย  จึงทำให้บริษัทเล็งเห็นโอกาสในการเข้าไปทำตลาดดังกล่าว  

ด้วยศักยภาพที่ เอฟแอนด์เอ็น เป็นผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย  ด้วยการครองส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 27% ครองใจผู้บริโภคชาวมาเลย์มาอย่างยาวนานกว่า 130 ปี  เพราะมีเครือข่ายจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมมากที่สุด  ด้วยการมีร้านค้าเครือข่ายจำนวน 72,000 แห่ง  รถส่งสินค้ารวม 411 คัน ตู้แช่จำนวน 60,000 ตู้ และตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติรวมถึง 5,100 แห่ง

นอกจากนี้ ยังมีโรงงานผลิตเครื่องดื่ม 5 แห่งทั่วประเทศ โดยจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในเครือเอฟแอนด์เอ็นหลากหลายแบรนด์ ได้แก่ เครื่องดื่ม 100 พลัส (100PLUS) เอฟแอนด์เอ็น ฟัน เฟลเวอร์ส (F&N Fun Flavours) ซีซันส์ (SEASONS) มายโคลา (myCola) ฟรุตทรี (Fruit Tree) น้ำแร่ไอซ์เมาเท่น (Ice Mountain Mineral Water) และเอฟแอนด์เอ็น คอร์เดียลส์ (F&N Cordials)  จึงทำให้โออิชิมีความมั่นในในการเข้าไปสยายปีกในประเทศมาเลเซีย

 

 

เบื้องต้นของการทำตลาด  โออิชิ  จะนำสินค้าชาเขียวโออิชิเข้าไปเปิดตลาดก่อน หลังจากนั้นจะตามด้วย  โออิชิ ฟรุตโตะ ชาคูลซ่าส์  เนื่องจากตลาดเครื่องดื่มในมาเลเซียที่ไม่มีแอลกอฮอล์มีมูลค่าสูงกว่า 70,000 ล้านบาท  ในตลาดดังกล่าวเป็นตลาดชาพร้อมดื่มประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท จึงถือเป็นโอกาสที่โออิชิจะก้าวเข้าไปสร้างอนาจักรชาเขียว 

มูลค่าตลาดชาเขียวดังกล่าวของประเทศมาเลเซียถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศไทยที่มีมูลค่าสูงถึง 14,000  ล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดเครื่องดื่มไม่รวมแอลกอฮอล์ก็มีมูลค่าสูงถึง 140,000 ล้านบาท  เนื่องจากการดื่มชาเขียวพร้อมดื่มของคนมาเลเซียยังอยู่ในระดับต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ประมาร  0.94 ลิตรต่อคนต่อปีเท่านั้น  ขณะที่คนไทยดื่มที่ประมาณ 5.8 ลิตรต่อคนต่อปี  ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่เล็กมากเมื่อเทียบกับประเทศไทย  จึงทำให้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก  และหากโออิชิสามารถเข้าไปสร้างฐานลูกค้าในประเทศมาเลเซียให้ติดตลาดได้  การก้าวขึ้นเป็นที่ 1 ในประเทศมาเลเซียก็ไม่ใช่เรื่องที่ยาก

นายแมทธิว  กล่าวว่า  มาเลเซียเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูง  แม้จะมีประชากรแค่ 29 ล้านคน แต่ก็เป็นฐานที่โออิชิ  สามารถขยายตลาดเข้าไปเจาะกลุ่มลูกค้าในประเทศอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นบรูไนหรือสิงคโปร์  ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักที่โออิชิต้องการเข้าไปทำตลาด คือ กลุ่มลูกค้าอายุ 15-39 ปี  เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวมีสัดส่วนมากถึง 44% ของประชากรมาเลเซียทั้งหมด และกว่า 72% อาศัยอยู่ในเมือง มีรายได้ประมาณ 30,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ถือว่ามีกำลังซื้อสูงมาก  

 

 

กลยุทธการทำตลาดชาเขียวในประเทศมาเลเซีย  โออิชิ ได้วางราคาขายสินค้าไว้ที่ขวดละ 26 บาท  ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่ขายในประเทศไทย 1 เท่าตัว  ขณะที่รสชาติสินค้าที่จะนำเข้าไปทำตลาดก็จะมีด้วยกัน  4 รสชาติ ได้แก่ ชาเขียวรสต้นตำรับ  ชาเขียวรสน้ำผึ้งผสมมะนาว ชาเชียวรสข้าวญี่ปุ่น และชาดำรสมะนาว จำหน่ายในบรรจุภัณฑ์แบบขวดพีอีที ขนาด 380 มิลลิลิตร ซึ่งจากการศึกษาตลาดพบว่าขนาดดังกล่าวเป็นขนาดผู้บริโภคให้ความสนใจ

นอกจากนี้ โออิชิยังมีแผนที่จะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท  เพื่อทำกิจกรรมการตลาดในปีแรก โดยเมื่อวันที่  3  มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้เริ่มวางจำหน่ายที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นจำนวน 200 กว่าสาขาแล้ว จากจำนวนทั้งหมด 1,460 สาขาทั่วประเทศ คาดว่าจากนี้อีก 3 เดือนจะเข้าครบทุกสาขา และแผนต่อไปจะเข้ามินิมาร์ทในปั๊มน้ำมัน และคอนวีเนียนสโตร์อื่นอีก 4 แบรนด์ใหญ่ รวม 3,800 สาขา และตามด้วยซูเปอร์มาร์เกต และไฮเปอร์มาร์ท 

หลังจากเข้าไปทำตลาดเครื่องดื่มในประเทศมาเลเซีย โออิชิคาดว่าปีแรกจะมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 140 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมปีนี้ของโออิชิกรุ๊ปมีประมาณ 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเครื่องดื่มประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท และอาหารประมาณ 9,000 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากต่างประเทศประมาณ 7-10% เพิ่มจากปีที่แล้วที่มี 3%

นายดาโต๊ะ อึ้ง จุย เซีย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีซ โฮลดิ้งส์ เบอร์ฮาด ประเทศมาเลเซีย  กล่าวว่า  ตลาดชาพร้อมดื่มในมาเลเซียกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับเทรนด์การบริโภคเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มาแรงทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันในตลาดชาพร้อมดื่มในมาเลเซียมีเพียง 3% ของตลาดเครื่องดื่มทั้งหมด แบ่งเป็นชาดำ 54% ชาเชียว 41% และอื่นๆ 5%  การที่บริษัทได้แบรนด์ชาเขียวโออิชิ  เข้ามาจำหน่ายเพิ่มเติมถือเป็นเติมเต็มพอร์ตโฟลิโอชาของบริษัทได้อย่างดี  เพราะโออิชิเป็นชาเขียวที่วางตำแหน่งเป็นชาเขียวญี่ปุ่น หรือตะวันออก ขณะที่แบรนด์ซีซันของบริษัทวางตำแหน่งสินค้าเป็นชาเขียวตะวันตก

ปัจจุบันตลาดชารวมในมาเลเซียมี 2 แบบใหญ่ คือ ชาพร้อมดื่ม โดยพ็อกก้าของซับโปโรเป็นผู้นำตลาดด้านชาเขียว ตามด้วยแบรนด์โย ส่วนชาดำ แบรนด์ซีซันเป็นผู้นำตลาด ตามด้วยแบรดนด์ลิปตัน ส่วนอีกกลุ่ม คือ ชาท้องถิ่นที่ชงขายตามร้านทั่วไป

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเอฟแอนด์เอ็นถือว่าเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มชาด้วยแชร์มากกว่า 32% แล้ว และมีเป้าหมายให้โออิชิเป็นผู้นำตลาดชาเขียวในมาเลเซียและในภูมิภาคนี้ต่อไปด้วย เช่นเดียวกับที่สินค้าในเครือของเอฟแอนด์เอ็น  ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้นำในตลาดในหลายกลุ่มสินค้าของประเทศมาเลเซีย  เช่น น้ำอัดลมมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 28% ชาดำมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ  32% และเครื่องดื่มพลังงานมีส่วนแบ่งอยู่ที่ประมาณ 55%  จากการครองความเป็นผู้นำตลาดในหลายกลุ่มสินค้า ส่งผลให้เอฟแอนด์เอ็นมีส่วนแบ่งการตลาดรวมในกลุ่มเครื่องดื่มมากกว่า 27%

 

 

นายดาโตธ กล่าวปิดท้ายว่า  หลังจากนำขาเขียวโออิชิเข้ามาทำตลาดในประเทศมาเลเซีย ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะขยายพอร์ตโฟลิโอการร่วมมือกันครั้งนี้ไปยังตลาดสแน็ก(ขนมขบเคี้ยว)  อาหาร และร้านอาหาร ซึ่งปัจจุบันโออิชิมีสินค้าดังกล่าวเข้าทำตลาดอยู่แล้วในประเทศไทย แต่ก่อนที่จะมีการนำสินค้ากลุ่มดังกล่าวเข้ามาทำตลาดเบื้องต้นบริษัทวางแผนจะผลิตชาเขียวโออิชิแบบกระป๋องในมาเลเซียก่อน โดยเบื้องต้นคาดว่าต้องลงทุนเพิ่ม 50 ล้านบาท คาดว่าปีหน้าจะเริ่มผลิตสินค้าได้ ซึ่งการที่บริษัทมีแผนที่จะผลิตชาเขียวโออิชิกระป๋องในประเทศมาเลเซีย  เพราะว่าสินค้าแบบกระป๋องได้รับความนิยมสูงสุดในมาเลเซีย นอกจากนี้ ในอีก 6 เดือนข้างหน้า บริษัทยังมีแผนที่จะนำชาเขียวโออิชิ  ยื่่นขอจดสิทธิบัตรและยื่นขอมาตรฐานอาหารฮาลาล

      
 


LastUpdate 11/06/2556 03:55:31 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 9:35 am