อสังหาริมทรัพย์
แนะสร้าง "อาคารประหยัดพลังงาน" สร้างผลตอบแทนมาก และคืนทุนเร็วกว่าอาคารปกติ


 


           
 
 
กระแสลดโลกร้อนที่กำลังมาแรงในขณะนี้ ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากหันมาให้ความสนใจพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือช่วยอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยที่สุด
 
นั่นเพราะส่วนหนึ่งมาจากความต้องการช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ขณะเดียวกันก็ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทข้ามชาติรวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ในเมืองไทยที่ต้องการใช้สินค้าและบริการที่มีส่วนช่วยลดโลกร้อน
   
บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบการรายแรกๆ ที่ลงทุนก่อสร้างโครงการอาคารประหยัดพลังงานหรือGreen Building คือ "โครงการอาคารปาร์ค เวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์" จนทำให้ อาคารปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ ได้รับรางวัลระดับเวิร์ลคลาสแห่งแรกของประเทศไทย คือ รางวัล The first LEED® Platinum Mixed-use Building in Thailand จากสหรัฐอเมริกา

อาคารปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ เป็นโครงการอนุรักษ์พลังงาน ตั้งอยู่บนหัวมุมถนนสุขุมวิท ตัดกับถนนวิทยุ อยู่ใจกลางเพลินจิตซิตี้ ติดสถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต บนพื้นที่กว่า 5 ไร่ ความสูง 34 ชั้น มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 81,400 ตารางเมตร แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ สำนักงานให้เช่าระดับพรีเมี่ยม ตั้งแต่ชั้น 8-22 โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว สัญชาติญี่ปุ่นชั้นนำของโลก ‘โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ’ ชั้น 23-34 และพื้นที่ร้านค้า ชั้น 1-2  นับเป็นอาคารรูปแบบใหม่ที่มีการออกแบบอันโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมที่ได้รับแรงบันดาลจาก การประนมมือไหว้ และดอกบัว สะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยอันงดงาม อันแฝงด้วยความทันสมัย และมีระดับ
 
 
 
นายธนพล ศิริธนชัย กรรมการ บริษัท ยูนิเ้วนเจอร์ กล่าวว่า การลงทุนก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงาน แม้ว่าจะทำต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้นราว 10-15% แต่ในทางธุรกิจ อาคารแห่งนี้กลับสร้างผลตอบแทนในรูปของค่าเช่าสูงกว่าอาคารสำนักงานในย่านเดียวกัน โดยมีอัตราค่าเช่าสูงถึง 1,000 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ขณะที่อาคารในย่านเดียวกันค่าเช่าเพียง 850 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน อีกทั้งอัตราการเช่ายังสูงถึง 90% ทั้งที่อาคารพึ่งเปิดให้เช่าไม่ถึง 2 ปี จากเดิมที่คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี จึงจะมีผู้เช่าเต็ม ทำให้คาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนเร็วกว่าการสร้างอาคารแบบปกติ

นั่นเป็นเพราะว่า บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่และบริษัทขนาดใหญ่ในเมืองไทยเลือกใช้พื้นที่อาคารสำนักงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีมาตรการในการใช้พลังงานแบบประหยัดที่ชัดเจน แม้ว่าจะมีค่าเช่าแพงกว่าอาคารทั่วไป แต่จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าลงมาก ซึ่งคุ้มค่าหากต้องเสียค่าเช่าราคาแพงขึ้น 

อาคารปาร์ค เวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ นอกจากจะออกแบบให้เป็น Green Building แล้ว ยังรณรงค์ให้ผู้เช่าทุกรายร่วมมือกันประหยัดไฟฟ้า ประหยัดกระดาษ และเป็นอาคารสำนักงานใจกลางเมืองแห่งเดียวที่จัดที่จอดรถจักรยานสำหรับผู้เช่าและผู้มาติดต่อ ซึ่งผู้เช่าและผู้มาติดต่อพึงพอใจมาก เห็นได้จากมีรถจักรยานมาจอด ขณะที่อาคารบริเวณเดียวกันไม่มีที่จอดรถจักรยาน ปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้เช่าตัดสินใจเช่าอาคารปาร์ค เวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ เป็นสำนักงาน 

"หลังจากเข้าใช้พื้นที่แล้ว บริษัทยังมีเป้าหมายการอยู่ร่วมกันกับผู้เช่าทุกรายให้ดำเนินธุรกิจแบบอนุรักษ์พลังงานที่ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ตระหนักถึงการบริโภคกระดาษ จึงรณรงค์ให้ลดปริมาณการใช้กระดาษ และหากใน 1 ปี ผู้เช่าในอาคารปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ร่วมมือกัน ลดใช้กระดาษผ่าน 3R’s คือ Reduce Reuse และ Recycle จะสามารถลดพลังงานได้เท่ากับ กระดาษ 1,000,000 แผ่น ต้นยูคาลิปตัส 200 ต้น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซต์ 25,000 กิโลกรัม" นายธนพลกล่าว

แนวคิดของนายธนพล สอดคล้องกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ (FIABCI) ที่รายงานว่า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในยุคใหม่ จะเน้นการเข้าถึงธรรมชาติ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่อิงความกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม และมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศที่ต้องการพักอาศัย หรือทำงานในอาคารสำนักงานที่ถูกออกแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติน้อยที่สุด  ส่วนการประเมินค่าทรัพ์ย์สินนั้น อาคารที่ออกแบบในลักษณะรักษาสิ่งแวดล้อม จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าอาคารที่ก่อสร้างแบบปกติ
  
ขณะที่ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย คาดการณ์ว่า แนวโน้มความต้องการพื้นที่อาคารสำนักงานในกรุงเทพฯเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมีความต้องการอาคารสำนักงานเกรดเอ ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง ติดรถไฟฟ้า ปัจจุบันมีพื้นที่อาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ รวม 4,628,564 ตารางเมตร และจะมีพื้นที่ใหม่จำนวน 57,000 ตารางเมตรเข้าสู่ตลาดในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ และอีกจำนวน 200,529 ตารางเมตรในปี 2557
               
               

LastUpdate 23/06/2556 19:40:05 โดย : Admin
10-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 10, 2024, 8:34 am