เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
TMB คาดส่งออก 2556 หลุดเป้า อาจโตแค่ 3.5% ต่อปี


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินส่งออกของไทยปีนี้ขยายตัวน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาด หลังพบสัญญาณแผ่วลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในครึ่งปีหลัง ทำให้อาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 3.5 ต่อปี

กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขส่งออกล่าสุด แสดงให้เห็นถึงมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2556 หดตัวถึงร้อยละ -5.2 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ -4.1 ต่อปี นับเป็นการหดตัวครั้งที่ 2 ของปี โดยสินค้าหลักที่หดตัวได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของส่งออกรวม

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ยากที่การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี จะเติบโตได้อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ในช่วงร้อยละ 5 - 7 ต่อปี นอกจากนี้ ยังมองว่าใน 7 เดือนที่เหลือ การส่งออกของไทยจะขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี และจะทำให้การส่งออกไทยในปี 2556 นี้ อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 3.5 ต่อปีเท่านั้น โดยการส่งออกในช่วง 7 เดือนที่เหลือนั้น ต้องมีมูลค่าเฉลี่ย 20,475 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อเดือน ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีต

สาเหตุหลักที่จะส่งผลให้การส่งออกไทยขยายตัวได้น้อยกว่าคาด มาจากสัญญาณทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ อันได้แก่ สหภาพยุโรป และจีน ที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงในไตรมาส 2 และยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะฟื้นกลับมาในครึ่งปีหลัง โดยเศรษฐกิจยุโรปคาดว่ายังคงหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนจากปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะที่ยังคงหาทางออกไม่ได้  นอกจากนี้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่ใช้เป็นตัวชี้นำภาคการผลิตมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจัดทำโดยธนาคารเอชเอสบีซีของจีน ที่หดตัวในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของไตรมาส 2 ประกอบกับยอดค้าปลีกที่ขยายตัวต่ำกว่าปีก่อน บ่งชี้ถึงสัญญาณการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน ในส่วนของเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้น ถึงแม้จะมีการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่การบริโภคภายในประเทศยังคงอ่อนแอ สะท้อนจากยอดค้าปลีกหดตัว 3 เดือนติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ มีเพียงแค่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เห็นสัญญาณฟื้นตัวจากยอดค้าปลีกที่ขยายตัวเร่งขึ้นในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2 และภาคการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้ภาพรวมยังไม่แข็งแกร่งอย่างเต็มที่หลังตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ที่ถูกปรับลดลง และเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน 5 ที่คาดว่าเศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ดีในปีนี้ แม้มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาคส่งออกที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับไทย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินว่า การส่งออกสินค้าเกษตรจะหดตัวในปีนี้ ซึ่งใน 5 เดือนแรกของปี หดตัวไปแล้วถึงร้อยละ -5.9 ต่อปี โดยเฉพาะยางพาราที่มูลค่าส่งออก 5 เดือนหดตัวร้อยละ -11 จากราคาที่ยังตกต่ำอยู่ และกุ้งที่ประสบปัญหาจากโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) อีกทั้งสหรัฐฯ อาจใช้มาตรการภาษีตอบโต้มาตรการอุดหนุนการส่งออกกุ้งของไทย ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี ส่งออกกุ้งหดตัวไปแล้วถึงร้อยยละ -30.3 ต่อปี  ส่วนมูลค่าการส่งออกข้าว คาดว่าจะขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยหากมีการเร่งการระบายข้าวจากสต็อกรัฐบาลออก

ในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ถึงแม้มูลค่าส่งออกรถยนต์จะมีสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีเนื่องจากมีตลาดที่เศรษฐกิจขยายตัวได้รองรับ ได้แก่ อาเซียน-5 ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ทดแทนยอดขายรถยนต์ในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงหลังนโยบายรถยนต์คันแรกสิ้นสุดลง แต่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบียังคาดว่ามูลค่าส่งออกหมวดสินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะชะลอตัวลงตามแนวโน้มอุปสงค์ในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมหลักอย่างอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ตัวเลขการนำเข้าชิ้นส่วนของหมวดเดียวกันหดตัวร้อยละ -5.3 ใน 5 เดือนแรกของปี เป็นการบ่งชี้การชะลอตัวของส่งออกหมวดดังกล่าวในระยะต่อไป เพราะมีตลาดหลักในสหรัฐฯ จีน และยุโรป ที่ภาพรวมยังไม่แข็งแกร่งมาก  หรือ การส่งออกทองคำแท่งที่ในช่วงที่เหลือของปีจะไม่สูงมากจากราคาทองคำที่ยังอยู่ในขาลง ตรงกันข้ามกับช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนของปีก่อนหน้าที่มีการเร่งส่งออกทองแท่งจากราคาที่อยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี ได้รับประโยชน์จากฐานการคำนวณที่ต่ำในไตรมาส 4 ปี 2554 จากสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งในไตรมาส 4 ปี 2556 ฐานการคำนวณได้กลับสู่ภาวะปกติ ทำให้การส่งออกในช่วงท้ายของปีนี้ ไม่มีตัวช่วยเหมือนปีก่อน

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 มิ.ย. 2556 เวลา : 14:24:12
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 3:01 am