เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
แบงก์ฟันธง "ดอกเบี้ย" ครึ่งปีหลังลงแน่! สองสลึง


 

กูรูเตือน "เศรษฐกิจไทย" ครึ่งปีหลังติดหล่ม หั่นจีดีพีลงเหลือ 4-4.5% รับสารพัดปัจจัยลบ เชื่้อครึ่งปีหลังดอกเบี้ยลงแน่ 0.25-0.50% แนะแบงก์ชาติ "ลดดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมอัดฉีดเงินเข้าระบบเพิ่มขึ้น" เพื่อกดให้ดอกเบี้ยแบงก์พาณิชย์ขยับลงตาม
 
 
 
 
 
นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ธนาคารปรับมุมมองต่อคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าจะขยายตัวเพียง 4-4.5% จากเดิมอยู่ที่ 4.5-5% เนื่องจากปัจจัยลบต่อภาวะเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังมีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการส่งออกที่ค่อนข้างได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ชะลอตัวลง ซึ่งคาดการณ์ว่าปีนี้การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้เพียง 5% เท่านั้น

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เคยมี เช่น โครงการรถคันแรก ก็หมดไปแล้ว ทำให้ภาคการบริโภคอาจจะชะลอตัวลงจากหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง และรายได้ภาคเกษตรก็ได้รับผลกระทบ จึงน่าจะเป็นแรงสนับสนุนให้การเติบโตได้ไม่มากนัก ขณะที่ภาคการลงทุนของทั้งรัฐบาลและเอกชนก็สะดุด จึงไม่น่าจะเริ่มการลงทุนในปีนี้ได้ แรงส่งส่วนนี้ก็จะไม่เยอะอีกเช่นกัน

เขากล่าวถึงปัจจัยภายนอกว่า ยังผันผวนอยู่มากพอสมควร โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งกระทบในแง่การส่งออกของไทยค่อนข้างมาก และกรณีการลดมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ที่ประเมินว่าไม่น่าจะลดลงได้ตามที่คาดการณ์ น่าจะช้าออกไปจนถึงปีหน้า เพราะเศรษฐกิจสหรัฐไม่น่าจะดีขึ้นมากอย่างที่ FED คาดการณ์ว่าจะลด QE ได้อีกด้วย

 
 
 
"ครึ่งปีหลังนี้น่าจะเห็นการลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25-0.50% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวขึ้น ซึ่งการใช้มาตรการทางการเงินก็มีข้อจำกัด คงทำได้ระดับหนึ่ง ลดไปกว่านี้ก็ไม่ไหว เพราะยังมีความกังวลเรื่องภาวะหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวขึ้นสูงและภาวะการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และเสี่ยงจะกระทบกับภาคการออมเงินของประเทศด้วย"

เขากล่าวอีกว่า นอกจากลดดอกเบี้ยแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็ต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ในระบบเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อให้ดอกเบี้ยในตลาดเงินขยับตามนโยบาย เพราะการลดดอกเบี้ยครั้งที่ผ่านมาก็ยอมรับว่าผิดปกติไปบ้างที่ตลาดเงินไม่ลดตาม เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดมีไม่มากนัก ทุกแบงก์จึงยังต้องการตุนสภาพคล่องกันไว้ก่อน แต่ครั้งนี้ถ้าจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องทำควบคู่กัน เชื่อว่าคงส่งผลให้แบงก์ต้องลดดอกเบี้ยตามเช่นกัน

 
 
 
ด้าน นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคและจุลภาค บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยฯ เตรียมจะปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงมาอยู่ที่ประมาณ 4% ต้นๆ จากเดิมที่วางกรอบ 4.3-5.3% โดยกำหนดค่ากลางที่ 4.8% เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง ทั้งจากภาคการส่งออกที่ต่ำกว่าคาด และประเมินใหม่ว่าส่งออกจะขยายตัวได้เพียง 4% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 7% รวมถึงภาคการบริโภคและการลงทุนเอกชนก็ชะลอเช่นกัน

ขณะที่โครงการลงทุนภาครัฐที่ถูกเลื่อนออกไปนั้น นางพิมลวรรณกล่าวว่า อาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย เพราะลักษณะเป็นโครงการระยะยาวที่ทยอยลงทุนเป็นระยะๆ ซึ่งที่ผ่านมาทางศูนย์วิจัยฯ ไม่ได้ใส่ปัจจัยนี้ลงไปคำนวณการเติบโตทางเศรษฐกิจมากนักอยู่แล้ว

สำหรับผลกระทบภาคสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์นั้น คาดว่าไม่น่าจะกระทบมาก เพราะส่วนใหญ่ธนาคารพาณิชย์จะยังไม่ได้ประเมินปัจจัยเรื่องโครงการลงทุนของภาครัฐเข้าไปอยู่แล้ว แต่ส่วนที่กระทบบ้างก็จะเป็นผลจากการปรับลดอัตราจีดีพีลง ซึ่งสินเชื่อก็จะชะลอตัวตามเป็นปกติ เมื่อความต้องการสินเชื่อไม่มากนัก สภาพคล่องก็ไม่ตึงตัวมาก ฉะนั้นในปลายปีก็อาจจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยลงได้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ก.ค. 2556 เวลา : 07:01:18
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 11:33 pm