สุขภาพ
"สเตมเซลล์บำบัด" ทางเลือกรักษา "จอตาเสื่อม"






 

 
 
 
 

ในรอบหลายปีมานี้ “สเตมเซลล์” หรือ “เซลล์ต้นกำเนิด” กลายเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น ด้วยถูกมองว่าเป็น เซลล์มหัศจรรย์ที่จะสามารถเยียวยา ฟื้นฟูหรือแม้แต่สร้างใหม่ ตั้งแต่ระดับเซลล์ไปจนถึงอวัยวะ สำหรับใช้ปลูกถ่ายแทนของเก่าที่เสื่อมหรือเป็นโรคเพื่อช่วยชะลอ ลดหรือแม้แต่หยุดความเสื่อมของร่างกาย เหล่านักวิจัยทั่วโลกจึงทุ่มศึกษาวิจัยสเต็มเซลล์เพื่อหวังดึงศักยภาพของสเตมเซลล์มาใช้ประโยชน์ เป็นอนาคตของการบำบัดรักษาโรค

 

 
 
 
 
“สเตมเซลล์” คือ เซลล์ที่ไม่จำเพาะ มีคุณสมบัติพิเศษสามารถแบ่งตัวเป็นเซลล์ของเนื้อเยื่อชนิดต่างๆในร่างกายได้ ขณะเดียวกันยังสามารถแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนสำเนาตัวเองหรือเป็นสเตมเซลล์เหมือนเดิมได้ และพัฒนาไปเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่จำเพาะได้ เช่น พัฒนาเป็นสเตมเซลล์ประสาทเพื่อให้เจริญเติบโตเป็นเซลล์ประสาท เซลล์หัวใจหรือกล้ามเนื้อ เป็นต้น
 
 
 
 
สเต็มเซลล์สามารถมาจากแหล่งใดได้บ้าง ? คำตอบคือ  มาจาก 2 แหล่งใหญ่ที่ทำให้แบ่งสเตมเซลล์ได้ 2 ประเภท คือ สเตมเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์หรือสัตว์ (Embryonic Stem Cell) (แต่ในที่นี้ขอเน้นที่สเตมเซลล์มนุษย์) เป็นสเต็มเซลล์ที่เก็บจากก้อนตรงกลางด้านบน ที่เรียกว่า "inner cell mass" ของตัวอ่อนในครรภ์ในระยะ blastocyst หรือมีอายุเพียง 3-5 วันหลังการปฏิสนธิ ซึ่งจะมีจำนวนเซลล์ไม่มาก เมื่อเทียบกับสเตมเซลล์ที่ได้จากเนื้อเยื่อที่โตเต็มวัย แต่มีศักยภาพสูงสามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์อื่นๆ ได้มากกว่า 200 ชนิดซึ่งประกอบขึ้นเป็นร่างกายมนุษย์  
 
ส่วนอีกประเภท คือ สเตมเซลล์ผู้ใหญ่ (Adult Stem Cell)  คือ สเตมเซลล์ที่เก็บจากเนื้อเยื่อที่โตเต็มวัยหรือในผู้ใหญ่ เช่น จากไขกระดูก เลือด ผิวหนัง ฟันน้ำนม เลือดสายสะดือ ไขมันหรือแม้แต่ในเลือดประจำเดือน เป็นต้น
 
 
 
 
การเป็นจุดแรกเริ่มชีวิตของ“สเตมเซลล์” เหล่านักวิทยาศาสตร์และแพทย์จึงเชื่อว่า จะเป็นกุญแจสำคัญของการรักษาโรคในอนาคต โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากความเสื่อมและโรคทางพันธุกรรมที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ในปัจจุบัน เช่น ธาลัสซีเมีย ลิวคิเมียหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน อัมพาต เนื่องจากไขสันหลังบาดเจ็บ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และเบาหวาน ให้หายขาดได้ 
 
ที่ผ่านมาเหล่านักวิจัยพยายามศึกษาสเตมเซลล์บำบัดทั้งที่นำเซลล์ไปรักษาโดยตรง รวมถึงการพยายามพัฒนาให้เป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่อเฉพาะเพื่อนำไปแทนที่ของเดิม หรือแม้แต่ความพยายามจะพัฒนาเซลล์ให้กลายเป็นชิ้นส่วนหรืออวัยวะที่สมบูรณ์ทั้งชิ้น เพื่อใช้สำหรับการปลูกถ่าย ซึ่งมีรายงานความคืบหน้าให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง
 
ตัวอย่างโรคหนึ่งที่นำสเตมเซลล์มาใช้รักษาแล้วเห็นผลชัดเจน ได้แก่ โรคลิวคีเมีย ในไทยเองได้มีการรักษาด้วยวิธีนี้แล้ว ส่วนการศึกษาทดลองนำสเตมเซลล์มาใช้รักษาอาการอัมพาตในต่างประเทศมีการเดินหน้าทดลองแล้วเช่นกัน ดังทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ในอังกฤษ ที่ใช้วิธีฉีด   สเตมเซลล์เข้าไปในสมองผู้ป่วย 9 คน พบว่า 5 คนมีอาการดีขึ้นให้เห็นโดยไม่เกิดผลข้างเคียง ผู้ป่วยสามารถกระดิกนิ้วมือได้ หลังจากเป็นอัมพาตมาหลายปี ทำให้มีความหวังว่า อนาคตจะช่วยเหลือผู้ป่วยอัมพาตได้
 
 
 
 
สำหรับนักวิจัยและแพทย์ไทยได้ให้ความสนใจร่วมกันศึกษาวิจัยด้านสเตมเซลล์บำบัดอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการเปิดเผยความร่วมมือของภาควิชาจักษุ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ร่วมกันวิจัย ใช้สเต็มเซลล์ในผู้ป่วยจอตาเสื่อมชนิด RP (Retinitis Pigmentosa) ที่ถือเป็นครั้งแรกของไทย ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้ 1 ใน 3,000 คน และปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ 
 
เดิมภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเคยประสบความสำเร็จแยกสเตมเซลล์บริสุทธิ์จากน้ำคร่ำมาแล้ว และยังทำวิจัยต่อยอดใช้สเตมเซลล์รักษาโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคแรก ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เองได้เริ่มดำเนินการวิจัยมาตั้งแต่ปี 2549 ทำอย่างครบวงจร นับแต่การจัดเตรียมและเพาะเลี้ยงสเตมเซลล์ การตรวจสอบคุณภาพของเซลล์และนำเซลล์ไปใช้ศึกษาวิจัยทางคลินิก โดยจัดตั้งอาคารปฏิบัติการสเตมเซลล์ ซึ่งพร้อมในการจัดเตรียมและเพาะเลี้ยงเซลล์ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตตามมาตรฐานสากล (GMP) การร่วมมือกันในครั้งนี้ จึงนับว่า ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีสเตมเซลล์ของไทยให้ก้าวหน้า เป็นความภาคภูมิใจของประเทศได้ว่า ไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าชาติอื่น
 
การศึกษาทดลองในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 1 ซึ่งเป็นขั้นตอนของการทดสอบเรื่องความปลอดภัย  
 
 
 
 
การศึกษาทดลองเริ่มจากทางทีมงานของ “โครงการวิจัยพัฒนาสเตมเซลล์เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาจอตาเสื่อม ชนิด RP” ที่มี ศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล เป็นหัวหน้าโครงการ ได้คัดเลือกผู้ป่วยก่อน จากนั้นเก็บสเตมเซลล์จากไขกระดูกออกมาเป็นปริมาณ 20 ซีซี.และส่งต่อให้กรมวิทย์ฯไปเพาะเลี้ยง ซึ่งใช้เวลา 3 - 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นฉีดกลับเข้าตาผู้ป่วยและตรวจติดตามผล
 
 
 
 
ปัจจุบันฉีดสเตมเซลล์ให้ผู้ป่วยแล้ว 2 ราย  ในปี 2555-2556  ยังไม่ปรากฎผลแทรกซ้อน ที่ผิดปรกติ  และภายใน 6 เดือนนี้ จะทดสอบกับผู้ป่วยอีก 3 ราย เพื่อให้ครบ 5 ราย หากไม่พบความผิดปกติหรืออันตราย ทางคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน จะอนุญาตให้ทำการทดสอบขั้นที่ 2 กับผู้ป่วยอาสาสมัครต่ออีก 10 ราย เพื่อดูประสิทธิภาพของการรักษา
 
 
 
 
หากผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกได้ผลดีอีกครั้ง คาดว่า เทคนิครักษาโรคตาใหม่นี้ อาจนำมาพัฒนาใช้รักษาผู้ป่วยได้จริงภายใน 3-5 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ยังไม่สูญเสียการมองเห็นมากนัก เพื่อยับยั้งโรคไว้ก่อนจะสายเกินไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีสายตาที่ดี มองเห็นโลกที่สดใสไปได้ตลอดชีวิต
 
 

คงต้องเอาใจช่วยให้การวิจัยนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี

 

 

LastUpdate 05/07/2556 00:11:41 โดย : Admin
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 10:49 am