เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตอนที่ 27/2556: หนี้ครัวเรือน การชำระหนี้ สถาบันการเงินเข้มงวดการให้กู้ และการเช็คข้อมูลเครดิตบูโร


จากหัวข้อของบทความวันนี้ ผมอยากจะนำเสนอเป็นเรื่องๆ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพ 5 มุม ดังนี้ครับ

1. หนี้ครัวเรือน : จากข่าวสารที่ออกมาของท่านที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเศรษฐกิจไทยระบุว่า ภาระหนี้ภาคครัวเรือนของไทยล่าสุดพบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 80% จากเดิมอยู่ที่ 78% ซึ่งคงไม่น่าห่วงว่าจะสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจไทยเหมือนสหรัฐ หรือจะสร้างปัญหาที่รุนแรงระดับเหมือนวิกฤตการณ์หลังปี 2540 ได้ กล่าวง่ายๆ คือต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดว่าไม่ให้เรื่องนี้มาทำให้เสถียรภาพของระบบการเงินเสียหายได้ ทางการกำลังลงไปดูแลในระดับที่เป็นกลุ่มตามรายได้ว่าปัญหากำลังเกิดในกลุ่มรายได้ใด ที่แน่ๆ ค่อนข้างฟันธงว่าเป็นกลุ่มรายได้ต่ำ เช่น มีรายได้ต่ำกว่า 10,000บาท/เดือน เป็นต้น


2. การชำระหนี้ : จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในช่วงไตรมาส 1/2556 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และคำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีการเปิดเผยออกมายังสื่อมวลชนพบว่า สัดส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของภาคครัวเรือน ในภาพรวมอยู่ที่ 33.8% เพิ่มขึ้นจากในปี 2554 อยู่ที่ 29.6% ทำให้ ธปท.ต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีความเปราะบางเพิ่มขึ้นหากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวต่อเนื่อง

3. ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนยังอยู่ในเกณฑ์ดี ดียังไงดูได้จากสัดส่วนหนี้ค้างชำระเกิน 1 เดือนต่อสินเชื่ออุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ระดับต่ำ มีตัวเลขการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4.7% ณ สิ้นปี 2555 มาอยู่ที่ 4.9% ณ สิ้นไตรมาส 1/2556

4. สถาบันการเงินเข้มงวดการให้กู้ : จากข้อมูลที่เปิดเผยออกมาระบุว่าช่วงไตรมาส 2/2556 เริ่มเห็นสัญญาณลักษณะที่ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น มีการออกมาระบุว่าการขอกู้บ้านหลังที่ 3 หรือหลังที่ 4 คงจะให้กู้ยากหรือไม่มีนโยบายปล่อยกู้เลย อีกข้อมูลหนึ่งคือยอดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะอาคารชุด-คอนโดมิเนียมที่ลดลงต่อเนื่องจากปลายไตรมาส 1/2556 ทั้งนี้เพราะมีความเป็นห่วง พฤติกรรมเก็งกำไรในบางพื้นที่ หากแต่ว่าความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตหัวเมืองใหญ่ ต่างจังหวัดที่เคยมีการกล่าวถึงก็มีการชะลอลงมา  ทางการยังคงจะต้องติดตามต่อเนื่องต่อไป


5. การเช็คข้อมูลเครดิตบูโร : สถาบันการเงินสมาชิกมีการตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรของคนที่มาขอกู้และคนที่เป็นลูกค้าเก่าที่ให้กู้ไปแล้วในรอบ 6เดือนปี 2556 มีจำนวนสูงถึง 12.6 ล้านรายการ ขณะที่ทั้งปี 2555 จำนวน 12 เดือน มีการตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร 20.88 ล้านรายการ สะท้อนว่ามีคนมายื่นคำขอกู้มาก มีการตรวจสอบข้อมูลลูกค้าเก่าเพื่อเช็คสุขภาพทางการเงินว่ายังคงดีอยู่หรือไม่เป็นจำนวนมาก

สุรพล โอภาสเสถียร

ผู้จัดการใหญ่

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ก.ค. 2556 เวลา : 19:59:10
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 8:12 pm