การตลาด
ฟิทช์จัดอันดับเครดิต "ซีพี ออลล์" ที่ A+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ




บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL ที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ ‘F1(tha)’


ปัจจัยที่มีผลต่ออันอับเครดิต
ผู้นำในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ: CP ALL เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยจำนวนร้านค้ารวมมากกว่า 7,000 ร้านทั่วประเทศ คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 60 ซึ่งสูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับสองเป็นอย่างมาก แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกจะมีการแข่งขันที่สูง แต่ฟิทช์เชื่อว่า CP ALL จะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำทางการตลาดไว้ได้ จากการที่บริษัทฯ มีร้านค้าในเครือในจำนวนที่มากกว่าและครอบคลุมพื้นที่มากกว่าคู่แข่งขัน รวมถึงการมีหน่วยงานในเครือที่สนับสนุนกิจการค้าปลีกของบริษัทฯ ได้แก่การบริการด้านลอจิสติกส์ การซ่อมแซมและบำรุงรักษาร้านค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน

 การมีเครื่องหมายการค้าที่แข็งแกร่ง: CP ALL บริหารงานร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven ซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับโลก CP ALL ได้รับการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven สำหรับร้านสะดวกซื้อในประเทศไทย ภายใต้สัญญา Area License Agreement ที่ทำกับบริษัท 7-Eleven Inc., แห่งสหรัฐอเมริกา โดยร้าน 7-Eleven แห่งแรกในประเทศไทยได้เปิดดำเนินการในปี 2532 ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนร้าน 7-Eleven มากเป็นอันดับสองของโลก (ไม่รวมสหรัฐอเมริกา) รองจากประเทศญี่ปุ่น

การขยายธุรกิจไปยังธุรกิจค้าส่ง: การเข้าซื้อกิจการบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (Makro) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าส่งสมัยใหม่แต่เพียงรายเดียวในประเทศไทย ทำให้ CP ALL สามารถขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจค้าส่ง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าทั้งในด้านปริมาณและความหลากหลาย หลังจากการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว CP ALL จะกลายเป็นผู้ประกอบกิจการค้าปลีกประเภทอาหารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

กระแสเงินสดที่มั่นคงและการเติบโตที่แข็งแกร่ง: การเติบโตของบริษัทฯ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสภาวะของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยที่ยังเติบโตไม่ถึงระดับอิ่มตัว รวมถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากสินค้าที่ขายในร้านสะดวกซื้อส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพประจำวัน ฟิทช์คาดว่ายอดขายของ CP ALL ในปี 2556-2557 จะมีอัตราการเติบโตที่สูงมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรวมงบการเงินของ Makro ในงบการเงินรวมของบริษัทฯ นอกจากนี้ ยอดขายของ CP ALL น่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 14 ถึงร้อยละ 15 ต่อปีในปี 2558-2560 จากการเปิดร้านค้าใหม่และอัตราการเติบโตของยอดขายของร้านค้าเดิม

อัตราส่วนหนี้สินที่สูง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (funds flow from operations (FFO) adjusted net leverage) จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 8.2 เท่า ณ สิ้นปี 2556 (เทียบกับฐานะเงินสดสุทธิ ณ สิ้นปี 2555) เนื่องจากการเข้าซื้อกิจการ Makro โดยใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเป็นหลัก และอัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนต่อดอกเบี้ยจ่ายและค่าเช่า (FFO fixed charge cover) จะลดลงเหลือ 2.5 เท่า ในปี 2556 (เทียบกับ 4.5 เท่าในปี 2555) อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งของกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเงินปันผลจ่าย (Free Cash Flow, FCF) ที่คาดว่าจะยังคงเป็นบวกต่อไป น่าจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวลดลงต่ำกว่า 5.0 เท่าในปี 2558 และต่ำกว่า 3.5 เท่า ในปี 2560

การกระจายความเสี่ยงด้านภูมิภาคที่จำกัด: ปัจจุบัน CP ALL ดำเนินธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งยังคงมีศักยภาพในการเติบโตต่อไปในอนาคตเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว CP ALL มีแผนที่จะขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผ่านการขยายธุรกิจของ Makro อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศน่าจะยังคงน้อยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยลบ:
          - การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินที่ช้ากว่าที่คาด โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ที่อยู่ในระดับสูงกว่า 5.0 เท่าในปี 2558 และสูงกว่า 3.5 เท่าในปี 2560
          - อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและ ค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ที่ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 8.5 อย่างต่อเนื่อง (ปี 2555: ร้อยละ 11) และ/หรือ
          - การมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเงินปันผลจ่าย (FCF) ที่เป็นลบต่อเนื่องกัน 2 ปี

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้ามีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่สูงของบริษัทฯ

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ส.ค. 2556 เวลา : 12:50:40
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 9:50 pm