เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
วางแผนรับมือ "เงินบาทสุดผันผวน"


 
 
 
ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของเงินบาทในปีนี้มีความผันผวนมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเมื่อช่วงต้นปีเงินบาทยังปรับตัวแข็งค่าขึ้นไปแตะที่ 28.50 บาท/ดอลลาร์ จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาตรการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อลดแรงกดดันที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น 

แต่ปัจจุบันเงินบาทกลับอ่อนค่าลงมาก แตะที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ หรืออ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 3 ปี และยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยสำคัญเกิดจากกการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ ที่เคยไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของไทยในช่วงที่ผ่านมา
 
 
 
แม้เงินบาทจะอ่อนค่าลงมาก แต่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กลับมองว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงในขณะนี้ ถือว่าอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยรับได้ เพราะเป็นการอ่อนค่าในช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้ตั้งไว้ 

และยังได้ขอความร่วมมือไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท และอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้มีเสถียรภาพ โดยใช้กลไกของทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่กว่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์ และสภาพคล่องในระบบรูปของเงินบาทที่มีอยู่กว่า 3 ล้านล้านบาท มาใช้ให้เกิดประโยชน์

 
 
 
ด้านรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุท ก็ยอมรับว่า เงินบาทในขณะนี้มีความผันผวนมากกว่าเดิม และอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่า เนื่องจากมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลออกจากประเทศไทย ตามทิศทางของการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ทำให้เงินบาทอ่อนค่าตามค่าเงินภูมิภาค

ซึ่ง ธปท.ก็ติดตามสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้าย และการอ่อนค่าของเงินบาทอย่างใกล้ชิด และมีการเข้าไปดูแลบ้างในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไป หรือมีความผันผวนมากจนอาจจะสร้างผลกระทบต่อผู้นำเข้าและส่งออก 

 
 
ส่วนเสียงสะท้อนของภาคเอกชน นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผุ้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กลับมองว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงมากในขณะนี้ ไม่ได้เกิดประโยชน์กับการส่งออกมากนัก เพราะตลาดมีข้อจำกัดเรื่องกำลังซื้อ ทำให้สินค้าที่ผู้นำเข้าสั่งซื้อไปก่อนหน้าขายได้น้อยและมีสต็อกเหลือมาก และผู้นำเข้าขอต่อรองราคามากขึ้นเพื่อให้มีโอกาสขายสินค้าได้มากขึ้น รวมทั้งค่าเงินอ่อนทั้งภูมิภาคทำให้เงินบาทที่อ่อนค่าลงเช่นกัน ทำให้ผู้ส่งออกไทยไม่ได้เปรียบประเทศคู่แข่ง 

 
 
สำหรับมุมมองของนายธนาคาร นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) มั่นใจว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่ง ทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และไทยเพิ่งเริ่มขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ แตกต่างจากอินโดนีเซีย ที่มีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังมานาน ดังนั้น มั่นใจว่าสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าไม่น่าห่วง

แต่ยอมรับว่า แนวโน้มเงินบาทในระยะนี้ยังอ่อนค่าต่อเนื่อง เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติลดขนาดการลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของไทย และหันไปเก็งกำไรเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ยังไม่กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการชะลอมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE)

การแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลงของเงินบาท ย่อมมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้นการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนที่เกิดขึ้น โดยการทำประกันความเสี่ยง ย่อมเป็นแนวทางหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน 

LastUpdate 23/08/2556 02:53:39 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 8:16 pm