การตลาด
สกู๊ป "มิสเตอร์บัน" กางแผนบุก หลังได้ "ดีเอ็นเอ" หนุนทัพ


 

 

หากย้อนกลับไปเมื่อ  6-7 ปีก่อนตลาดขนมปังอบถือเป็นตลาดที่มีความคึกคักอย่างมาก  เพราะถ้าย้อนเวลากลับไปจะเห็นภาพการต่อคิวยาวหลายร้อยเมตร  เพื่อซื้อขนมปังอบแบบแม็กซิกัน  ทำให้หลายคนมีคำถามในใจว่า ขนมปังดังกล่าวมีรสชาติที่อร่อยสมกับการรอคอยขนาดนั้นเชียวหรือ

เวลาผ่านไปไม่นานความนิยมเริ่มลดถอยลง  และในที่สุดบางแบรนด์ก็เริ่มหายไปจากตลาด จนทำให้มีคำถามตามมาอีกครั้งว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมสินค้าที่มีกระแสดีขนาดนั้นถึงได้ลาจากตลาดประเทศไทยไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งปัจจัยหนึ่งในนั้นที่น่าจะเป็นเหตุและผลของความนิยมที่ลดน่าจะเกิดจากราคา และความหลากหลายของสินค้า เมื่อสินค้าไม่มีความหลากหลายมากพอ และมีราคาสูงเกินไปความนิยมในสินค้านั้นๆ ย่อมลดลง เพราะคนไทยถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงเร็วและชอบความแปลกใหม่

แม้ว่าจะมีบางแบรนด์หายออกไปจากตลาด  แต่ก็ยังเหลือบางแบรนด์ที่ยังยืนหยัดในตลาดได้ นั่นก็คือ "มิสเตอร์บัน"  ด้วยกลยุทธการทำตลาดที่เน้นความคุ้มค่าคุ้มราคา คือ จำหน่ายสินค้าในราคาเริ่มต้นที่  10 บาท  พร้อมกับเพิ่มความหลากของสินค้าใหม่มากขึ้น ไม่ใช่มีแค่ “แม็กซิกันบัน” และ “ครัวซองต์สติ๊ก” จึงทำให้ร้านมิสเตอร์บัน  ยังคงดำเนินธุรกิจขนมปังอบจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับร้านมิสเตอร์บัน บริษัท บัน ผู้ดำเนินธุรกิจร้านขนมปังอบแบรนด์ มิสเตอร์บัน  จึงได้เปิดทางให้บริษัท ดีเอ็นเอ 2002  จำกัด (มหาชน) หรือ ดีเอ็นเอ ผู้ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าสื่อโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนท์ประเภทภาพยนตร์ และนิตยสาร เข้ามาถือหุ้น 100% ในบริษัท บัน จำกัด  เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา 
 
 
 
 
นายสามารถ ฉั่วศิริพัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การซื้อกิจการขนมปังอบแบรนด์ ‘มิสเตอร์บัน’ ในครั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการด้วยวิธีการออกหุ้นเพิ่มทุนประกอบกับเงินสดอีกส่วนหนึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 100 ล้านบาท เนื่องจากมองเห็นโอกาสการขยายธุรกิจในกลุ่มเบเกอรี่ที่มีอัตราการขยายตัวที่ดี และการแข่งขันในตลาดที่ไม่รุนแรงมากนัก

สำหรับแผนการดำเนินงานหลังเข้าถือหุ้นนั้น บริษัท ดีเอ็นเอ จะใช้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า การดำเนินกลยุทธ์ด้านตลาด และการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยบริหารจัดการในด้านการผลิตและการจัดจำหน่ายสินค้า รวมถึงความพร้อมทางด้านเงินทุน เข้ามาสนับสนุนต่อยอดสร้างความสำเร็จให้ธุรกิจมิสเตอร์บัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าและการจัดการด้านช่องทางการจัดจำหน่ายให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับเป้าหมายภายใน 1 ปี จะมีสาขามิสเตอร์บันไม่ต่ำกว่า 100 สาขา จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 60 สาขา

 
 
 
ด้าน นายอนุสรณ์ ตันยากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัน จำกัด กล่าวว่า การที่บริษัท ดีเอ็นเอ เข้ามาถือหุ้น 100% ในบริษัท บัน ครั้งนี้ ถือเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับการดำเนินธุรกิจขนมปังอบมากขึ้น เนื่องจากในอนาคตบริษัทมีแผนที่จะขยายธุรกิจขนมปังอบไปในตลาดต่างประเทศ ซึ่งประเทศที่เล็งๆ ไว้และกำลังทำการศึกษา คือ กลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น อินโดนีเซีน ฟิลิปปินส์  และมาเลเซีย

นอกจากนี้  ยังถือเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับการดำเนินธุรกิจของมิสเตอร์บัน  5 ด้าน  คือ 1.ตัวผลิตภัณฑ์  2.การสร้างแบรนด์  3.การลงทุนขยายช่องทางการจัดจำหน่าย  4.ระบบบริหารการจัดการภายในองค์กร และ 5.การสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน หลังจากก่อนหน้านี้มิสเตอร์บันมีจุดเด่นในด้านของการดำเนินธุรกิจอยู่แล้วจำนวน  7 ข้อ  คือ 1. สินค้าที่มีกลิ่นหอม  2.ราคาคุ้มค่าเฉลี่ยชั้นละ 8-20 บาท 3.การมีสถานที่เปิดร้านที่ตรงกลุ่มเป้าหมายคือ ศูนย์การค้า แหล่งชุมชน 4. การมีศูนย์การผลิตสินค้าที่สดใหม่เฉลี่ยที่ 3 ล้านชิ้นต่อเดือน 5.การมีรูปแบบร้านที่หลากหลาย 6.มีการทำโปรโมชั่น  และ 7.การมีทีมงานที่มีประสบการณ์ร่วมงาน 

 
 
 
จากแนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าวทำให้มิสเตอร์บันกลายเป็นผู้นำตลาดขนมอบในด้านของ “แม็กซิกันบัน” และ “ครัวซองต์สติ๊ก”  เพราะถ้าพูดถึงตลาดขนมปังอบที่อยู่ในตลาดระดับกลางลงล่าง ปัจจุบันยังไม่มีแบรนด์ไหนเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจัง แม้ว่าตลาดดังกล่าวจะมีมูลค่าสูงถึง  6,000 ล้านบาท

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจในครึ่งปีหลังนี้ บริษัทยังตอกย้ำยุทธศาสตร์การทำตลาดภายใต้แนวคิด Bun Innovation  ด้วยการมุ่งเน้นด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นมิตรสุขภาพ การคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพ และมีความคุ้มค่าและหลากหลายของสินค้าตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ ที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเมนูหลักซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ขายดี กลุ่มซิกเนเจอร์โปรดักซ์ หรือกลุ่มสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มด้านยอดขาย และกลุ่มสเปเชี่ยล โปรดักซ์ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าโปรโมชั่นที่พัฒนาออกมาในโอกาสพิเศษ

นอกจากนี้  บริษัท บัน ยังมีแผนที่จะเปิดตัวสินค้าใหม่เข้าทำตลาดอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 8-12 รายการ จากปัจจุบันที่มีสินค้าทั้งหมด 30 รายการ เพื่อตอบโจทย์แนวทางการดำเนินธุรกิจในด้านของความคุ้มค่าและหลากหลายของสินค้า ขณะเดียวกันในด้านของราคาขายก็ยังคงมีราคาแฉลี่ยที่ 10-20 บาทต่อชิ้น ซึ่งหลังจากบริษัท บัน ทำธุรกิจด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว ส่งผลให้มีจำนวนลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมียอดการใช้จ่ายซื้อสินค้าต่อคนต่อครั้งเพิ่มขึ้นเป็น 48 บาท จากเดิม 43 บาท  

 
 
สำหรับแผนการขยายสาขาร้านมิสเตอร์บันในช่วงครึ่งปีหลังนี้ บริษัท บัน มีแผนที่จะเปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก 10-12 สาขา จากปัจจุบันที่มีอยู่ 58 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่บริษัท บัน เปิดเอง 35 สาขา และสาขาแฟรนไชส์  23  สาขา อย่างไรก็ตามเพื่อให้การบริการงานมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน แผนการดำเนินงานนับจากนี้ บริษัท บัน จะเน้นลงทุนขยายสาขาเองมากกว่าการขยายแฟรนไชส์  ด้วยการยึดทำเลศูนย์การค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นฐานทัพหลักในการเปิดสาขาใหม่ เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ขณะเดียวกันบริษัท บันมีแผนที่จะขยายสาขาไปตามแหล่งชุมชนที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างโอกาสการขายสินค้าไปสู่ลูกค้ามากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันร้านมิสเตอร์บัน มีรูปแบบร้านที่เปิดให้บริการตามสถานที่ต่างๆ ทั้งหมด  4 รูปแบบ ประกอบด้วย 1. บัน ฟูล ช็อป จะมีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 30-50 ตร.ม. โดยร้านมิสเตอร์บันรูปแบบนี้จะประกอบไปด้วยพื้นที่  3 ส่วนหลัก คือ เคาน์เตอร์สำหรับเป็นพื้นที่ขายหน้า ส่วนครัวสำหรับการผลิตสต๊อกวัตถุดิบ และส่วนของที่นั่ง เพื่อรองรับลูกค้าที่ต้องการนั่งทาน ซึ่งในส่วนของร้านรูปแบบดังกล่าวปัจจุบันได้มีการเปิดให้บริการแล้วที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พิษณุโลก

2.บัน เทค อเวย์ จะมีขนาดพื้นที่ตั้งแต่  15-40 ตร.ม. โดยร้านมิสเตอร์บันรูปแบบนี้จะประกอบไปด้วยพื้นที่ 2 ส่วนหลัก คือ เคาน์เตอร์ สำหรับพื้นที่ขายหน้าร้าน และส่วนครัวสำหรับการผลิตและสต๊อกวัตถุดิบต่างๆ  3. บัน สแตนอโลน จะเป็นลักษณะการขยายสาขาที่อยู่นอกศูนย์การค้าจะมุ่งเน้นอาหารพาณิชย์  ตามชุมชนใหญ่ๆ และตลาดที่มีศักยภาพ  โดยร้านมิสเตอร์บันรูปแบบนี้จะประกอบไปด้วยพื้นที่ 2 ส่วนหลัก คือ เคาน์เตอร์ สำหรับเป็นพื้นที่ขายหน้าร้าน และส่วนครัวสำหรับการผลิตและสต๊อกวัตถุดิบต่างๆ
 
 
 
 
4.บัน เอ็กซ์เพรส เป็นร้านที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับกับขนาดพื้นที่ที่มีขนาดเล็ก คือ จะมีขนาดพื้นที่โดยประมาณ  6-15 ตร.ม. ซึ่งในส่วนของคอนเซ็ปต์ร้านนี้จะไม่มีการผลิตสินค้าหน้าร้าน แต่จะเน้นการขายสินค้าเป็นหลัก โดยร้านมิสเตอร์บันรูปแบบนี้จะประกอบไปด้วยพื้นที่เพียงส่วนเดียวเท่านั้น คือ เคาน์เตอร์สำหรับเป็นพื้นที่ขายหน้าร้านและสต๊อกสินค้าสำเร็จรูปบ้างเล็กน้อย  

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า จากกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งในแง่คุณภาพสินค้าและราคาที่คุ้มค่า ด้วยเมนูสินค้าที่หลากหลาย พร้อมขยายสาขาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า บริษัทมั่นใจว่าจะทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อแบรนด์มิสเตอร์บันมากขึ้น และส่งผลให้สิ้นปีนี้มียอดขายเติบโตไม่ต่ำกว่า 62% หรือมีรายได้อยู่ที่ 189 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 312 ล้านบาท ในปี 2557 เพิ่มเป็น 520 ล้านบาทในปี 2558 และ 700 ล้านบาทในปี 2559  ซึ่งอัตราการเติบโตดังกล่าวถือว่าสูงกว่าภาพรวมตลาดเบเกอรี่ที่ปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่า 10,000 ล้านบาท หรือเติบโต 10-15%
 
 

LastUpdate 26/08/2556 10:30:23 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 6:38 am