เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กสิกรไทยมองโจทย์เศรษฐกิจ-การลงทุนใน ASEAN โค้งสุดท้ายปี 56 -คาดจีดีพีอยู่ในกรอบ 4.7-5.3%


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดบทวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุนใน ASEAN โค้งสุดท้ายปี 2556

มีประเด็นสำคัญดังนี้คือ

•ASEAN หลายประเทศกำลังเป็นที่จับตาในประเด็นปัญหาเรื่องเสถียรภาพซึ่งการดำเนินนโยบายปฏิรูปเพื่อปรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของบางประเทศในอาเซียนขยายตัวช้าลงซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าทั้งปีนี้ จีดีพีของภูมิภาคอาจขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 4.7-5.3 โดยมีกรณีฐานที่ร้อยละ 5.1 ท่ามกลางปัจจัยกระทบจากภายนอกและภายใน
 
•นักลงทุนที่สนใจหรือกำลังทำธุรกิจในภูมิภาคอาจจะต้องติดตามสามประเด็นสำคัญซึ่งได้แก่  1) เรียงลำดับความสำคัญของปัจจัยด้านเศรษฐกิจ 2)บริหารจัดการความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และ 3)ติดตามการเปลี่ยนแปลงของเกณฑ์/นโยบายการลงทุน 
 
•ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มูลค่าการลงทุนทางตรงหรือ FDI ของ ASEAN ในปี2556 น่าจะอยู่ที่ 111.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตจากปี 2555 ร้อยละ 3.7   โดยประเทศที่จะได้รับ FDI มากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ (58.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) อินโดนีเซีย (20.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และมาเลเซีย (10.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ตามลำดับ
 
ไม่นานมานี้ประเทศในกลุ่ม ASEAN ทั้ง 7ประเทศประกอบไปด้วย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ประเทศไทย และเวียดนาม   ได้ทยอยประกาศตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไตรมาส 2/2556 พบว่าอัตราการขยายตัวไม่เป็นไปตามคาดในหลายประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย อันมีสาเหตุหลักจากการส่งออกแผ่วลงกว่าคาด ผนวกกับแรงผลักดันด้านการใช้จ่ายในประเทศผ่านการบริโภคและการลงทุนที่ชะลอลง (รูปที่ 2 และรูปที่ 3)
 
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐต่ำกว่าช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากข้อจำกัดในบางประการเช่น ความจำเป็นที่จะต้องควบคุมรายจ่ายเนื่องจากขาดดุลการคลังต่อเนื่อง (มาเลเซีย) ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ (ประเทศไทย) และการปรับลดรายจ่ายการคลังผ่านการยกเลิกการสนับสนุนราคาพลังงาน (อินโดนีเซีย) อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตว่า ฟิลิปปินส์ยังสามารถรักษาระดับการขยายตัวได้ในอัตราที่สูงที่สุดที่ร้อยละ 7.5 (YoY) ผ่านการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุน ขณะเดียวกันเวียดนามมีพัฒนาการของการส่งออกที่ดีขึ้นเรื่อยๆและมีอัตราขยายตัว 2 หลักในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
 
ปัจจัยภายนอกและภายในประเทศน่าจะมีผลต่ออัตราการขยายตัวของ ASEANในช่วงโค้งสุดท้ายของปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าโมเมนตัมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ASEAN ทั้ง 10 ประเทศ สำหรับปี 2556 นี้ น่าจะเติบโตได้ในกรอบร้อยละ 4.7-5.3 โดยมีกรณีฐานที่ร้อยละ 5.1 ท่ามกลางความท้าทายรายล้อมภูมิภาคทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในอันประกอบไปด้วย
 
ปัจจัยภายนอก 
1)ปฏิกิริยาของนักลงทุนที่มีต่อท่าทีของเฟดที่อาจจะลดขนาดการเข้าซื้อพันธบัตรในตลาดรอง หรือ QE Tapering ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ จะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนหรือ Portfolio Reallocation โดยนักลงทุนจะปรับลดการถือสินทรัพย์ของตลาดเกิดใหม่รวมทั้งASEAN อันจะทำให้ค่าเงินในภูมิภาคเคลื่อนไหวในทิศทางที่ผันผวนคาดการณ์ได้ยาก และอาจจะส่งผลต่อสภาพคล่องในระบบตึงตัวขึ้นและอาจกดดันอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมในตลาด โดยประเทศที่น่าจะอ่อนไหวต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวได้แก่ประเทศที่ประสบกับภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง (เช่น อินโดนีเซีย) หรือยอดดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในมูลค่าที่น้อยลงเรื่อยๆ (เช่นมาเลเซีย) หรือมีการธำรงเงินสำรองระหว่างประเทศต่ำเมื่อเทียบกับยอดหนี้ต่างประเทศ 
 
2)ทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก อันประกอบไปด้วยประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของASEAN (สัดส่วนมูลค่าการค้ารวมระหว่างจีนและ ASEAN อยู่ที่ร้อยละ 11.7 ของมูลค่าการค้าทั้งหมด) ที่กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือ Economic Structural Reform
 
อาจจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในภาพรวมที่จะส่งผ่านไปยังยอดสั่งซื้อสินค้าสำคัญที่เป็นแหล่งรายได้หลักของ ASEAN ขณะเดียวกันก็คงจะต้องจับตามองการฟื้นตัวของญี่ปุ่น ยูโรโซน และสหรัฐฯ ว่าจะสามารถพลิกสถานการณ์การส่งออกให้กับกลุ่ม ASEAN ได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากมูลค่าส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น ยูโรโซนและสหรัฐฯรวมกันคิดเป็นร้อยละ 30.5 ของการส่งออกทั้งหมดของ ASEAN ทีเดียว ทั้งนี้จากตัวเลขการส่งออกของอาเซียน 5 เดือนแรกของปี 2556 (ข้อมูลโดย Global Trade Atlas) พบว่าการส่งออกไปจีน (+ร้อยละ 4.2 (YoY)) ยูโรโซน (+ร้อยละ 1.4(YoY)) และสหรัฐฯ   (+ร้อยละ 1.6 (YoY)) ซึ่งยังอยู่ในแดนบวกแต่แรงส่งชะลอลง ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่น 5 เดือนแรก หดตัวร้อยละ 10.8 (YoY)  
 
ปัจจัยภายใน 
1)ปัจจัยอันจะส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศ เช่น ระดับหนี้ของภาคครัวเรือนที่จะกระทบความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค (สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีของอินโดนีเซียอยู่ที่ ร้อยละ 144 ของมาเลเซียอยู่ที่ร้อยละ 133 ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 81.1) โดยปัจจุบันพบว่าสินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัยครองสัดส่วนเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาค ติดตามด้วยสินเชื่อรถยนต์ 
 
2)ขีดจำกัดด้านการคลังต่อการใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ การขยายตัวทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ใน ASEAN อาศัยแรงอัดฉีดจากฝั่งทางการที่ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของประชาชนในหลายมิติ ผ่านผลทวีคูณของการใช้จ่ายภาครัฐ (Government’s Multiplier Effect) ซึ่งกลไกดังกล่าวสามารถประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งแต่ภาครัฐไม่สามารถทำไปได้ตลอด ทั้งด้วยกำหนดเพดานรายจ่ายที่รัฐสามารถทำได้ โดยเกือบทุกประเทศใน ASEAN ต่างกำลังประสบกับความท้าทายในข้อนี้ 
 
3)การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ นับเป็นเรื่องปัจจุบันทันด่วนที่กลุ่ม ASEAN อาจจะต้องพิจารณาหาทางออกอย่างจริงจัง ทั้งนี้จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF พบว่าทุกประเทศยกเว้นสิงคโปร์ประสบกับการถดถอยเชิงผลิตภาพ (Productivity Declination) นับตั้งแต่ปี 2546 ขณะที่โครงสร้างประชากรในภูมิภาคของบางประเทศเริ่มเข้าสู่การเป็นกลุ่มสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) พร้อมๆกับข้อจำกัดของการต่อยอดทางการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี (R&D) ซึ่งหากกลุ่ม ASEAN ไม่สามารถผลักผลิตภาพด้านแรงงาน (Labor Productivity) ด้านการใช้ทุน (Labor Productivity) ผนวกกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้ ประเด็นนี้อาจจะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ ASEAN พบกับทางตันต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
 
ความท้าทายทางเศรษฐกิจ…และนัยยะที่มีต่อการลงทุน
แม้แรงกระทบทางเศรษฐกิจอาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ กระนั้นความน่าสนใจเชิงลงทุนสำหรับภูมิภาค ASEAN ยังมิได้ถดถอยเสียทีเดียว หากแต่ผู้ประกอบธุรกิจอาจจะต้องพิจารณา ASEAN ในมิติที่หลากหลายขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมสามประเด็นสำคัญดังนี้
 
1)เรียงลำดับความสำคัญของปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจในประเทศที่กำลังเล็งโอกาสการลงทุนในกลุ่ม ASEAN ณ ขณะนี้อาจจะต้องพิจารณาปัจจัยด้านสถานการณ์ทางเศรษฐกิจประกอบการตัดสินใจเข้าไปด้วยอีกประการ ในกรณีของการตัดสินใจเข้าลงทุนเพื่อลดต้นทุนการผลิต และส่งออกต่อไปยังประเทศที่สาม ปัจจัยด้านเศรษฐกิจอาจจะไม่ใช่ประเด็นหลักนัก แต่สำหรับกรณีของการเข้าไปเพื่อเจาะตลาดในประเทศนั้นๆโดยตรง ผู้ประกอบธุรกิจอาจจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องราวของเศรษฐกิจเป็นอันดับแรกๆ เนื่องจากภาวะของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอาจจะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อของกลุ่มเป้าหมายได้ 
2)บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม เนื่องด้วยอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวนจากเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่าผู้ทำธุรกิจช่วงนี้เลือกป้องกันความเสี่ยงผ่านเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนได้ส่วนหนึ่ง 
 
3)ติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของเกณฑ์/นโยบายการลงทุน ช่วงนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศในกลุ่ม ASEAN ต่างใช้แผนส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติในลักษณะของการส่งเสริมการลงทุนทางตรงหรือ FDI เป็นหลัก เนื่องจาก FDI จะเป็นแหล่งเงินลงทุนที่ฝังแน่นในประเทศเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งสร้างแรงส่งเชิงเศรษฐกิจประเทศในวงกว้าง ดังกรณีเวียดนามที่ปรับลดค่าเงินด่องเมื่อเดือนมิ.ย. ลงร้อยละ 1 เพื่อกระตุ้นการส่งออก หรือในกรณีของอินโดนีเซียที่ภายหลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจ ก็ได้ออกมาตรการมาตรการกระตุ้นการส่งออกและเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยจะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมภายในประเทศมากขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติจะได้รับการยกเว้นการชำระภาษี (Tax Breaks) สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานเป็นหลัก (Labor-Intensive) เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยจะต้อง เป็นอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกอย่างน้อยร้อยละ 30 ของผลผลิตรวม นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายเกณฑ์การส่งออกผ่านการระงับการใช้โควตา และภาษีส่งออก ดังที่เคยใช้ตั้งแต่ปี 2555 เหล่านี้เป็นตัวอย่างเบื้องต้นที่นักลงทุนอาจต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ ด้วยช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความท้าทาย จะเป็นช่วงเวลาที่ทางการแต่ละประเทศจะนำเสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่น่าดึงดูดใจมากขึ้นไปด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าสถานการณ์ฝุ่นตลบทางเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลกน่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่มีความชัดเจนมากขึ้น   ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาวะตลาดเงินและตลาดทุนโลก และผ่อนแรงกระทบต่อ ASEAN จากการเคลื่อนย้ายทุนของนักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกันสำหรับกลุ่มประเทศ ASEAN เอง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการใช้นโยบายเศรษฐกิจและการลงทุน รวมทั้งมาตรการรองรับแรงกระทบจากภายนอก น่าจะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาพรวมได้ในช่วงท้ายของปี อันจะช่วยประคับประคองความน่าสนใจของ ASEAN ในมุมของการเป็นเป้าหมายการลงทุนหรือ Investment Destination โดยสำหรับทิศทางการลงทุนโดยภาพรวมนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ามูลค่าการลงทุนทางตรงหรือ FDI ของ ASEAN ปี2556 ว่าน่าจะอยู่ที่ 111.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตจากปี 2555 ร้อยละ 3.7   โดยประเทศที่จะได้รับ FDI มากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ (58.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) อินโดนีเซีย (20.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และมาเลเซีย (10.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ตามลำดับ 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ก.ย. 2556 เวลา : 11:32:28
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 4:02 pm