เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รับมือ "Government Shutdown" สหรัฐ


 

 


 

หลังจากที่ "ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐ" ได้ออกมายอมรับว่า สหรัฐเข้าสู่ภาวะ"Government Shutdown" อย่างเป็นทางการ หรือภาวะที่รัฐบาลกลางต้องปิดหน่วยงานเกือบทั้งหมดชั่วคราว

 สืบเนื่องจากสภาคองเกรสมีความเห็นไม่ลงรอยกันในเรื่องแผนงบประมาณปี 2557 โดยวุฒิสภาพรรคเดโมแครต มีมติเสียงข้างมาก 54 ต่อ 46 คัดค้านร่างหลักการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายประกันสุขภาพที่รู้จักกันในชื่อ "โอบามาแคร์" ออกไปอีก 1 ปี และร่างกฎหมายงบประมาณฉุกเฉินของพรรครีพับลิกัน ทำให้ทั้งสองสภาไม่สามารถร่วมกันคลอดแผนงบประมาณใหม่ออกมาได้ ส่งผลให้รัฐบาลกลางไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ และต้องปิดหน่วยงานส่วนใหญ่อย่างไม่มีกำหนด

โดยในช่วงภาวะ "Government Shutdown" ข้าราชการกว่า 800,000 คน ต้องผลัดเปลี่ยนกันหยุดงานโดยไม่รับค่าตอบแทน ส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนกว่าครึ่งหนึ่งต้องเริ่มเวียนกันหยุดงานโดยไม่รับค่าตอบแทน  สำหรับวิกฤติงบประมาณของสหรัฐในสมัยของโอบามา ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี นับตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี บิล คลินตัน เผชิญกับสถานการณ์เดียวกันนี้ 26 วัน ในปี 2538-2539 และสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจของสหรัฐกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.15 ล้านล้านบาท).  

 

 

 

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐปัจจุบันยังไม่กระทบประมาณการเศรษฐกิจ เพราะระยะเวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่มากนัก ส่วนความกังวลในเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากประเทศไทยนั้น ปัจจุบันยังไม่เห็นเงินทุนไหลออก 

 

 

 

ส่วนมุมมองของภาคเอกชน นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า ปัญหาของสหรัฐฯ จะไม่ส่งผลต่อทั้งภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทย เพราะเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และตลาดก็คาดการณ์ถึงเหตุการณ์นี้ไว้อยู่แล้ว 

 

 

 

ด้าน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า กรณีหน่วยงานรัฐบางส่วนของสหรัฐหยุดทำงานนี้ไม่น่ากังวลว่า จะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและส่งออกไทย ซึ่งตอนนี้ยังไม่พบข้อมูลว่ามีผู้ส่งออกได้รับความเสียหายจากปัญหาในสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสหรัฐจะหาทางออกร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนฯและสภาคองเกรสได้ภายในไม่เกิน 3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เพราะหากปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นนานจะยิ่งสร้างความเสียหายมาก เนื่องจากปัจจุบันปัจจัยทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว และพื้นฐานของสหรัฐก็ไม่ได้แข็งแรงเหมือนอดีต

 

 

 

ขณะที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า วิกฤตเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐ คาดว่าสหรัฐจะสามารถแก้ปัญหาให้คลี่คลายได้ใน 1-2 สัปดาห์นี้ และไม่น่ามีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมากนัก


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ต.ค. 2556 เวลา : 04:05:04
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 6:01 pm