การตลาด
สกู๊ป...อิออนเปิดฉากขนธุรกิจในเครือบุกตลาดไทย


 

 

 

ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ 2 ที่กลุ่มอิออน ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญในการนำธุรกิจในเครือเข้ามาเปิดให้บริการ  เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี ธุรกิจที่เข้ามามี 5 กลุ่มทั้งกลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ต "แม็กซ์แวลู" ธุรกิจจัดหาคู่ในชื่อ "สไว" ธุรกิจผลิตสินค้า "ท็อปแวลู" และธุรกิจสวนสนุกในร่ม "อิออนแฟนตาซี"

 

  

 

ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ 2 ที่กลุ่มอิออน ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญในการนำธุรกิจในเครือเข้ามาเปิดให้บริการ เนื่องจากไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี สังเกตได้จากผลประประกอบการในแต่ละปีที่มีอัตราการเติบโต ไม่ต่ำกว่า 20-30% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นที่ปัจจุบันมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีเพียง 5% เท่านั้น  
ปัจจุบันกลุ่มอิออน ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาขยายธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มธุรกิจการเงิน ภายใต้การดูแลของบริษัท อิออนธนสินทรัพย์ 2. กลุ่มธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ต ดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อ แม็กซ์แวลู 3.ธุรกิจจัดหาคู่  ดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อ สไว 4.ธุรกิจผลิตสินค้า   ดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อ   ท็อปแวลู   และ 5. ธุรกิจสวนสนุกในร่ม ดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัท อิออนแฟนตาซี ดูแลและบริหารงานสวนสนุกในร่มภายใต้ชื่อ มอลลี่ แฟนตาซี และคิดส์ซูน่า
 
 
ธุรกิจสวนสนุกในร่มถือเป็นธุรกิจใหม่ล่าสุดที่ได้นำเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งหลังจากเข้ามาชิมลางเปิดสวนสนุกในร่มภายในแบรนด์มอลลี่ แฟนตาซี และคิดส์ซูน่า จำนวน 4 สาขาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา พบว่าได้ผลการตอบรับที่ดีจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ส่งผลให้แผนการดำเนินธุรกิจระยะยาวนับจากนี้เป็นเวลา 7 ปี มีแผนที่จะขยายสาขาให้ครบ 200 สาขา เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีใครเข้ามาทำธุรกิจสวนสนุกในร่มอย่างจริงจัง ทั้งที่ความต้องการในตลาดมีสูงไม่ว่าจะเป็นตลาดในกรุงเทพฯ
 
 
นายฮิโรทากะ ฟุคุโมริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิออน แฟนซาซี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า รูปแบบของสวนสนุกในร่มที่บริษัทได้นำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยครั้งนี้ จะเป็นรูปแบบเดียวกับที่เปิดให้บริการในประเทศญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ของมอลลี่ แฟนตาซี ซึ่งจะเป็นเครื่องเล่นหยอดเหรียญสำหรับเด็กอายุระหว่าง 3-12 ปี ขณะที่แบรนด์คิดส์ซูน่า จะเป็นเครื่องเล่นสำหรับเสริมพัฒนาการแบบเสียค่าเข้าสำหรับเด็กอายุระหว่าง 3-8 ปี   เช่น ลู่วิ่ง บ้านบอล สไรเดอร์ และโซนการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กๆ ได้ฝึกอาชีพ และทำอาหาร เป็นต้น ซึ่งแต่ละสาขาที่เปิดให้บริการไปแล้วจะมีสวนสนุกของทั้ง 2 แบรนด์เปิดให้บริการควบคู่กันไป
สำหรับอัตราค่าบริการวันธรรมดา เด็กที่มีส่วนสูงต่ำกว่า 105 ซม.จะคิดค่าบริการที่ประมาณ 180 บาท วันหยุด 300 บาท ส่วนเด็กที่มีส่วนสูงมากกว่า 105 ซม. วันธรรมดาจะคิดค่าบริการอยู่ที่ประมาณ 222 บาท และวันหยุดคิดค่าบริการอยู่ที่ประมาณ 360 บาท ซึ่งในส่วนของค่าบริการลูกค้าจ่ายครั้งเดียวสามารถใช้บริการได้ทั้งวัน นอกจากนี้พ่อแม่ผู้ปกครองยังสามารถเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับบุตรหลายภายในสวนสนุกได้อีกด้วย 
ในส่วนของทำเลที่บริษัท อิออน แฟนตาซี(ประเทศไทย) ให้ความสนใจจะนำแบรนด์สวนสนุกในร่มทั้ง มอลลลี่ แฟนตาซี และคิดส์ซูน่า เข้าไปเปิดให้บริการนั้น จะเน้นทำเลศูนย์การค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พื้นที่ที่ต้องการจะมีตั้งแต่ขนาด 800-1,000 ตร.ม. เนื่องจากแต่ละสาขาที่ให้บริการจะมีสวนสนุก 2 แบรนด์อยู่ด้วยกัน แต่จากการเข้ามาทำธุรกิจสวนสนุกในประเทศไทยพื้นที่ต่ำสุดในการขยายสาขาอยู่ที่ศูนย์การค้าเมกะ บางนา
ส่วนงบการลงทุนเปิดสวนสนุก นายฟุคุโมริ กล่าวว่า แต่ละสาขาคาดว่าจะใช้งบลงทุนอยู่ที่ประมาณ 30-40 ล้านบาท ซึ่ง 4 สาขาที่เปิดให้บริการไปแล้วแต่ละสาขาใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสาขาเกตเวย์ เอกมัย ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,700 ตร.ม.ใช้งบลงทุนไป 60 ล้านบาท สาขาเมกะ บางนา ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,200 ตร.ม.ใช้งบลงทุน 40 ล้านบาท เดอะมอลล์ บางแค ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,400 ตร.ม.ใช้งบลงทุน 40 ล้านบาท และพาราไดส์พาร์ค ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,200 ตร.ม. ใช้งบลงทุน 40 ล้านบาท 
ก่อนหน้าที่จะขยายสาขาครบ 200 สาขาในปี 2563 ภายใต้งบลงทุนที่เตรียมไว้ประมาณ 5,000 ล้านบาท ในส่วนของปีหน้ามีแผนที่จะขยายสวนสนุกในร่มแบรนด์มอลลี่ แฟนตาซี และคิดส์ซูน่าเพิ่มอีกประมาณ 15 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งจังหวัดที่เจรจากับศูนย์การค้าเรียบร้อยพร้อมเข้าไปเปิดให้บริการแล้ว ประกอบด้วย ภูเก็ต ระยอง และศรีราชา ซึ่งจากแผนการดำเนินธุรกิจดังกล่าว บริษัท อิออน แฟนตาซี (ประเทศไทย) คาดการณ์ว่าจะมีรายได้จากดำเนินธุรกิจสวนสนุกมอลลี่ แฟนตาซี และคิดส์ซูน่าไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ภายหลังจากมีสาขาครบ 200 สาขา ในปี 2563 
นอกจากนี้ กลุ่มอิออน ประเทศญี่ปุ่น ยังมีแผนที่จะนำธุรกิจในเครือที่เหลือเข้ามาสยายปีกในประเทศไทยเพิ่มเติม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมพร้อมว่าจะนำธุรกิจในเครือที่เหลือเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มอีกประมาณ 3 ธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจศูนย์การค้าภายใต้ชื่อ อิออนมอลล์ ธุรกิจโรงภาพยนตร์ภายใต้ชื่อ อิออนซีนีม่า และธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์ ภายใต้ชื่อ อิออนเพ็ท
 
 
 
สำหรับธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ที่จะนำเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในอีก 2-3 ปีนับจากนี้   เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์ ภายใต้ชื่อ อิออนเพ็ท ซึ่งการที่เลือกธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์เป็นธุรกิจแรกจากทุกธุรกิจที่กำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้   เพราะว่าการแข่งขันน้อย   อีกธุรกิจที่คาดว่าจะนำเข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทยรองจากธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์ คือ ธุรกิจโรงภาพยนตร์ภายใต้ชื่อ อิออนซีนีม่า และปิดท้ายด้วยธุรกิจศูนย์การค้าชื่อ อิออนมอลล์
 
 
ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มอิออน สนใจที่จะนำธุรกิจศูนย์การค้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับสุดท้าย เพราะว่าผู้ประกอบการศูนย์การค้าในประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง ดังนั้นการจำนำธุรกิจศูนย์การค้าเข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย จึงต้องทำการศึกษาตลาดเป็นอย่างดีก่อนที่จะนำธุรกิจเข้ามาลงทุน ซึ่งระหว่างรอการศึกษาตลาดในประเทศไทยกลุ่มอิออน ประเทศญี่ปุ่นก็ปักธงเตรียมบุกตลาดประเทศเพื่อนบ้าน และเมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มอิออน ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าไปลงทุนก้อนกับธุรกิจอิออนมอลล์ ในประเทศกัมพูชา คาดว่าภายในปี 2557  นี้จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ
ส่วนธุรกิจที่เหลือไม่ว่าจะเป็นธุรกิจดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ภายใต้ชื่อ อิออน ซึ่งเปลี่ยนมาจากห้างจัสโก้   หรือธุรกิจบริการด้านรักษาความปลอดภัยและทำความสะอาดภายใต้ชื่อ อิออนดีไลท์ ธุรกิจธนาคาร ภายใต้ชื่อ อิออนแบงก์ หรือธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์ ภายใต้ชื่อ มินิสต็อป กลุ่มอิออนไม่มีแผนที่จะนำมาเปิดให้บริการในประเทศไทย เนื่องจากการแข่งขันของกลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีความรุนแรง
ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกและบริการของกลุ่มอิออน ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นมีทั้งหมด 11 ธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจอิออนดีพาร์ทเม้นท์สโตร์   ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตแม็กซ์แวลู ธุรกิจศูนย์การค้าอิออนมอลล์ ธุรกิจบัตรเครดิอิออน ธุรกิจธนาคารอิออนแบงก์ ธุรกิจจัดหาคู่ สไว   ธุรกิจโรงภาพยนตร์อิออนซีนีม่า ธุรกิจผลิตสินค้าท็อปแวลู ธุรกิจคอนวีเนียนโตร์มินิสต๊อป และธุรกิจสวนสนุกอิออนแฟนตาซี   ซึ่งธุรกิจที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงหนึ่งหน่วยงานที่ดูแลเท่านั้น เพราะปัจจุบันกลุ่มอิออน ประเทศญี่ปุ่น มีธุรกิจในเครือมากกว่า  180 ธุรกิจ
จากจำนวนธุรกิจที่มากมายมหาศาล และมีผู้ดูแลหลายกลุ่ม แต่หากมองให้แคบลงเหลือแค่เพียงธุรกิจค้าปลีกและบริการ แม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียง 5% ต่อปี แต่หากมาดูที่มูลค่าของรายได้แล้วถือว่าเป็นฐานที่กว้างมากพอสมควร ซึ่งในส่วนของปีนี้กลุ่มอิออน ประเทศญี่ปุ่นคาดว่าจะมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจทั้ง 11 หน่วย อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
ทั้งนี้ ธุรกิจที่สร้างรายได้ให้มากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น คือ อิออนดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ตามด้วยอิออนเครดิตการ์ด และอิออนมอลล์ ขณะที่ประเทศไทยธุรกิจที่ทำรายได้ให้มากที่สุด คือ บัตรเครดิตอิออนของอิออนธนสินทรัพย์ เพราะปัจจุบันมีจำนวนสาขาเปิดให้บริการมากกว่า 100 สาขา ตามด้วยธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต แม็กซ์แวลู ปัจจุบันมีสาขาเปิดให้บริการกว่า70 สาขา และอิออนแฟนตาซี ปัจจุบันมีจำนวนสาขาเปิดให้บริการ 4 แห่งและจะเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 15 สาขาในปี 2557 
การออกมาขยายธุรกิจในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งประเทศที่กลุ่มอิออน ญี่ปุ่นให้ความสนใจ คาดว่าในแต่ละปีน่าจะมีรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20-30% ต่อเนื่องไปอีกหลายปี เพราะในอนาคตอันใกล้จะมีอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 ธุรกิจเข้ามาช่วยเสริมทัพความแข็งแกร่ง แม้ว่าขณะนี้กลุ่มอิออนจะไม่มีภาพรวมรายได้ในประเทศไทย แต่จากการคาดการณ์ของกลุ่มธุรกิจสวนสนุกในร่มเพียงธุรกิจเดียว คาดว่าอีก 7  ปีข้างหน้าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท คงจะพอเป็นฐานตัวเลขให้คาดเดาได้ว่าในแต่ละปีน่าจะมีรายได้จากประเทศไทยในตัวเลขหลักใด
ยิ่งแนวทางการดำเนินธุรกิจนับจากนี้จะให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น และไทยเป็นประเทศที่ 2 รองจากมาเลเซีย ขณะที่ปีหน้าก็มีแผนที่จะนำธุรกิจในเครืออย่างธุรกิจศูนย์การค้าภายใต้ชื่อ อิออนมอลล์ ธุรกิจสวนสนุกในร่มภายใต้ชื่อ อิออนแฟนตาซี และธุรกิจดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ภายใต้ชื่อ อิออน เข้าไปเปิดให้บริการในประเทศเวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย คาดว่าในอนาคตข้างหน้าเม็ดเงินรายได้ที่จะได้รับจากต่างประเทศน่าจะนำมาชดเชยรายได้ภายในประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มชะลอตัวในไม่ช้านี้ 
 
 

LastUpdate 27/12/2556 18:20:20 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 8:33 pm