เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
TMB มองสนามบินสุวรรรณภูมิเสียโอกาส หากไม่รีบขยาย


 

 

 

TMB Analytics มองขยายสนามบินสุวรรณภูมิจำเป็นยิ่ง ปูทางสู่ศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาค เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินที่เติบโตต่อเนื่องและเพื่อหนุนการท่องเที่ยวไทย

 

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาค จากอุตสาหกรรมการบินที่เติบโตต่อเนื่องและเพื่อช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของไทย

ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิมีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้เพียง 45 ล้านคนต่อปี แต่ในปีงบประมาณ 2556 มีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 50.9 ล้านคน แม้ว่าสายการบินต้นทุนต่ำ ไม่ว่าจะเป็นสายการบินในกลุ่มแอร์ เอเชีย และนกแอร์ ได้ย้ายไปทำการบินที่ท่าอากาศยานดอนเมือง แต่ก็ทำให้ผู้โดยสารรวมลดลงเพียง 2.8% โดยผู้โดยสารระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 42.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.8% จากปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารสัญชาติจีน รัสเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการมีการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 6.4% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ TMB Analytics มองว่า อัตราการเติบโตของผู้โดยสารจะแตะที่ 54 ล้านคนในปี 2557, 57 ล้านคนในปี 2558 และ 61 ล้านคน ในปี 2559

 

 
 
 
เมื่อเทียบกับสนามบินคู่แข่งอย่างสนามบินชางงีของสิงคโปร์และสนามบินกัวลาลัมเปอร์ (KL)ของมาเลเซีย สุวรรณภูมิมียอดผู้โดยสารสูงสุด 52.4 ล้านคน ใกล้เคียงกับชางงี (51.2 ล้านคน)และสูงกว่า KL (39.8 ล้านคน) ขณะที่ในด้านจำนวนของเที่ยวบิน สุวรรณภูมิมีเที่ยวบินขึ้นลงต่อปี 326,970 เที่ยว ส่วนชางงี 324,722 เที่ยว และ KL 283,352 เที่ยว 
 
ทั้งนี้ ท่าอากาศยานไทย (ทอท.)วางแผนขยายเฟส 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิให้แล้วเสร็จในปี 2559 ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคนต่อปี มูลค่าลงทุนกว่า 62.5 พันล้านบาท ขณะนี้ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการเข้ามาควบคุมงาน โดยในวงเงินดังกล่าว จะเป็นงานสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 มีหลุมจอดประชิดอาคาร 28 หลุมจอด ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบิน ระบบขนส่งผู้โดยสารตลอดจนงานสาธารณูปโภค แต่มิได้รวมถึงแผนการสร้างรันเวย์ที่ 3 เพิ่ม
 
ขณะที่สนามบินชางงีมีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารที่ 4 กำหนดจะเปิดใช้งานปี 2560 คาดว่าจะรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 16 ล้านคน เป็น 82 ล้านคน และเปิดใช้รันเวย์ที่ 3 ภายในปี 2563 ส่วนสนามบิน KL ได้เปิดทดลองใช้รันเวย์ที่ 3 แล้วในปลายปี 2013 เพื่อเพิ่มการรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 10 ล้านคน เป็น 45 ล้านคน 
 
ทางด้านบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินอย่างโบอิ้งเองมีมุมมองเชิงบวกต่อธุรกิจสายการบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปริมาณความต้องการในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยโบอิ้งมองว่า ตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงปี 2575 จะส่งมอบเครื่องบินใหม่มูลค่ารวม 4.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมมองปริมาณการเดินทางท่องเที่ยวทางอากาศในเอเชีย-แปซิฟิกจะขยายตัวประมาณ 6.2% ต่อปีในช่วง 20 ปีข้างหน้านี้
 
ดังนั้น ถ้าสนามบินสุวรรณภูมิจะเอาชนะคู่แข่งขันในการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ควรต้องรีบแก้ปัญหาให้ครบวงจรตลอดสาย ตั้งแต่การให้บริการตรงปลายน้ำ การสร้างอาคารผู้โดยสารที่จะช่วยตรงกลางน้ำ และแก้ปัญหาต้นน้ำ คือ รันเวย์ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะปัจจุบันมีเพียง 2 รันเวย์เท่านั้น และเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินบนรันเวย์หรือมีความจำเป็นต้องปิดซ่อม จะทำให้การจราจรของอากาศยานติดขัดอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2556 การสร้างรันเวย์ที่ 3 จึงเป็นความจำเป็นเพื่อจะช่วยลดปัญหาคอขวดและยังสามารถรองรับผู้โดยสารให้มากขึ้นได้ จึงควรจะต้องเร่งแก้ปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งในแง่สิ่งแวดล้อมและพื้นที่ก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียโอกาสจากการแข่งขันอย่างดุเดือดเพื่อที่จะตั้งศูนย์กลางการบินของภูมิภาค
 
นอกจากอุตสาหกรรมการบินที่จะได้ประโยชน์จากการขยายสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว ยังส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวด้วย ในด้านรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในอาเซียน ตามด้วยมาเลเซียและสิงคโปร์ การเติบโตแบบพึ่งพากันของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อที่ไทยจะได้เป็นศูนย์กลางการบินและการท่องเที่ยวของภูมิภาค สร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ม.ค. 2557 เวลา : 17:27:13
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 10:15 am