เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ท่องเที่ยวทรุดหนักหลังครม.ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ


 

 

 

 

ในที่สุดคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) หลังจากที่มีกระแสข่าวการยกระดับการควบคุมการชุมนุมออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา 

 

โดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรักษาการ รมว.ต่างประเทศ แถลงว่า ที่ประชุม ครม. ตัดสินใจให้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร บางส่วนของจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี(ลาดหลุมแก้ว) เป็นเวลา 60 วัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 57 โดยมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ 

 

 

 

เพื่อดูแลและควบคุมสถานการณ์และเพื่อให้ขบวนการประชาธิปไตยของประเทศได้เดินหน้าต่อไป เนื่องจากการชุมนุมประท้วงมีการกระทำที่เกินเลยขอบเขต และมีการก่อเหตุจากผู้ไม่ประสงค์ดี จนทำให้ประชาชนเสียชีวิต รวมทั้งมีการเสนอข้อมูลข่าวสารในสื่อต่างๆ ในลักษณะบิดเบือน ยุยงสร้างความแตกแยก ส่งผลต่อความมั่นคงภายในประเทศ โดยรัฐบาลจะยึดแนวทางการปฏิบัติตามหลักสากลแก่ผู้ชุมนุม และจะไม่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม 



 


ภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจอำนวยการ ซึ่งครม.มีมติแต่งตั้งให้นายสุรพงษ์ เป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติแทน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี โดยนายสุรพงษ์ เตรียมเชิญทูตต่างประเทศมารับการชี้แจงการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

 

ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการ รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) ที่จะทำหน้าที่ดูแลสถานการณ์ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กล่าวว่า แนวทางการปฏิบัติของ ศรส.มี 5 ข้อ คือ ใช้กฎหมายเป็นหลัก, ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข, ให้ผู้ชุมนุมใช้สิทธิตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ คือการชุมนุมโดยสงบสันติปราศจากอาวุธ, การดูแลผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่จะใช้หลักสากล กระทำการด้วยความละมุนละม่อม เน้นการเจรจามากกว่าใช้กำลัง และ ผู้ชุมนุมและผู้เกี่ยวข้องต้องเคารพสิทธิของบุคคลอื่นเช่นเดียวกัน และจะไม่มีการสลายม็อบในเวลากลางคืน ใช้การเจรจาโดยยึดกฎหมายเป็นหลัก 

 

ส่วน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศใช้เคอร์ฟิวเพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ในการเข้าไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยจะเน้นพื้นที่ที่มีความเดือดร้อนและมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการประเมินพบว่า พื้นที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะเป็นจุดที่ประชาชนไดรับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการทำหนังสือเดินทางที่กรมการกงสุล ซึ่งคาดว่า หลังจากออกประกาศ ศรส.ภายใน 1-2 วันนี้ กรมการกงสุลจะต้องทำงานได้ 

 

 

 

สำหรับผลกระทบด้านการท่องเที่ยว นายศิษฎิวัชร ชีวิรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ยอมรับว่า การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวแย่ลงกว่าเดิม เนื่องจากปัจจุบันมีการชุมนุมที่ทำให้กรุงเทพฯมีภาพลักษณ์ด้านความไม่ปลอดภัยอยู่แล้ว หากมีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก นักท่องเที่ยวอาจยกเลิกการเดินทางมาประเทศไทยทั้งหมด 

 

ทั้งนี้ปัญหาการเมืองในขณะนี้ถือว่าวิกฤตมากเกินกว่าที่แต่ละฝ่ายจะตกลงกันได้ ทำให้ภาคเอกชนท่องเที่ยวยังมองไม่เห็นทางออกที่จะทำการตลาดหรือชี้แจงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวรับทราบ

 

ด้านนางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สทท.จะนัดประชุมด่วนพิเศษเพื่อหารือ เรื่องการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่าจะส่งผลกระทบกับสถานการณ์การท่องเที่ยวมากน้อยแค่ไหน และจะมีการติดตามประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน 


LastUpdate 22/01/2557 10:57:40 โดย : Admin
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 6:18 pm