การตลาด
สกู๊ป......พิษการเมืองส่งสัญญาณญี่ปุ่นชะลอลงทุนร้านอาหารไทย


 

 

สถานการณ์การเมืองไทยพ่นพิษ องค์กรส่งเสริมร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศหรือ JRO รับ นักลงทุนร้านอาหารจากญี่ปุ่น เริ่มยกเลิกมาขยายธุรกิจในไทย

 

 

ร้านอาหารญี่ปุ่น ถือเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่เริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้กลุ่มนักธุรกิจญี่ปุ่นเริ่มมีความลังเลในการขยายธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย เพราะยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ว่าจะจบลงอย่างไร

ล่าสุดองค์กรส่งเสริมร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศ (Organization to Promote Japanese Restaurants Aboard หรือ JRO) ออกมายอมรับว่า สถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้นักลงทุนร้านอาหารจากประเทศญี่ปุ่นเริ่มยกเลิกการเข้ามาขยายธุรกิจในประเทศไทย

 


 
นายยาสึมาสะ  อาซะอิ ผู้จัดการฝ่ายสาขาประเทศไทย (ขวาในภาพ)โครงการส่งเสริมการเผยแพร่ร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศ องค์กรส่งเสริมร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศ ( JRO) กล่าวว่า  จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ยอมรับว่ามีความกังวลอยู่บ้างและหากสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ต่อเนื่อง  คาดว่าจะส่งผลให้นักลงทุนร้านอาหารจากประเทศญี่ปุ่นยกเลิกการเข้ามาขยายธุรกิจในประเทศไทย รวมถึงบริษัทใหม่ๆ ที่ต้องการเข้ามาลงทุนร้านอาหารในประเทศไทยที่อาจชะลอการลงทุนตามไปด้วย
 
จากปัจจัยลบทางการเมืองที่เกิดขึ้น นายอาซะอิกล่าวต่อว่า อยากเห็นข้อสรุปทางการเมืองในประเทศไทยในเร็ววันนี้   เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะนักธุรกิจในกลุ่มร้านอาหาร เนื่องจากประเทศไทยยังมีช่องว่างอีกมากให้ร้านอาหารญี่ปุ่นเข้ามาขยายธุรกิจ
 
ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นเข้ามาเปิดให้บริการอยู่ที่ประมาณ  1,800 สาขา  มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับ 7 ของโลก จากเมื่อ 10 ปีก่อนอยู่ลำดับที่ 20   ซึ่งจากการขยายตัวดังกล่าวคาดว่า ในอีก 3-4 ปีข้างหน้าจะมีร้านอาหารญี่ปุ่นเข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 3,000 สาขา

ปัจจัยที่ทำให้ร้านอาหารญี่ปุ่นมีการขยายตัวที่ดีในประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีและในอนาคตคาดว่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 30-40 ล้านคนจากปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยประมาณ  25 ล้านคน
 
นายอาซะอิ กล่าวว่า หากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 30-40 ล้านคนได้  จะส่งผลให้ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยเพิ่มจำนวนขึ้นได้ ขณะที่การลงทุนโดยรวมปัจจุบันมีนักลงทุนอยู่ 20,000 ราย หากเพิ่มขึ้นเป็น 30,000-40,000 ราย จะทำให้ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยเติบโตได้อีก

 


 
จากแนวโน้มที่ดีดังกล่าว ส่งผลให้ JRO  ต้องออกมาตอกย้ำคุณภาพสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในประเทศญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ด้วยการจัดงานเฉลิมฉลองรางวัลอันทรงเกียรติที่ประเทศญี่ปุ่นได้รับจากยูเนสโก โดยจัดงานเทศกาลร้านอาหารญี่ปุ่น ประจำปี 2557 ในเดือน ก.พ.  เพื่อเชิญชวนคนไทยให้ร่วมลิ้มรสอาหารญี่ปุ่นต้นตำรับ 
 
ทั้งนี้เทศกาลดังกล่าวจะจัดขึ้นที่ร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ รวม 73 ร้าน ซึ่งแต่ละร้านจะเสิร์ฟเมนูอาหารด้วยวัตถุดิบคุณภาพทั้งผัก ผลไม้ และอาหารทะเล ส่งตรงจากประเทศญี่ปุ่น ถือว่าจัดขึ้นเป็นพิเศษสำหรับเทศกาลนี้โดยเฉพาะ เช่น ร้าน Yamazato, Nippon tei, Ume no Sato, ZUMA, Sakuragawa, Tsukiji, Gyu Gyu Tei และ Hachiban Ramen

นอกจากนี้วัตถุดิบหลักที่จะใช้ประกอบอาหารญี่ปุ่นจานพิเศษ เพื่อเสิร์ฟในเทศกาลพิเศษครั้งนี้ยังประกอบด้วย ปลาบุรีฤดูหนาวจากจังหวัดอิชิคาวะ , เนื้อวัวโอมิจากจังหวัดชิกะ และสตรอเบอร์รี่อะมะโอจากจังหวัดไอจิ ส่วนวัตถุดิบรองประกอบด้วยหอยเชลล์จากฮอกไกโด, ไข่ปลาแซลมอนจากฮอกไกโดเช่นเดียวกัน และปลาคัมปาจิ จากจังหวัดเอฮิเมะ ส่วนวัตถุดิบอื่นนอกจากนี้คือบะหมี่ชิมะดะยะเซเม็ง, ข้าวซะซะนิชิคิ, มะเขือเทศโมโมทาโร่ และเบียร์อาซาฮี ซึ่ง 3 รายการหลังนี้ปลูกและผลิตในประเทศไทย
 
ด้านนายมิตซุงุ ไซโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยกล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นมาประเทศไทยในช่วงปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการส่งออกจนถึงเดือน พ.ย.2556 สูงถึง 31,800 ล้านเยน ซึ่งสูงกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ปิดอยู่ที่ 26,500 ล้านเยน ขณะที่ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยเพิ่มจำนวนมากขึ้นหรือมากกว่า 1,800 ร้าน ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารญี่ปุ่นจะเติบโตและยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง
 
ขณะที่หน่วยงานสนับสนุนการลงทุนร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยเร่งเดินหน้าสร้างความมั่นใจและส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย ในส่วนของร้านอาหารญี่ปุ่นที่ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยก็ไม่หวั่นวิกฤตการเมือง กัดฟันเดินหน้าขยายธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้น คือ ร้านอากะ 

 

 

 
นายชิตพล วิวัฒนาเกษม กรรมการผู้จัดการกลุ่มแบรนด์ AKA (อากะ) บริษัท เซ็นเรสเตอร์รองโฮลดิ้ง จำกัด ผู้บริหารร้านอาหารยากินิกุปิ้งย่างแบรนด์อากะ  กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทได้เตรียมงบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจร้านอากะ  ซึ่งงบประมาณที่เตรียมไว้ดังกล่าวถือเป็นการลงทุนใหญ่สุดในรอบ 7 ปี  ของการนำแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นอากะ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
 
สำหรับงบประมาณที่เตรียมไว้ดังกล่าว  80 ล้านบาท จะใช้ไปกับการขยายสาขาใหม่ 3 แห่ง คือ ที่ศูนย์การค้าเมกะ บางนา ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ สาขาบางแค และพาซิโอคอมมูนิตี้ มอลล์ ถนนสุขาภิบาล 3  ส่วนงบที่เหลืออีกประมาณ 20 ล้านบาท จะใช้ในการทำกิจกรรมทางการตลาดตลอดทั้งปีนี้
 
นอกจากนี้ บริษัท เซ็นเรสเตอร์รองโฮลดิ้ง ยังได้ปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่ด้วยการปรับตำแหน่งของร้านเป็นอาหารปิ้งย่างญี่ปุ่นให้อยู่ในระดับพรีเมียมแมส และเน้นการจำหน่ายแบบตามสั่งเป็นชุดหรืออะลาการ์ต และจะค่อยๆ ทยอยลดการตลาดแบบบุฟฟเฟต์ลง คาดว่าสิ้นปีนี้จะเลิกการขายแบบบุฟเฟต์ได้หมด เนื่องจากกลยุทธ์บุฟเฟต์นั้นมีการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างรุนแรง  

 


 
นายชิตพล กล่าวว่า การหันมาทำตลาดยากินิกุปิ้งย่างระดับพรีเมียมแมสในครั้งนี้ เพราะยังมีช่องว่างให้เข้ามาทำตลาดอีกมาก และมีแนวโน้มเติบโตสูงด้วย  ซึ่งเซกเมนต์พรีเมียมแมสนี้มีประมาณ 20% ของตลาดยากินิกุรวม 4,200 ล้านบาท ส่วนตลาดระดับบนมีประมาณ 5% ขณะที่อีก 60-70% นั้นเป็นระดับแมส และที่เหลือเป็นทั่วไป ซึ่งจากแนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าว  คาดว่าภายในปีนี้น่าจะปรับโฉมร้านและบริการเป็นแบบอะลาการ์ตหรือตามสั่งได้ทั้งหมด 11 สาขาที่มีอยู่ในขณะนี้  
 
พร้อมกันนี้บริษัท เซ็นเรสเตอร์รองโฮลดิ้ง  ยังจะเน้นการออกโปรโมชั่นในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้มีความหลากหลาย  โดยล่าสุดเปิดตัว ยากินิคุเซต มีตั้งแต่ราคา 590 บาท 690 บาท และ 790 บาท โดยเฉลี่ยลูกค้าเข้าร้านมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 380-600 บาทต่อคน  ซึ่งหลังจากปรับแผนการทำตลาดสิ้นปี บริษัท เซ็นเรสเตอร์รองโฮลดิ้ง  คาดว่าจะมีรายได้รวมประมาณ 600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปี 2556  ที่มีรายได้ประมาณ 450 ล้านบาท เติบโต 10% จากปี 2555        
 
ร้านอาหารญี่ปุ่นประเภทปิ้งย่างถือเป็นหนึ่งในเซกเมนต์ของร้านอาหารญี่ปุ่นทั้งหมด ซึ่งในส่วนของปีนี้มีการคาดการณ์กันว่า ภาพรวมตลาดร้านอาหารปิ้งย่างจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ  5,000 ล้านบาท เติบโต 20% จากปี 2556 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 4,200 ล้านบาท เติบโต 30% จากปี 2555 แบ่งเป็นสัดส่วนตลาดประเภทบุฟเฟต์ 70% และแบบอะลาการ์ตหรือตามสั่ง 30% 



LastUpdate 29/01/2557 16:18:26 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 3:41 pm