บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (KTIS) ) ที่ดำเนินธุรกิจทั้งการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายและธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างครบวงจร หรือ “More than sugar “ มั่นใจพร้อมตบเข้าเป็นน้องใหม่ เทรดในตลาดหุ้นไทยได้ในครึ่งแรกของปี เพื่อเปิดโอกาสแก่นักลงทุนทั่วไป
ในแวดวงอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยนับว่า มีผู้เล่นโดดเด่นอยู่หลายค่าย รวมถึงกลุ่มมิตรผลและกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง ส่วนอีกบริษัทที่มีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน ได้แก่ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (KTIS) ที่ดำเนินธุรกิจทั้งการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายและธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างครบวงจร อาทิ ผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษจากชานอ้อย ผลิตและจำหน่ายเอทานอลธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจปุ๋ยชีวภาพ
การมีธุรกิจหลากหลายที่มากกว่าน้ำตาล (More than sugar) เป็นสิ่งที่ KTIS ถือเป็นจุดเด่นของตนเองและสร้างความเชื่อมั่นว่า พร้อมจะตบเข้าเป็นน้องใหม่เทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหุ้นไทยได้ในอนาคตอันใกล้ เพื่อเปิดโอกาสแก่นักลงทุนทั่วไป
จากโชวห่วยถึงโรงงานน้ำตาล
ทั้งนี้บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS มีชื่อเดิมว่า บริษัทเกษตรไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล จำกัด และรู้จักในนามของ “กลุ่มน้ำตาลไทยเอกลักษณ์” ที่ก่อตั้งโดยคุณจรูญ และคุณหทัย ศิริวิริยะกุล เป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลทรายที่มีประสบการณ์ดำเนินธุรกิจมากว่า 50 ปี โดยเริ่มต้นจากการเจ้าของร้านค้าโชวห่วย ที่ผันตัวมาเป็นยี่ปั๊วน้ำตาล ก่อนขยับร่วมลงขันกับกลุ่มยี่ปั๊วค้าน้ำตาลในจ.นครสวรรค์ซื้อโรงงาน ซึ่งปัจจุบันรู้จักในชื่อ "โรงงานน้ำตาลรวมผล" เมื่อปี 2510
การเป็นผู้ผลิตน้ำตาลเต็มตัวไปได้สวย สามารถขยายกำลังการผลิตได้ต่อเนื่อง จาก 500 ตันอ้อยต่อวัน เป็น 15,000 ตันอ้อยต่อวัน ก่อนซื้อโรงงานแห่งที่ 2 ในปี 2524 มีชื่อว่า บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด ซึ่งสามารถดันกำลังการผลิตจาก 600 ตันอ้อยต่อวัน จนปัจจุบันอยู่ที่ 18,000 ตันอ้อยต่อวัน ได้สำเร็จอีกเช่นเคย
ต่อมามีการขยายกิจการต่อเนื่อง ซื้อโรงงานผลิตน้ำตาลแห่งที่ 3 ที่จ.กาญจนบุรีชื่อว่า โรงงานน้ำตาลเกษตรไทย กำลังการผลิต 6,000 ตันอ้อยต่อวัน โดยย้ายมาตั้งที่อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงงานเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น และสามารถขยายกำลังการผลิตของโรงงานแห่งนี้ได้สูงถึง 55,000 ตันอ้อยต่อวันในปี 2556/2557 ซึ่งถือเป็นโรงงานน้ำตาลทรายที่มีกำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ( 1 ตันอ้อยจะผลิตน้ำตาลทรายได้ 100 กิโลกรัม)
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำตาลจาก KTIS
นอกจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว KTIS ได้มองเห็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างครบวงจร จึงเป็นที่มาของธุรกิจสายชีวภาพตามมาอีกหลายอย่างตามมา ทั้งธุรกิจเอทานอล เยื่อกระดาษฟอกขาว ปุ๋ยอินทรีย์จากกากตะกอนหม้อกรอง(ผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทราย)และน้ำกากส่า(ผลพลอยได้จากการผลิตเอทานอล) การผลิตไบโอแก๊สจากน้ำกากส่าและการผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อยที่สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม KTIS ได้แล้ว โดยเริ่มขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมาและยังกำลังสร้างเพิ่มอีก 2 แห่งกำลังผลิตโรงละ 50 เมกะวัตต์
การมีธุรกิจหลากหลายทำให้ KTIS แข็งแรงขึ้นพร้อมพัฒนาไปอีกขั้น ด้วยการก้าวจากบริษัทจำกัดสู่การเป็นบริษัทมหาชน โดยได้จดทะเบียน เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 โดยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วจำนวน 3,274,573,000 บาท และได้มีมติเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 3,274,573,000 บาท เป็น 3,888,000,000 บาท เพื่อรองรับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยนายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS มั่นใจว่า พร้อมจะเข้าตลาดในครึ่งแรกของปีนี้ หลังจากต้องเลื่อนมาจากช่วงปลายปีที่แล้วสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย จากความไม่สงบทางการเมือง นอกจากนี้ยังมีเสียงเรียกร้องของนักลงทุน โดยเฉพาะจากกลุ่มชาวไร้อ้อยที่ต้องการร่วมเป็นเจ้าของกิจการ
ชูจุดเด่น อาณาจักรธุรกิจครบวงจร -พันธมิตรญี่ปุ่น
กล่าวได้ว่า อาณาจักรธุรกิจที่หลากหลายของ KTIS ช่วยส่งเสริมให้ KTIS โดดเด่นในแวดวงอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งพอจะสรุปจุดเด่นของ KTIS ได้ดังนี้คือ
1.กลุ่ม KTIS มีโรงงานน้ำตาลทรายรวม 3 แห่งตามที่กล่าวมาข้างต้น มีกำลังการผลิตรวม 88,000 ตันอ้อยต่อวัน โดยมี 1 โรงคือ โรงงานเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น มีกำลังการผลิตใหญ่ที่สุดในโลกถึง 55,000 ตันอ้อยต่อวัน ผลผลิตขายลูกค้าหลัก ๆ ในอุตสาหกรรม เช่น บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด, บริษัท คาราบาว ตะวันแดง จำกัด ,บริษัท แลคตาซอย จำกัด ,บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด, บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า จำกัดและบริษัท โอสถสภา จำกัด เป็นต้น สำหรับกลุ่มลูกค้าต่างประเทศนั้นส่วนใหญ่เป็นบริษัทเทรดดิ้งชั้นนำรายใหญ่ของโลก
2.ธุรกิจต่อเนื่องครบวงจร More Than Sugar ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบเหลือทิ้งจากอ้อยได้คุ้มค่าที่สุดจนไม่มีของเสีย หรือ Zero Waste โดยที่ทุกอย่างสามารถสร้างรายได้แก่ กลุ่ม KTIS ทั้งสิ้น
ธุรกิจต่อเนื่องในเครือมีดังนี้
2.1 บริษัท เอกรัฐพัฒนา จำกัด (EPC) บริหารโรงงานผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล มีกำลังการผลิต 230,000 ลิตรต่อวัน โดยผลิตได้ 3 เกรด ทั้งที่ใช้ในอุตสาหกรรม ใช้เป็นเชื้อเพลิงและรับประทานได้ จึงได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ส่วนลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของประเทศ เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) , บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน),บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และบริษัท สยามเมฆี จำกัด (มหาชน) โดยขายที่ราคาลิตรละ 26 บาทส่วนลูกค้าต่างประเทศ เช่น Alcotra ในสหรัฐ , Mitsubishi Corporation ของญี่ปุ่น และ Bunge ในสหรัฐ
การผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซิน นอกจากจะทำให้ประหยัดเงินตราของประเทศชาติในการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว เอทานอลยังทำให้เครื่องยนต์สะอาดขึ้น เนื่องจากการเผาไหม้ภายในห้องเครื่องสมบูรณ์ ทำให้มลพิษในอากาศลดลงกว่าการใช้น้ำมันเบนซิน
2.2 โครงการก๊าซชีวภาพ เป็นโครงการต่อเนื่องซึ่งมีการทำบ่อไบโอแก๊สขึ้นภายในโรงงานเอทานอล มีกำลังการผลิต 200,000 คิวบิกเมตรต่อวัน(2บ่อ) นับเป็นบ่อไบโอแก๊สที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือมีเทน ได้ประมาณ 60,000 ตันต่อปี
3.3บริษัท เกษตรไทยปุ๋ยชีวภาพ จำกัด (KTF) นำกากตะกอนหม้อกรอง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทราย และน้ำกากส่าซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการผลิตเอทานอล มาใช้ในการผลิตสิ่งที่เรียกว่า สารปรับปรุงดินและปุ๋ยชีวภาพ ปัจจุบันอยู่ในขั้นทดลองผลิต มีกำลังการผลิตเบื้องต้น 9,000 ตันต่อปี
2.4.บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด (EPPCO) ดูแลโรงงานผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย มีกำลังการผลิต 100,000 ตันต่อวัน ซึ่งธุรกิจนี้ช่วยทดแทนการตัดต้นไม้ได้มากถึงปีละ 32 ล้านต้น และยังได้เยื่อกระดาษที่สามารถรับประทานได้ด้วย เวลานี้ทาง KTIS จึงสนับสนุนให้พนักงานพัฒนาสูตรคุ๊กกี้ ที่อาจสานต่อเป็นธุรกิจต่อเนื่องได้อีกในอนาคต สำหรับลูกค้าซื้อเยื่อกระดาษจาก KTIS ส่วนใหญ่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกระดาษ อาทิบริษัท เอสซีจี เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท คิมเบอร์ลีย์ – คล๊าค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เซลล็อกซ์ จำกัด บริษัท ยูไนเต็ด เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (ไบโอชานอ้อย)
ส่วนลูกค้าต่างประเทศส่วนใหญ่ขายผ่าน Broker ที่เป็นบริษัทชั้นนำของโลก เช่น Marubeni Corporation ,OG Corporation และ Beijing China Base Star Paper Co.,Ltd.
2.5 บริษัท เกษตรไทยไบโอเพาเวอร์ จำกัด (KTBP)ดูแลโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย ต้นทุนการขนส่งต่ำเพราะขนส่งด้วยระบบสายพานจากโรงงานน้ำตาล ทำให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทถูกกว่าที่อื่นโดยมีต้นทุน 1 เมกะวัตต์ต่อ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ กำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ เริ่มขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 7 ตุลาคม 2556 โดยได้เซ็นสัญญาซื้อขายเป็นเวลา 7 ปี ขายที่ราคา 30 สตางค์ต่อ 1 ยูนิต สำหรับอีก 2 โรงที่กำลังสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2557 นี้และจำหน่ายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เหมือนเดิม
3.จุดเด่นอีกด้านของ KTIS คือ การให้ความสำคัญกับชาวไร่อ้อย ด้วยสโลแกนที่ว่า “ชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง กลุ่ม KTIS มั่นคง” มีการส่งเสริมสนับสนุนชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่อยู่ในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงให้ประสบความสำเร็จในอาชีพผ่านโครงการต่างๆ ที่นำมาซึ่งความมั่นคงและศักยภาพด้านวัตถุดิบเช่น โครงการโรงเรียนเกษตรกร ที่นำวิชาการปลูกอ้อยอย่างถูกวิธีมาเผยแพร่แก่ชาวไร่อ้อยและแนะนำเรื่องปุ๋ยและการปลูกอ้อยทนแล้ง นอกจากนี้ยังมีโครงการธนาคารพันธุ์อ้อย โครงการอ้อยสด มีฝ่ายไร่ดูแลชาวไร่อ้อยในสังกัดเสมือนสมาชิกของครอบครัวกลุ่ม KTIS รวมถึงการให้บริการจักรกลเกษตรให้แก่ชาวไร่ ทั้งเป็นการบริการโดยบุคลากรของกลุ่ม KTIS และการบริการให้เช่าเครื่องจักรกลเกษตรโดยชาวไร่จะนำเครื่องจักรกลเกษตรของกลุ่ม KTIS ไปใช้เอง
4.การพัฒนางานด้านวิศวกรรมอย่างต่อเนื่อง โดย KTIS เน้นพัฒนาบุคลากรวิศวกรและช่างเทคนิคให้พัฒนาความรู้ความสามารถจนนำไปสู่การสามารถสร้างเครื่องจักรได้เอง ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศและยังมีราคาถูกกว่า วิศวกรพัฒนาเองจึงรู้จุดอ่อน จุดแข็งทำให้สามารถซ่อมบำรุงได้อย่างรวดเร็ว ทันการและอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องรอวิศวกรจากต่างประเทศ ตัวอย่างเครื่องจักรที่พัฒนาเอง เช่น ลูกหีบอ้อย 1 ลูกหนัก 75 ตัน 6 ลูก 450 ตัน ซึ่งหนักกว่า เครื่องบินโบอิ้ง 747 เสียอีก นอกจากนี้ยังมีหม้อน้ำขนาด 300 ตัน สูงเท่าตึก 7 ชั้น ลูกสูบและเครื่องมัด 8 ก้อนสำหรับใช้มัดเยื่อกระดาษฟอกขาว ที่ลงทุนทำเองใช้งบประมาณเพียง 1 ล้านบาท ในขณะที่ราคานำเข้าอยู่ที่ 40 ล้านบาท เป็นต้น
5.สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ KTIS มีพันธมิตรทางธุรกิจกับ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น โดยกลุ่ม KTISได้ ร่วมทุนกับ บจก.ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้ค้าน้ำตาลรายใหญ่ของโลกและบจก.นิสชิน ชูการ์ (บริษัทลูกของซูมิโตโมฯ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรีไฟน์รายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศญี่ปุ่น โดยมีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ในปี 2556 ที่ผ่านมา เพื่อเข้ามาถือหุ้นในกลุ่ม KTIS โดยซูมิโตโมและนิสชินจะถือหุ้น KTIS ในบริษัทร่วมทุน 30% และบริษัทร่วมทุนดังกล่าวมาถือหุ้นใน KTIS 25%
เป็นที่คาดการณ์ว่า หลังจากที่หุ้น KTIS เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว การร่วมมือนี้จะส่งผลดีต่อกลุ่ม KTIS ทั้งด้านการนำองค์ความรู้ด้านการตลาดและประสบการณ์ในการเป็นบริษัทเทรดดิ้งชั้นนําของโลกจากซูมิโตโม รวมถึง know how ด้านการผลิตของนิสชิน ชูการ์ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เช่น การผลิตน้ำตาลที่ละลายช้า น้ำตาลไอซิ่งหรือน้ำตาลโลว์แคลอรี เป็นต้น ช่วยเสริมความแข็งแกร่งเพื่อทำให้ KTIS พร้อมเป็นฐานการผลิตสู่ AEC ได้ด้วย
สุดท้าย6.ลูกค้าของ KTIS ล้วนเป็นรายใหญ่ของอุตสาหกรรม จึงทำให้ไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของรายได้ที่จะเข้ามา
แนวโน้มผลประกอบการปี 57 ดี
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินการกลุ่มในปี 2557 บรรดาผู้บริหารของ KTIS มองว่า จะดีกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากราคาน้ำตาลปรับตัวดีขึ้น มาอยู่แถว 18 เซนต์ต่อปอนด์จากที่ลดลงไปต่ำที่ 14 เซนต์ช่วงต้นปี พร้อมกันนี้ยังจะมีโรงงานไฟฟ้ามาเป็นตัวเสริมอีกทาง
ทั้งนี้โครงสร้างรายได้ประกอบด้วย รายได้จากน้ำตาล 80-85% ส่วนรายได้จากไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มจากระดับ 60 ล้านบาทเป็นกว่า 260 ล้านบาทในช่วงปลายปีหลังเดินเครื่อง
สำหรับรายได้ในสายชีวภาพ ตั้งเป้าผลักดันให้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 40% ใน 3 ปีจากปัจจุบันอยู่ที่ 20-22%
KTIS จะทำได้ตามเป้าหรือไม่คงต้องติดตามกัน แต่ในระยะสั้น มาลุ้นกันก่อนดีกว่า ว่า KTIS เข้าตลาดผลจะออกมาเป็นอย่างไร หมู่หรือจ่า...
ข่าวเด่น