การตลาด
สกู๊ป...ทีวีดิจิตอลกดปุ่มสตาร์ทถึงเวลาพิสูจน์ฝีมือผู้ท้าชิง 24 ช่อง


 

 

 

วันที่ 1 เม.ย.นี้ ประชาชนชาวไทยก็จะสัมผัสกับระบบการออกอากาศในรูปแบบทีวีดิจิตอล หลังจากรอคอยมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายทศวรรษ แม้ว่าระบบการออกอากาศจะยังไม่สมบูรณ์ 100% เช่นเดียวกับความพร้อมของผู้ประกอบการทั้ง 17 ราย รวม 24 ช่อง ซึ่งบางรายยังคงอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม เพื่อทดลองออกอากาศในเดือน เม.ย. นี้ ก่อนที่จะเริ่มอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิ.ย. 2557

 

 

แม้ว่าขณะนี้ผู้ประกอบการผู้ให้บริการโครงข่ายจะยังเหลืออุปกรณ์บางอย่างที่ยังไม่ดำเนินการติดตั้ง แต่ทุกรายก็ออกมาแสดงความมั่นใจว่าในวันที่นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2557 เป็นต้นไป พร้อมให้บริการตามที่ กสทช.กำหนดไว้อย่างแน่นอนไม่ว่าจะเป็นช่อง 5  ,ไทยพีบีเอส   หรือ อสมท. ส่วนช่อง 11 ขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดเลือกใช้โครงข่าย
 
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท.มีมติเพิ่มเงื่อนไขต้องขยายโครงข่ายให้ได้ร้อยละ 50 ทั่วประเทศ  หรือประมาณ 11 จังหวัด ภายในเดือนมิ.ย. 2557 จากเดิมที่กำหนดไว้ 1 ปี และภายใน 4 ปี ต้องขยายโครงข่ายให้ได้ร้อยละ 98 ของพื้นที่ ซึ่งทั้ง 4 โครงข่ายก็น้อมรับคำสั่งอย่างเคร่งครัด โดยในส่วนของโครงข่ายที่ได้รับความไว้มากใจมากที่สุด คือ ททบ.5

 


 
บริษัทที่เลือกใช้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลของ ททบ.5 ประกอบด้วย เนชั่นทีวี และ NOW ของกลุ่มเนชั่น จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ 2 ช่อง TNN และ ทรูดีทีที อมรินทร์เทเลวิชั่น ช่อง 7 สี PPTV ของกลุ่มปราสาททองโอสถ เวิร์คพอยท์ทีวี โมโน 3 A Marketing หรือ Bright TV และเดลินิวส์ทีวี  ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเลือกใช้บริการโครงข่ายของ ททบ.5 มากที่สุด คือ เป็นผู้ประกอบการที่มีความพร้อมมากที่สุด  เนื่องจากมีการทดลองออกอากาศมาแล้ว 1 ปี อีกทั้งยังมี 2 โครงข่ายให้บริการ ซึ่งในส่วนของโครงข่ายที่ 2 ได้เริ่มทดลองออกอากาศไปแล้วเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
 
ส่วนโครงข่ายทีวีดิจิตอลของ อสมท มีผู้ประกอบการให้ความสนใจเลือกใช้บริการจำนวน 3 บริษัท ประกอบด้วย   ไทยรัฐทีวี , สปริงนิวส์ และวอยซ์ทีวี นอกจากนี้ยังมีช่องทีวีดิจิตอลของ อสมท. เองอีกจำนวน 2 ช่องใช้บริการ คือ  MCOT HD และ  MCOT KID
 
ขณะที่โครงการของไทยพีบีเอส มีผู้ประกอบการสนใจใช้บริการ 3 ราย คือ    ช่อง 3  หรือบริษัทบีอีซี-มัลติมีเดีย ใช้บริการโครงข่ายออกอากาศโทรทัศน์ในระบบความคมชัดสูง (HD) 1 ช่อง โทรทัศน์ระบบความคมชัดมาตรฐาน (SD) 1 ช่อง และช่องข่าวและสาระอีก 1 ช่อง บริษัท ไทยทีวี จำกัด ใช้บริการโครงข่ายสำหรับช่องรายการโทรทัศน์ประเภทรายการข่าว 1 ช่อง และรายการสำหรับเด็กและเยาวชน 1 ช่อง ส่วนอีกหนึ่งราย คือ บริษัทอาร์เอสเทเลวิชั่น จำกัด ใช้บริการโครงข่ายสำหรับช่องรายการโทรทัศน์ระบบความคมชัดมาตรฐาน(SD)

 


 
นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กล่าวว่า  ในวันที่ 1 เมษายน นี้บริษัทพร้อมให้บริการโครงข่ายแก่ผู้ประกอบการ ทั้ง 3ราย ซึ่งหลังจากลงนามความร่วมมือไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา บริษัทจะให้บริการโครงข่ายอย่างดีที่สุด   เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความคุ้มค่ามากที่สุด เพราะทางสถานีมีความพร้อมในด้านเครื่องมือและโครงข่ายที่มีความพร้อมให้การบริการ


 

 


ด้านนายชลิต ลายลิขิต ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักวิศวกรรมโครงข่าย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในวันที่ 1 เมษายน นี้บริษัทพร้อมให้บริการโครงข่ายอย่างแน่นอน ซึ่งเบื้องต้นการให้บริการจะครองคลุมพื้นที่จำนวน 4 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ มหานคร เชียงใหม่ นครราชสีมา และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยหลังจากทดลองให้บริการไประยะหนึ่งคาดว่าวันที่ 1  มิถุนายนนี้ จะสามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 50 ตามที่ กสทช. กำหนดได้อย่างแน่นอน ซึ่งในส่วนของเดือนพฤษภาคม จะเพิ่มพื้นที่บริการอีก 3 จังหวัด และเดือนมิถุนายน จะให้บริการเพิ่มอีก 4  จังหวัด รวมเป็น 11  จังหวัด ตามที่ กสทช.กำหนด
 
ขณะที่ผู้ให้บริการโครงข่ายออกมาประกาศความพร้อมอย่างเต็มที่ ในฝั่งของผู้ใช้บริการทั้ง 24  ช่องก็เริ่มทยอยออกมาประกาศความพร้อมในการออกอากาศอย่างต่อเนื่อง   พร้อมกับชูจุดเด่นของสถานี เพื่อชิงความเป็นหนึ่งในช่องทีวีดิจิตอล   แม้ว่าขณะนี้บางรายจะไม่พร้อมทอดลองออกอากาศทันทีในวันที่ 1  เมษายนนี้

 


 
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดียแอนด์บรอดคาสติ้งจำกัด ผู้บริหารทีวีดิจิตอลช่อง พีพีทีวีเอชดี(PPTV HD) กล่าวว่า หลังจากบริษัทได้ใช้งบประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนผลิตรายการ และซื้อคอนเทนต์รายการจากต่างประเทศมาออกอากาศในช่อง พีพีทีวี เอชดี  ในวันที่ 7  เมษายนนี้ เวลา 03.36 น. บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถทดลองออกอากาศได้อย่างเต็มรูปแบบ
 
สำหรับแนวทางการทำตลาดของช่อง พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 นั้น บริษัท บางกอก มีเดียฯ ได้วางตำแหน่งทางการตลาดเป็นสถานีพรีเมี่ยมแมส ซึ่งในส่วนของคำว่า พรีเมี่ยม หมายถึง สิ่งที่มีคุณภาพ และมาตรฐานสูง ซึ่งจะสะท้อนผ่านเนื้อหาของรายการ เทคโนโลยี บุคลากร และไลฟ์สไคล์ ขณะที่คำว่า แมส จะหมายถึงสื่อมวลชน คือ การเข้าถึงง่าย แม้คุณภาพจะสูงและดี
 
ในส่วนของผังรายการบริษัท บางกอก มีเดียฯ ได้กำหนดสัดส่วนผังรายการออกเป็น 2 ส่วน โดยสัดส่วน 30% จะเป็นรายการข่าวและสาระ ซึ่งจะประกอบด้วย 3 ช่วงเวลาหลัก คือ ข่าวเช้า 06.00-08.00 น. ข่าวเที่ยง 12.00-13.00 น.และข่าวค่ำ 19.00-20.00 น. สัดส่วนที่เหลืออีก 70% จะเป็นรายการบันเทิงต่างๆ โดยแต่ละรายการจะมีความโดดเด่นเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายคนกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่
 
นายเขมทัตต์ กล่าวต่อว่า รายได้หลักของการทำธุรกิจทีวีดิจิตอลยังคงมาจากการขายโฆษณา   ซึ่งช่องพีพีทีวี จะเน้นการขายโฆษณาเป็นแบบแพ็คเกจ โดยในช่วงเวลาไพร์มไทม์จะมีราคาขายอยู่ที่ประมาณ 2.5 แสนบาทต่อนาที และช่วงนอนไพร์มไทม์จะมีราคาขายเฉลี่ยที่ 1.2-2 แสนบาทต่อนาที ซึ่งราคาที่กำหนดไว้ดังกล่าวถือว่าปรับลดลงมาครึ่งหนึ่งจากราคาขายโฆษณาของฟรีทีวีในปัจจุบัน
 
หลังจากออกอากาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 เมษายนนี้ บริษัท บางกอก มีเดียฯ คาดว่าในปีแรกน่าจะมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิตอลอยู่ที่ประมาณ 500-800 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาทในปีที่ 2 หลังจากนั้นปีที่ 3 จะมีรายได้เพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาท ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวบริษัทมั่นใจว่าช่อง พีพีทีวี เอชดี จะเป็นช่องที่ได้รับความนิยมติดอันดับ 1 ใน 3 และติดอันดับ 1 ใน 2 ได้ภายใน 5 ปีนับจากนี้
 
นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทย ทีวี จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะนำรายการต่างๆ ของช่องข่าว ภายใต้ชื่อ ช่องทีเอชวี และช่องเด็ก ภายใต้ชื่อ ช่องโลก้า เริ่มทดลองออกอากาศในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ก่อนที่จะมีการออกอากาศจริงอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งทั้ง 2 ช่องที่ได้รับสิทธิ์บริหารบริษัทมั่นใจว่าในปีแรกจะมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และเป็นที่ 1 ได้ภายใน 5 ปีนับจากนี้
 
ทั้งนี้ ผู้ชมที่ต้องการชมช่องทีเอชวี ผ่านทีวีดิจิตอลสามารถรับชมได้ผ่านช่องหมายเลข 17 ส่วนลูกค้าที่รับชมผ่านกล่องดาวเทียม สามารถรับชมได้ผ่านช่องหมายเลข 7 และช่องหมายเลข 27 ขณะที่ช่องโลกา สามารถรับชมผ่านทีวีดิจิตอลได้ในช่องหมายเลข 15 และรับชมผ่านกล่องดาวเทียมได้ในช่องหมายเลข 25

 


 
นายทรงศักดิ์ เปรมสุข กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจของทีวีดิจิตอลภายใต้ชื่อ วอยซ์ ทีวี นั้น บริษัทได้เตรียมงบลงทุนไว้ที่ประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงและสร้างสตูดิโอใหม่ การสร้างแบรนด์ การทำกิจกรรมทางการตลาด   และการซื้อคอนเทนต์จากต่างประเทศมาออกอากาศ โดยในส่วนของผังรายการเบื้องต้นจะเป็นรายการข่าว 60% และรายการวาไรตี้ 40% ซึ่ง 90% ของรายการข่าวจะเป็นคอนเทนต์ที่บริษัทผลิตเองประมาณ 90%
 
กลุ่มเป้าหมายที่ วอยซ์ทีวี ต้องการเข้าไปทำตลาดในช่องทีวีดิจิตอลจะเน้นไปที่กลุ่มอายุ 18-39 ปี หรือกลุ่ม สมาร์ท พีเพิล เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ เป็นกลุ่มที่เป็นผู้นำทางความคิด และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว   จากการเตรียมความพร้อมดังกล่าววันที่ 1 เมษายน นี้ วอยซ์ทีวี พร้อมแล้วที่จะทดลองออกอากาศรายการต่างๆ ก่อนที่จะออกอากาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ซึ่งหลังจากออกอากาศ วอยซ์ทีวี มั่นใจว่าจะขึ้นเป็นที่ 1 ของช่องข่าววิเคราะห์และสามารถมีรายได้คุ้มทุนภายใน 3 ปี


 

 


นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า  ในวันที่ 1 เมษายนนี้ บริษัทจะนำช่อง 8 ฟรีทีวี วาไรตี้ 24 ชั่วโมงมาออกอากาศเป็นทีวีดิจิตอลภายหลังจากใช้งบลงทุน 300 ล้านบาท  ปรับปรุงคอนเทนต์และปรับเปลี่ยนผังรายการใหม่ให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้ชมทุกเพศทุกวัย ด้วยการให้ความสำคัญกับ 3 คอนเทนต์หลัก ได้แก่ ละคร รายการวาไรตี้ และ รายการข่าว ซึ่งหลังจากออกอากาศไปปีแนกคาดว่าจะมีรายได้ 850 ล้าน ใครจะได้รับความนิยมมากกว่ากันนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไปได้รู้กัน

 

 

 

 

 

 


LastUpdate 29/03/2557 12:32:14 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 1:22 pm