เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รื้อ "กฎหมายหลักประกัน" ต่อลมหายใจ SMEs


 

 

ต้องยอมรับว่า "ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงิน" ของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของ SMEs ไทย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาหน่วยยงานต่างๆ ก็พยายามที่จะแก้ปัญหา ทั้งการขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินให้การปล่อยสินเชื่อ และการให้สถาบันการเงินของรัฐบาลผ่อนผันหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น แต่การแก้ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับผู้ประกอบธุรกิจได้ 

 
 
 
ซึ่งการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนัดแรก ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้เห็นชอบกำหนดให้การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นวาระแห่งชาติ เพราะผู้ประกอบการในธุรกิจเอสเอ็มอี ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ
 
และที่ประชุมได้เห็นชอบปรับโครงสร้างการบริหารจัดการทั้งระบบ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมเอสเอ็มอีเพิ่มเติม และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกลั่นกรองงานให้เกิดความรวดเร็วในแผนงานและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเอสเอ็มอีไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  พร้อมทั้งพิจารณาปรับโครงสร้างเพื่อยกระดับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้มีขอบเขตงานที่กว้างขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและพัฒนาศักยภาพของเอสเอ็มอีไทยมากยิ่งขึ้น
 
 
 
 
ทั้งนี้ แนวทางหนึ่งที่จะทำให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนอย่างยั่งยืน ได้แก่ การแก้ไขกฎหมายหลักประกันธุรกิจ ที่ล่าสุด คสช.มีแนวคิดจะเดินหน้ากฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ โดย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวน่าจะมีส่วนที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งขึ้น เพราะจะช่วยให้ SMEs ที่มีอยู่มากกว่า 2.7-2.9 ล้านราย หรือมีมูลค่าธุรกิจกว่า 4 ล้านล้านบาท สัดส่วนประมาณ 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบการเงินได้ ซึ่งปัจจุบันในระบบธนาคารพาณิชย์มีเอสเอ็มอี 7-9 แสนรายที่เข้าถึงสินเชื่อได้ แต่อีก 2 ล้านรายที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้
 
 
 
 
ด้าน นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสินค้าคงคลัง หรือความคิดสร้างสรรค์ สิทธิบัตรต่างๆ ไม่มีกฎหมายรองรับให้นับเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์และลูกหนี้หากจะมีการปล่อยกู้ลักษณะแบบนี้ ต้องทำสัญญาระหว่างบุคคลต่อบุคคล ไม่มีกฎหมายการเงินรองรับ 
 
แต่กฎหมายฉบับนี้ สร้างความมั่นใจการปล่อยกู้ และทำให้ต้นทุนการปล่อยสินเชื่อในส่วนที่เป็นเอสเอ็มอีของธนาคารพาณิชย์ลดลง และในปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวทุกประเทศในเอเชียถูกนำมาใช้นานแล้ว ทั้งในสิงคโปร์ มาเลเซีย และแม้แต่ในประเทศกัมพูชา

 
 
 
นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมผู้ส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวว่า ขณะนี้เอสเอ็มอียังคงมีปัญหาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ โดยเฉพาะรายเล็ก แม้ว่าจะมีการออกมาตรการหรือวงเงินกู้พิเศษต่างๆ ของภาครัฐบาลสนับสนุนเอสเอ็มอี ขณะที่สินทรัพย์ที่จะนำมาเป็นหลักประกันมีน้อย แต่เมื่อร่างกฎหมายนี้จะมีการขยายประเภทของสินทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ เช่น สินทรัพย์ทางปัญญา นวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการนำรายได้ในอนาคต ใบรับคำสั่งซื้อสินค้า และสินค้าคลัง มาเป็นหลักประกันได้ ถือว่าเป็นความหวังที่ดีทำให้เอสเอ็มอีเข้มแข็งมากขึ้น

 
 
 
ขณะที่ นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า กฎหมายฉบันนี้เป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้สินทรัพย์ที่ไม่เคยตีมูลค่านำมาทำให้มีมูลค่าป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ สอดคล้องกับแนวทางที่ประเทศต้องการส่งเสริมให้เอสเอ็มอี คิดค้นนวัตกรรม และสร้างทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มมากขึ้น 
 
แต่การใช้กฎหมายนี้จะต้องดูในทางปฏิบัติให้ชัดเจน โดยเฉพาะแนวทางการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ การตีราคาหรือประเมินหลักประกันใหม่ที่เพิ่มขึ้นว่าจะเหมาะสม และเป็นธรรมกับSMEs หรือไม่อย่างไร
 
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ร่างขึ้นเพื่อสร้างหลักประกันใหม่ นอกเหนือจากการจำนองเดิม โดยสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นหลักประกันได้ โดยไม่ต้องส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันแก่ผู้รับหลักประกัน ซึ่งช่วยให้นำหลักทรัพย์นั้นไปใช้ประกอบกิจการต่อได้ อีกทั้งช่วยลดต้นทุนการดำเนินการได้บางส่วน ลดความสูญเสียของธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อ หากไม่ได้รับเงินคืน
 
ขณะเดียวกัน ธปท.ก็เตรียมปรับกฎเกณฑ์สำรองหนี้จัดชั้นต่างๆ ในส่วนของหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นมา เพื่อช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ลดวงเงินที่ต้องกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งต้นทุนลดลงส่วนนี้ ธปท.หวังว่าเป็นแรงจูงใจปล่อยกู้ และธนาคารพาณิชย์ส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงถึงผู้บริโภค 

LastUpdate 12/07/2557 20:21:57 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 10:30 pm