เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
การมีผลบังคับใช้ของความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคีฉบับปรับปรุง


 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศสมาชิกอาเซียน +3  (ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) และธนาคารกลางฮ่องกง ได้ลงนามในความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคีฉบับปรับปรุง (Chiang Mai Initiative Multilateralisation Agreement: CMIM Agreement)  ซึ่งความตกลงฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2557 โดยวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินระหว่างกันเองของประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน+3 ในกรณีที่สมาชิกประสบวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความช่วยเหลือที่เสริมเพิ่มเติมจากความช่วยเหลือทางการเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) โดยความตกลงฉบับนี้มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย 

 

1. การเพิ่มขนาดวงเงินของ CMIM ให้สูงขึ้น จาก 120 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ

2.       การเพิ่มจำนวนเงินที่สมาชิกจะได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นโดยไม่ต้องเข้าโครงการให้ความช่วยเหลือของ IMF โดยสมาชิกจะได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นเพิ่มจากร้อยละ 20 เป็นจำนวนร้อยละ 30 ของจำนวนเงินสูงสุดที่ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศจะขอรับความช่วยเหลือได้จาก CMIM

3.  การจัดตั้งกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อป้องกันการเกิดวิกฤต เพิ่มจากเดิมที่สมาชิกจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเมื่อสมาชิกเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้วเท่านั้น

 ความตกลงฉบับนี้จะส่งผลดีต่อทั้งประเทศไทยและต่อภูมิภาคอาเซียน+3 โดยจะเป็นการสร้างความมั่นใจว่า ประเทศสมาชิกจะมีวงเงินเพียงพอในการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามฉุกเฉิน และสมาชิกจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเบื้องต้นในจำนวนที่มากขึ้น และทันต่อเหตุการณ์ในการแก้ไขปัญหาของประเทศสมาชิก พร้อมกันนี้ ยังมีกลไกการให้ความช่วยเหลือระหว่างกันก่อนการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการป้องกันการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและป้องกันการลุกลามต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอื่นและของภูมิภาค นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินของกลุ่มประเทศอาเซียน+3 ที่แข็งแกร่งเป็นรูปธรรมและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความท้าทายอยู่ในปัจจุบัน


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ก.ค. 2557 เวลา : 14:23:52
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:03 pm