เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC วิเคราะห์ ส่งออกไทยกลับมาขยายตัวที่ 3.9%YOY ในเดือนมิถุนายน?


 ส่งออกไทยกลับมาขยายตัวที่ 3.9%YOY ในเดือนมิถุนายน

Event

 

 

 

กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 19.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 3.9เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า ส่วนการนำเข้าลดลง 14%YOY มาอยู่ที่ 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าที่ 1792.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนเดียวกันนี้

Analysis

 

 

 

มูลค่าส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัวในเดือนมิถุนายน การส่งออกไปยุโรปและสหรัฐฯ เติบโตต่อเนื่อง โดยในเดือนมิถุนายนขยายตัว 15.4%YOY และ 11.2%YOY ตามลำดับ ทำให้ในครึ่งปีแรกการส่งออกไปตลาดยุโรปขยายตัว 7.8%YOY และการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 2.8%YOY ด้านการส่งออกไปยังจีนและอาเซียนมีสัญญาณที่ดีขึ้นในเดือนมิถุนายน โดยการส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้น 3.2%YOY ขณะที่การส่งออกไปยังอาเซียนเพิ่มขึ้น 2.3%YOYส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในครึ่งแรกของปีไปยังตลาดจีนและอาเซียนหดตัวน้อยลงมาอยู่ที่ -4.3%YOY และ -2.5%YOY ตามลำดับ

 

 

 

 

การส่งออกสินค้าในหมวดคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์เติบโตได้ดีในเดือนมิถุนายน มูลค่าการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบเพิ่มขึ้น 4.6%YOY ในเดือนมิถุนายน เช่นเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัว 3.4%YOY เป็นผลให้มูลค่าการส่งออกของสินค้าทั้งสองรายการเติบโตในครึ่งปีแรก 2.1%YOY และ 2.9%YOY ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบขยายตัว 4.5%YOY ในเดือนมิถุนายน ผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในหมวดนี้ช่วง 6 เดือนแรกกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 0.7%YOY ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรนั้น การส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น 35%YOY ในเดือนมิถุนายนจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวถึง 100%YOY อันเป็นผลจากการระบายข้าวในสต็อกของไทย ทำให้มูลค่าการส่งออกข้าวในครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 12.6%YOY อย่างไรก็ดี การส่งออกยางพาราและอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปยังคงไม่ฟื้นตัว โดยในครึ่งปีแรกมูลค่าการส่งออกสินค้าในหมวดนี้ลดลง 19.1%YOY และ 11.5%YOY ตามลำดับ

 

 

 

 

ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาตลอดครึ่งปีแรกกระทบการลงทุนและความต้องการพลังงาน ส่งผลให้การนำเข้ารวมของไทยติดลบ โดยการนำเข้าสินค้าทุนลดลง 4.1%YOY และการนำเข้าวัตถุดิบลดลง 12.2%YOY ในเดือนมิถุนายน ส่งผลให้การนำเข้าของทั้งสองรายการในครึ่งปีแรกหดตัวราว 12.9%YOY และ 19.8%YOY ตามลำดับ ด้านการนำเข้าน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากการปิดซ่อมโรงกลั่นน้ำมันและอุปสงค์ด้านพลังงานที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่งผลให้การนำเข้าน้ำมันดิบใน 6 เดือนแรกลดลง 12.6%YOY

 

 

 

 

ดุลการค้าเกินดุล 1792.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลกและการนำเข้าที่ยังคงหดตัวส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าราว 1792.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน และในครึ่งปีแรกเกินดุลการค้า 236.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 Implication

 

 

 

การส่งออกเริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกแต่ยังมีหลากหลายปัจจัยที่จะฉุดรั้งการส่งออกของไทยให้ขยายตัวได้เพียง 1.1% ในปีนี้ การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายนปรับตัวดีขึ้นจากช่วงต้นปีตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว แต่ยังไม่มากพอที่จะทำให้การส่งออกขยายตัวในระดับ 3%ในปี 2014 ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ โดยมีหลายปัจจัยที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของการส่งออกไทยในปีนี้และต่อเนื่องถึงปีหน้า ทั้งจากการระงับความร่วมมือระหว่างไทยและสหภาพยุโรปซึ่งจะกระทบต่อการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี  (FTA)เพื่อทดแทนสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) ที่จะหมดลงสำหรับสินค้าส่งออกทุกประเภทในสิ้นปีนี้  การถูกปรับลดระดับของไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ให้มาอยู่ในระดับ Tier 3 โดยสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารทะเลแปรรูปและแช่แข็งของไทย ในขณะที่ราคายางพาราและน้ำตาลที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องจะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกสินค้าเกษตร นอกจากนี้โครงสร้างการผลิตสินค้าเทคโนโลยีของไทยที่เริ่มล้าสมัยและไม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจะชะลอการขยายตัวของการส่งออกสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในระยะต่อไป 

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ก.ค. 2557 เวลา : 19:31:34
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 12:27 pm