ประกัน
"เอไอเอ" ชู 4 กลยุทธ์ปั้นสินค้า-ตัวแทน-บริการ หวังปักธงผู้นำตลาดสินค้าคุ้มครองชีวิต


"เอไอเอ" กาง 4 ยุทธศาสตร์ ปักหลักเจ้าตลาดคุ้มครองชีวิต เชื่อศักยภาพตลาดไทยมหาศาล เดินหน้าพัฒนาสินค้า-ตัวแทน-บริการ พร้อมยันฐานะการเงินแข็งแกร่ง
 
 
 
 
 
นายซาลูน ธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอไอเอ ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทได้กำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตสำหรับธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยไว้ 4 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ที่เน้นสินค้าด้านความคุ้มครองชีวิตเป็นหลัก ไม่ได้เน้นแข่งขันการขายด้วยสินค้าออมทรัพย์ระยะสั้น ซึ่งปัจจุบัน 99% ของเบี้ยจากกรมธรรม์รายเดี่ยวของเอไอเอ เป็นเบี้ยสามัญ ไม่ใช่เบี้ยแบบจ่ายครั้งเดียวที่ไม่มีการต่ออายุในปีถัดไป และในจำนวนนี้มีถึง 97% ที่เป็นสัญญาระยะยาวเกิน 10 ปีขึ้นไป
 
“เรามุ่งเน้นตลาดด้านความคุ้มครองซึ่งเป็นพื้นฐานของการประกันชีวิตจริงๆ เราไม่ได้กังวลเรื่องจะต้องไปแข่งกับช่องทางขายอื่นๆ ที่กำลังเติบโตสูงๆ จากสินค้าแบบออมทรัพย์ระยะสั้น แม้สินค้ากลุ่มนี้จะสร้างวอลุ่มและมาร์เก็ตแชร์ได้ดี แต่ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการสร้างหลักประกันที่เพียงพอให้แก่ลูกค้า”
 
ขณะที่ช่องทางขายนั้น นายซาลูนกล่าวว่า เอไอเอจะยังมุ่งเน้นทำตลาดผ่านตัวแทนเป็นหลัก โดยเฉพาะตัวแทนระดับพรีเมียร์ (Premier Agency) ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนยุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพการขายมากขึ้น พร้อมกับปรับปรุงบริการให้ดีขึ้นและมีอัตราเติบโตของกรมธรรม์ที่สูงกว่าตัวแทนปกติ โดยเอไอเอมีแผนจะลงทุนเพื่อพัฒนาระบบสร้างตัวแทนระดับพรีเมียร์ให้มากขึ้น รวมถึงตัวแทนที่มีศักยภาพจะขายแบบประกันควบลงทุนอย่างยูนิตลิงค์ให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วย
 
แม้ช่องทางตัวแทนจะเป็นสัดส่วนหลักการสร้างยอดขาย แต่เอไอเอก็ยังมีแผนจะตลาดผ่านช่องทางอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย ทั้งแบงก์แอสชัวรันซ์และไดเร็กท์มาร์เก็ตติ้ง รวมถึงแผนขยายความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจรายใหม่ๆ เพื่อมาเสริมให้ธุรกิจเติบโตและมีความสามารถทำกำไรที่ดีขึ้นด้วย
 
ด้านต่อมาคือ บริการลูกค้าที่ต้องพัฒนาระดับการทำงานเพื่อบริการลูกค้าให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายที่จะสร้างระบบบริการให้สะดวกที่สุดสำหรับลูกค้าที่ปัจจุบันมีมากกว่า 8 ล้านราย ทั้งมีแผนจะนำฐานลูกค้าทั้งหมดมาวิเคราะห์ในรายเซ็กเมนต์เพื่อพัฒนาบริการมาตอบโจทย์ให้ดียิ่งขึ้น
 
สุดท้ายเป็นความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งเป็นส่วนช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าว่าบริษัทมีฐานะการเงินที่ดี สามารถดูแลผลประโยชน์ของลูกค้าได้ มีระบบการลงทุนและจัดการเงินที่ดี โดยมุ่งเน้นการขยายตลาดด้วยแบบประกันที่มีคุณค่ากับลูกค้า ขณะเดียวกันก็มีกำไรหนุนให้ธุรกิจอยู่ได้
 
“ตลาดประเทศไทยยังขาดเรื่องความคุ้มครองชีวิตและหลักประกันอีกเยอะมาก เมื่อปี 2553 สวิสรีฯ บริษัทรับประกันภัยต่อระดับโลกเคยสำรวจพบว่า ประเทศไทยยังขาดบริการทางการเงินที่เข้ามาสร้างความคุ้มครองในชีวิตอีกมหาศาลกว่า 5.3 แสนล้านดอลลาร์ โอกาสมหาศาลมาก ตอนนี้ก็คงเพิ่มขึ้นอีก ฉะนั้น เราไม่ได้สนใจการแข่งขันเรื่องมาร์เก็ตแชร์เป็นหลัก จึงไม่สนใจเรื่องการออกสินค้าออมเงินระยะสั้นมาแข่ง แต่เราแข่งในแง่จำนวนกรมธรรม์และทุนประกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความหมายกับลูกค้ามากกว่า” นายซาลูนกล่าว
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ส.ค. 2557 เวลา : 15:28:12
10-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 10, 2024, 12:15 am