ประกัน
"เมืองไทยประกันภัย"ฮอตเวอร์ ระดมทุกช่องทางขาย ลั่นปั๊มเบี้ยทะลุหมื่นล้าน โตกระฉูด 16%


 

"เมืองไทยประกันภัย"ฮอต สั่งระดมทุกช่องทางรบ ตั้งธงปั๊มเบี้ยทะลุหมื่นล้าน โต 16% แซงหน้าตลาด หลังออกสตาร์ท 6 เดือนกวาดเบี้ยแล้ว 4.7 พันล้าน โตพรวด 15% ลุยปั๊มเบี้ยประกันรถ งัดสินค้าใหม่ตีตลาดเพิ่ม


 
 
นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันภัย เปิดเผยว่า บริษัทยังคงยืนยันว่าเป้าหมายเบี้ยปีนี้ที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10,350 ล้านบาท หรือเติบโต 16% นั้น ยังคงอยู่ในวิสัยที่จะเป็นไปได้ หลังจากช่วง 6 เดือนแรก บริษัทสามารถสร้างเบี้ยได้แล้วถึง 4,763 ล้านบาท เติบโต 15% และทำให้ส่วนแบ่งการตลาดด้านเบี้ยรับรวมก้าวขึ้นเป็นอันดับ 4 ได้แล้วในปัจจุบัน

"ช่วง 6 เดือนแรกเราทำได้ค่อนข้างดี ทั้งที่ตลาดเติบโตเพียง 1% เท่านั้น ก็มั่นใจว่าเป้าหมายปีนี้เราคงทำได้ไม่ยาก เพราะตลาดประกันภัยในครึ่งปีหลังก็คงปรับตัวดีขึ้นไปตามภาวะเศรษฐกิจและการเมือง คาดว่าปีนี้ประกันภัยทั้งระบบน่าจะเติบโตได้ประมาณ 4-5%"

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีแผนเติบโตในครึ่งปีหลัง ผ่านกลยุทธ์หลากหลายช่องทางขายอย่างต่อเนื่อง โดยช่องทางตัวแทนจะเน้นการเพิ่มฐานตัวแทนรายใหม่ ควบคู่กับการผลักดันให้ขยับไปสู่การสร้างสำนักงานตัวแทนขึ้นทั่วภูมิภาค 

ขณะที่ช่องทางนายหน้าซึ่งกำลังขยายตัวมากขึ้นนั้น ถือเป็นกลุ่มที่เติบโตได้มากในช่วงที่ผ่านมา หลังจากเริ่มเห็นสัญญาณว่านายหน้าหลายรายเริ่มปรับตัวเองมาสู่ตลาดประกันภัยรายย่อยมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท เช่นเดียวกับช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ที่เติบโตได้ดีในตลาดรายย่อยเช่นกัน ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทก็จะเสริมแบบประกันด้านประกันภัยรถยนต์เข้าไปทำตลาดมากขึ้น

ในฝั่งความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจรถยนต์และลีสซิ่ง นางนวลพรรณกล่าวว่า ครึ่งปีหลังก็มีแผนจะขยายความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น โดยเตรียมจะออกสินค้าใหม่ ประกันภัยที่คุ้มครองส่วนต่างมูลค่ารถยนต์ (Gap Insurance) เพื่อให้ลูกค้าที่ซื้อประกันภัยชั้น 1 สามารถเพิ่มความคุ้มครองของรถยนต์ได้เต็ม 100% ของมูลค่ารถ จากปกติที่ประกันภัยจะรับประกันเพียง 80% เท่านั้น

นอกจากนี้ ในฝั่งลูกค้าธุรกิจที่น่าจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาตามภาวะเศรษฐกิจเช่นกันนั้น เมืองไทยประกันภัยในฐานะผู้นำตลาดด้านผลิตภัณฑ์เฉพาะ (Special Product) ก็มองว่าเป็นโอกาสสำหรับทีมขายตรงที่จะเข้าไปนำเสนอแบบบประกันภัยต่างๆ เพื่อปิดความเสี่ยงให้แก่ลูกค้าได้เพิ่มขึ้น เช่น ประกันภัยสินเชื่อทางการค้า (Trade Credit Insurance) ประกันภัยความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (Product Liability) เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่กำลังเติบโตมาก

LastUpdate 19/08/2557 01:25:29 โดย : Admin
09-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2024, 2:04 pm