เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ปรับเกณฑ์ออกตราสารรองรับบาเซลIII


หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เริ่มใช้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนตามแนวทาง Basel III ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ทำให้กระทบต่อการถ่วงน้ำหนักความเสี่ยงของเงินกองทุน ตามกฎเกณฑ์ใหม่ 

 
โดย บริษัท ฟิทช์ เรตติ้งส์ วิเคราะห์ว่า แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มมีการบังคับใช้เกณฑ์บาเซล III ตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 แต่การออกหุ้นกู้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล III นั้นยังมีจำนวนไม่มากนักในช่วงแรก โดยเป็นการเสนอขายในวงจำกัด (PP) และมีมูลค่าค่อนข้างน้อย 

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2556 ธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งหมดมียอดคงค้างของหุ้นกู้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่ 270,000 ล้านบาท โดยเกือบทั้งหมดเป็นหุ้นกู้เดิมตามเกณฑ์บาเซล 2 เนื่องจากหุ้นกู้เหล่านี้ต้องทยอยหมดสิทธิ์ในการนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 รวมทั้งต้องทยอยไถ่ถอนเมื่อครบกำหนด ฟิทช์คาดว่าหุ้นกู้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 จะลดลงประมาณ 81,000 ล้านบาทในปี 2557 และลดลงต่อเนื่องอีก 53,000 ล้านบาทในปี 2558 

ซึ่งแสดงว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะมีความจำเป็นที่จะต้องออกหุ้นกู้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซลIII เพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในด้านเงินกองทุน

แต่สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (core Tier 1) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงอยู่ในระดับที่เพียงพอที่ประมาณ 11.63% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งอาจแสดงว่า แรงกดดันต่อธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่ในการออกตราสารที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ยังคงมีไม่มากนัก
 

 
 
และล่าสุด นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์เพื่ออนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ออกและเสนอขายตราสาร Basel III ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปได้ รวมถึงอนุญาตให้กองทุนรวมทุกประเภท ยกเว้นกองทุนรวมตลาดเงิน ลงทุนในตราสาร Basel III ทั้งในและต่างประเทศได้ไม่เกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนด เพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนและช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการเงิน มีผลใช้บังคับภายในไตรมาส 4 ปีนี้

นอกจากนี้ ก.ล.ต. กำหนดราคาแปลงสภาพขั้นต่ำเป็นมาตรฐานเดียวกันที่อัตราร้อยละ 50 ของราคาหุ้นสามัญของธนาคารในช่วงที่ออกและเสนอขายตราสาร Basel III โดยรวมถึงตราสาร Basel III ที่นำมาคำนวณเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่มีเงื่อนไขการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญด้วย โดยธนาคารผู้ออกตราสารต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขาย และเปิดเผยลักษณะและรายละเอียดของตราสารอย่างชัดเจน ในส่วนตัวกลางผู้ขายตราสารจะมีกระบวนการที่ทำให้ลูกค้าเข้าใจลักษณะความเสี่ยงและผลตอบแทนของตราสารเป็นอย่างดีก่อนตัดสินใจลงทุน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ก.ย. 2557 เวลา : 12:00:14
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 8:03 am