เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"นักเศรษฐศาสตร์สแตนชาร์ด" ประเมินเศรษฐกิจไทยปีหน้าโตถึง 6 % หลังสัญญาณลงทุนตรงฟื้นตัวชัดเจน


นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มองความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาหลังมีรัฐบาล สะท้อนตัวเลขบีโอไอปีนี้แตะ 7 แสนล้านบาท เร่งสปีดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/57 ฟื้นตัว หวังเป็นแรงส่งให้จีดีพีปีหน้าแตะ 6 % 




 
นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยถึง แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะสามารถเติบโตได้  6 % ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยแวดล้อมในประเทศไทยที่มีความชัดเจนขึ้น หลังจากที่ผ่านช่วงสุญญากาศทางการเมืองในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และมีคณะรัฐบาลที่สามารถดำเนินนโยบายต่างๆ ที่จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคให้ฟื้นตัวกลับมาได้

“จีดีพีของไทยในปีหน้าสามารถแตะระดับ 4.8 % ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินไว้ได้แน่ แต่เรายังมองไปถึงโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ 6 % ในปีหน้านั้น ซึ่งจะมาจากปัจจัยแวดล้อมที่กลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ที่เริ่มกลับมามากขึ้น สะท้อนจากตัวเลขการขอส่งเสริมการลงทุนกับกรมส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ที่คาดว่าจะมีมากกว่า 7 แสนล้านบาทในปีนี้ “

 
 
 
 
นางสาวอุสรากล่าวอีกว่า ตัวเลขการขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในปีนี้  เริ่มใกล้เคียงกับช่วงปี 2555 – 2556 ที่มีตัวเลขขอส่งเสริมการลงทุนไว้เฉลี่ยเกือบ 1 ล้านล้านบาทต่อปี ประกอบกับการที่กระทรวงอุตสาหกรรมทยอยออกใบอนุญาตการอนุญาตตั้งโรงงาน (รง.4) ที่ค้างท่อกว่า 700 แห่ง  รวมทั้งการลงทุนโครงการของภาครัฐที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้น ก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้มากขึ้น เพราะประเทศไทยยังคงเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจในสายตาต่างชาติที่ต้องการใช้การลงทุนในประเทศไทยเชื่อมสู่ประเทศในกลุ่ม CLMV หรือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม  

ขณะที่ภาคการบริโภคจะได้รับผลดีจากมาตรการทางนโยบายการคลัง ที่เห็นผลได้เร็วกว่านโยบายการเงิน ทำให้มองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว และจะส่งผลไปจนถึงปี 2558 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ 2.7 %

 
 
 
 
ด้าน นายเอ็ดเวิร์ด ลี หัวหน้าทีมวิจัย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า  ความผันผวนของตลาดเงินของโลกในปีหน้าจะมีเพิ่มขึ้น จากความแตกต่างในการดำเนินนโยบายของหลายประเทศ โดยในสหรัฐมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐ จะมีการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเดือนมิถุนายนของปี 2558 ซึ่งจะเป็นการทยอยปรับขึ้น โดยมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะทยอยปรับดอกเบี้ยไม่เกิน 1 % ในปีหน้า

ขณะที่ประเทศจีนที่อยู่ระหว่างการหาความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการปฏิรูป และเริ่มเห็นความชัดเจนขึ้นแล้วนั้น มองว่ามีโอกาสที่ทางการจีนจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินในปีหน้า เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่ยังต้องการดำเนินนโยบายทางการเงินต่อไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยนั้นท่ามกลางการดำเนินนโยบายทางการเงินที่แตกต่างของหลายประเทศ อาจจะมีผลต่อตลาดเงินของไทยให้มีความผันผวนบ้าง แต่ไม่ส่งผลต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่ามากนัก

เนื่องจากตั้งแต่ปลายปี 2556 กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ไหลออกไปค่อนข้างมากแล้ว ในทางกลับกันมองว่าหากเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว จะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนกลับมาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น รวมทั้งเงินลงทุนจากต่างชาติที่จะเข้ามา ทำให้ประเมินว่าค่าเงินบาทของไทยในปี 2558 อาจจะแข็งค่าแตะระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากปลายปีนี้ที่คาดไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 
 
 
ส่วนทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น หากเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ในระดับ 4.8%  ก็อาจจะเห็นการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไม่เกิน 0.25 % ในปีหน้า แต่หากเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ถึง 6 % ดอกเบี้ยนโยบายอาจจะปรับขึ้นไม่เกิน 1.00 %  อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินอาจจะมีการขยับขึ้นก่อนจากความต้องการระดมทุนในตลาดการเงินที่มีมากขึ้น  

บันทึกโดย : วันที่ : 15 ต.ค. 2557 เวลา : 16:43:50
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 2:04 am