เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"ธีระชัย อดีต รมว.คลัง" ชงซุปเปอร์บอร์ด "ปฏิรูประบบแบงก์รัฐ"


"ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่งหนังสือเปิดผนึกถึง"ซุปเปอร์บอร์ด" ผ่านผู้ว่าธปท. เสนอปฏิรูประบบแบงก์รัฐ หลังที่ผ่านมาพบแบงก์รัฐทำนอกเหนือพันธกิจ ด้าน "บัณฑูร ล่ำซำ" ชี้การกำกับดูแลมีช่องโหว่ เอื้อแบงก์รัฐทำนอกพันธกิจ

 

 
 
 
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในห้วข้อ "ภาคการเงินกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย" ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2557 ว่า ในวันที่ 17 ตุลาคม ได้ทำหนังสือเปิดผนึกเสนอให้กับซุปเปอร์บอร์ดและธปท. เพื่อเสนอแนวทางในการปฏิรูปธนาคารรัฐ เนื่องจากพบจุดอ่อนของแบงก์รัฐ อีกทั้งธนาคารรัฐได้มีการดำเนินธุรกิจนอกพันธกิจ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์การก่อตั้งในอดีต โดยเริ่มเข้ามามีบทบาทและแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์มากขึ้น ทำให้สัดส่วนสินทรัพย์ของธนาคารรัฐบางแห่งในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากถึง 24 %ของมูลค่าทั้งระบบธนาคาร ต่างจาก 20 ปีก่อน ที่ธนาคารรัฐมีสัดส่วนเพียง 12 %
 
โดยใน 10 อันดับแรกของสถาบันการเงินทั้งระบบ  พบว่า มีธนาคารรัฐ ติดอันดับใหญ่ที่สุด ถึง 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน อยู่ในอันดับที่ 4  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อันดับ 6 และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อยู่อันดับที่ 9

ทั้งนี้ ด้วยขนาดธุรกิจของธนาคารรัฐที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ถือว่าสร้างความกังวลต่อระบบการเงินไทย สะท้อนว่ากำกับดูแลแบงก์รัฐไม่มีความเข้มงวดเท่าที่ควร แม้ระยะหลังกระทรวงการคลังจะมอบหมายให้ธปท.เป็นผู้ตรวจสอบ และพบจุดบกพร่อง แต่ผู้กำหนดนโยบายคือกระทรวงการคลังก็ไม่สามารถดำเนินการบริหารจัดการได้ เนื่องจากปัจจุบันการประเมินผลงานของผู้บริหารธนาคารรัฐจะดูจากการสร้างผลกำไร ส่งผลให้มีการเข้ามาปล่อยกู้ธุรกิจที่มีขนาดการปล่อยสินเชื่อขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ธนาคารออมสิน มีการปล่อยกู้ต่อรายสูงสุดถึง 1,000 ล้านบาท ขณะที่ธกส.ก็มีการหันไปปล่อยกู้โรงสีขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นการทำนอกพันธกิจ นอกจากนี้ จุดอ่อนดังกล่าว ยังเป็นการเปิดช่องให้นักการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ จนนำไปสู่ผลขาดทุนของแบงก์รัฐในปัจจุบัน

นายธีระชัย กล่าวอีกว่า จากจุดอ่อนของธนาคารของรัฐ  จึงเห็นควรว่า ต้องมีการปฏิรูป และเห็นด้วยที่ซุปเปอร์บอร์ดให้ธปท.เข้าไปดูแลธนาคารรัฐโดยตรง แต่มีข้อเสนอเพิ่มเติม คือ ให้ธปท.ประกาศให้ธนาคารัฐกลับไปสู่เป้าหมายเดิม และให้ปฏิบัติตามกฎของ ธปท.อย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ให้ธปท.สามารถดำเนินคดี กับผู้ทำทุจริต เช่นเดียวกับการเอาผิดกับธนาคารพาณิชย์

“ผมคิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่กระทรวงการคลัง ควรขายหุ้นที่ถืออยู่ในธนาคารพาณิชย์ออกมา และไม่ควรเป็นเจ้าของธุรกิจเอกชน และควรห้ามไม่ให้ข้าราชการนั่งเป็นกรรมการ ของธนาคารพาณิชย์”นายธีระชัยระบุ
 

 
 
 
โดย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ได้รับหนังสือเปิดผนึกในเรื่องการปฏิรูปธนาคารรัฐจากนายธีระชัย เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สามารถลงลึกในรายละเอียดได้ เพราะต้องนำเข้าหารือกับคณะกรรมการซุปเปอร์บอร์ดทั้งหมดก่อน และต้องเสนอให้กับนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง และ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ก่อน

 

 
 
 
ด้าน นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีของธนาคารรัฐที่ผ่านมาเป็นการทำอะไรแบบมั่วๆ กฎหมายของธนาคารรัฐ ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังเป็นหลัก แต่ธปท.เป็นผู้มีความรู้ แต่ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ จึงเป็นช่องทางทำให้เกิดผิดวัตถุประสงค์ และเป็นช่องทางในการนำเงินออกไปใช้ ซึ่งเป็นเค็กของนักการเมือง ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา โดยให้ธปท.เข้าไปตรวจสอบและนำไปสู่ระบบการเงินตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง

ในเรื่องของเศรษฐกิจมหภาค ที่บรรดานักลงทุนต่างประเทศ สอบถามมาตลอดเกี่ยวกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ และได้ตอบไปว่าการเติบโตเป็นแบบปานกลาง โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อยู่ระดับปานกลาง ไม่มีความคิดใหม่ ๆ ดังนั้นเศรษฐกิจแต่ละปีจะเติบโตได้ 4-5 %

“ส่งออกดีขึ้นแต่การแข่งขันมากขึ้น การบริโภคก็เจอปัญหาครัวเรือน หากจะทำยังไงกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านี้  ปั๊มเงินใส่มากเกินไป ก็จะกลายเป็นฟองสบู่ ขณะนี้เศรษฐกิจไทย และการเงินไทยไปได้แบบกลางๆ อัตราการเติบโตที่ 5% ก็สวยแล้ว”นายบัณฑูรกล่าว

นายบัณฑูรกล่าวต่อไปว่า สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารพาณิชย์ทำได้ในกรอบที่จำกัด ไม่สามารถปล่อยกู้ได้ทั้งหมด เนื่องจากไม่แน่ใจเกี่ยวกับกระแสเงินสดของธุรกิจ หากธนาคารพาณิชย์ไม่เข้าใจในกลุ่มนี้อย่างลึกซึ้งก็ไม่มีรายใดกล้าเข้าไปเสี่ยง ในส่วนของสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ ในต่างจังหวัด ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากไม่เข้าใจวัฐจักรชีวิต และเข้าถึงชีวิตในชนบท หรือกลุ่มคนรากหญ้า ทำให้การปล่อยสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ของธนาคารพาณิชย์แบบลงลึกทำได้ยาก แต่จะทำได้เพียงการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มคนทำงานในเมือง ส่วนกลุ่มคนต่างจังหวัด รัฐต้องอุ้มกลุ่มคนเหล่านี้ไว้ ด้วยการช่วยเหลือเป็นครั้งคราว

 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ต.ค. 2557 เวลา : 00:30:50
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 1:51 pm