เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คืบหน้าปรับโครงสร้างราคาพลังงาน


 

 

นโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นับเป็นนโยบายที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดนโยบายหนึ่งของรัฐบาล โดยเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 57 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติปรับลดราคากลุ่มน้ำมันเบนซินลง 0.50 บาทต่อลิตร และเพิ่มเงินนำส่งให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีก 0.50 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลให้ปรับราคาลดลง 0.40 บาทต่อลิตร และเพิ่มเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมัน 0.50 บาทต่อลิตร


การปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับลดราคาและลดการอุดหนุนจากภาครัฐ เนื่องจากสถานการณ์ทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบแตะระดับต่ำที่สุดในรอบกว่า 5 ปี 

ดังนั้น มติการประชุม กบง.จึงมีการพิจารณาถอนการอุดหนุนราคา โดยปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) ในสัดส่วน 1.03 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้สถานะกองทุนน้ำมันมีสถานะสุทธิเป็นบวกที่ประมาณ 8 พันล้านบาท และจะมีรายรับมากกว่ารายจ่าย 327 บาทต่อวัน และ ให้ปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในภาคขนส่ง(NGV)อีก 1 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันราคา NGV สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลอยู่ที่ 11.50 บาทต่อกิโลกรัม ให้ปรับเป็น 12.50 บาทต่อกิโลกรัม และราคา NGV สำหรับรถสาธารณะ ขยับเป็น 9.50 บาทต่อกิโลกรัม 

 
 
ซึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ยืนยันว่า ในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ทั้งนี้จากการประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ พบว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศขณะนี้มีอัตราต่ำสุดในรอบ 3 ปี และไม่น่าจะมีการฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าจากกลุ่มผู้ประกอบการอย่างแน่นอน 
 
นอกจากนี้สำหรับกลุ่มภาคครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย กระทรวงพลังงานจะยังคงให้ให้สิทธิ์ในการช่วยเหลือเช่นเดิม เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบสำหรับผู้มีรายได้น้อย 

ส่วนการปรับเงินกองทุนทั้งหมดนี้ จะทำให้เงินกองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น 300 ล้านบาท/วัน มีสถานะเพิ่มขึ้นเป็น 7,900 ล้านบาท จากเดิมที่กองทุนฯติดลบ7,400 ล้านบาท

 
 
 
ด้าน นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาแอลพีจีดังกล่าว ได้สั่งการให้ ปตท. ที่มีปั๊มแอลพีจีทั่วประเทศ ประมาณ 300 แห่ง ไม่ต้องปรับราคาแอลพีจีขึ้น จากจำนวนปั๊มแอลพีจีทั่วประเทศ 1,900 แห่ง เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระรายจ่ายของประชาชน ซึ่งจะทำให้ราคาแอลพีจีของปั๊ม ปตท.มีราคาอยู่ที่ 23.13 บาทต่อ กก.ตามเดิม 

ส่วนปั๊มแอลพีจีของภาคเอกชน สามารถปรับขึ้นราคาได้ตามที่ กบง. กำหนด เนื่องจากเห็นว่า ปัจจุบันราคาแอลพีจี ที่จำหน่ายขณะนี้ถือว่ามีค่าการตลาดที่สูงมาก จึงควรชะลอการปรับขึ้นในส่วนของ ปตท. 

สำหรับการเลิกอุดหนุนราคา แอลพีจี ด้วยการปรับขึ้นราคาดังกล่าว ถือเป็นการปรับโครงสร้างราคาพลังงานไปสู่การลอยตัวราคาแอลพีจี ที่จะสะท้อนกลไกคู่ขนานไปกับราคาตลาดโลก ที่ต่อไป กระทรวงพลังงาน จะมีการประกาศราคาแนะนำเป็นรายเดือนที่จะเป็นแอลพีจีราคาเดียว โดยจะใช้สูตรราคาหน้าโรงกลั่นที่ปัจจุบันอิงราคานำเข้า (CP) 76%
และราคาหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ24% โดยขณะนี้ ราคาแอลพีจีตลาดโลก อยู่ที่ 651 เหรียญต่อตัน
 

LastUpdate 03/12/2557 04:46:33 โดย :
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 11:45 pm