เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"สัญญาณเงินเฟ้อ" ติดลบครั้งแรกรอบ 5 ปี


แม้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นเดือนแรกของปี 2558 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศจะติดลบ 0.41% และ เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 5 ปี ซึ่งการติดลบดังกล่าวในมุมมองของทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างก็มีความเห็นที่ตรงกันว่า ไม่น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดภาวะเงินฝืด 

 
 
 
 
โดย นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบ ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะเงินเฟ้อติดลบไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินฝืด ทั้งนี้เงินเฟ้อที่ขยายตัวติดลบ มีสาเหตุมาจากในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าแพง ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ
แก้ไขจนราคาสินค้าปรับลดลง ประกอบกับราคาน้ำที่ปรับตัวค้อนข้างมาก ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค.58 ที่ติดลบ ถือเป็นเรื่องชั่วคราวในระยะสั้นเท่านั้น

และขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังเร่งหามาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย นอกเหนือจากมาตรการที่ได้เคยดำเนินการมาแล้วตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยจะใช้เวลาในการพิจารณา 3 สัปดาห์ก่อนจะเร่งนำข้อสรุปรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงครึ่งหลังเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งยืนยันว่า มาตรการที่จะออกมาหลังจากนี้ไป ไม่ใช่มาตรการประชานิยมอย่างแน่นอน 

 
 
 
 
\ด้าน นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อ ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศติดลบ 0.41% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และติดลบ 0.59% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว เป็นไปตามที่ ธปท.ได้ประเมินไว้แล้ว โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันที่ได้ปรับตัวลดลงตามราคาของตลาดโลก  
 
สำหรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปีนี้ ธปท.กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วไปทั้งปีอยู่ที่ 2.5 บวกลบที่ 1.5% หรืออยู่ในกรอบระหว่าง 1-4% ซึ่งจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ม.ค.ที่ออกมาติดลบ ขณะนี้ถือว่ายังไม่หลุดกรอบเป้าหมาย เพราะกรอบเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ เป็นตัวเลขที่เฉลี่ยทั้งปี ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาติดลบ เป็นผลมาจากราคาน้ำมัน

ส่วน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยมีโอกาสติดลบต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ท่ามกลางปัจจัยลดแรงกดดันเงินเฟ้อจากหลายด้าน ได้แก่ ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่น่าจะทรงตัวในระดับต่ำ แนวโน้มการปรับลดค่าไฟฟ้า Ft อีกครั้งในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.58 และการทยอยปรับลดราคาสินค้าของผู้ประกอบการ ภายหลังจากที่ภาระต้นทุนการผลิตเริ่มขยับลงมาหลายรายการ 
 

 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในแต่ละเดือนอาจมีช่วงการเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างค่าติดลบ 0.2% ถึง ค่าติดลบ 0.8% แต่อาจจะยังไม่เปิดประเด็นความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด หากความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนยังไม่ถูกกระทบ ประกอบกับพบข้อสังเกตอยู่บางประการ คือ การติดลบของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็นผลมาจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันเป็นสำคัญ ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากพลังงานและอาหารสด (ที่สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน) รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนในหลายๆ ส่วน ก็ยังคงไม่ปรับลดลงตามมาในทันที 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่าทิศทางราคาสินค้าอุปโภค/บริโภคที่ทยอยผ่อนคลายลงดังกล่าวนี้ น่าจะเป็นตัวแปรที่ช่วยบรรเทาสถานการณ์ตึงตัวระหว่างรายได้และภาระค่าครองชีพรวมถึงหนี้สินของครัวเรือนลงไปบ้างบางส่วน ซึ่งจะช่วยให้การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
 

 
 
สำหรับอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มที่จะทยอยกลับมามีค่าเป็นบวกในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากการเปรียบเทียบกับฐานดัชนีราคาผู้บริโภคที่ค่อนข้างต่ำของช่วงครึ่งหลังปี 2557 และภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่น่าจะเริ่มมีสัญญาณความสมดุลระหว่างอุปสงค์-อุปทานมากขึ้น (รวมถึงการพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม) 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ก.พ. 2558 เวลา : 11:53:59
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:41 am