การตลาด
สกู๊ป "ค้าปลีก" รวมตัวปลุกพื้นที่ ปั้น "ฮับค้าส่ง" แลนด์มาร์คภูมิภาคอาเซียน ดึงชาช้อปทั่วโลก


"ค้าปลีก" ถือเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับเศรษฐกิจของไทย แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเกี่ยวกับความช่วยเหลือในด้านต่างๆ แต่ผู้ประกอบการก็ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากเม็ดเงินลงทุนที่ผู้ประกอบการแต่ละรายที่ใช้ในแต่ละปี ซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง


นอกจากจะเดินหน้าขยายธุรกิจด้วยตัวเองแล้ว  ล่าสุดยังได้มีการรวมตัวกันทั้งในรูปแบบของสมาคม และลุยเดี่ยว เพื่อปลุกปั้นย่านการค้าที่ตัวเองทำธุรกิจอยู่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะในสายตาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

กลุ่มล่าสุดที่ได้มีการร่วมตัวกัน เพื่อปลุกปั้นย่านให้เป็นเดสติเนชั่นของบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติ คือ ผู้ประกอบการย่านประตูน้ำ จากเดิมแต่ละรายจะแข่งขันกันทำธุรกิจ แต่เนื่องจากอีกไม่กี่เดือนจะเปิดเออีซี การร่วมกันเพื่ออยู่จึงเกิดขึ้น ด้วยการร่วมกันผลักดันย่านให้เป็นที่รู้จักในนามของ สมาคมผู้ประกอบการศูนย์ค้าส่งย่านประตูน้ำ 
 

 
 
นายศิริชัย ประพันธ์ธุรกิจ นายกสมาคมผู้ประกอบการศูนย์ค้าส่งแฟชั่นย่านประตูน้ำ กล่าวว่า จากศักยภาพของธุรกิจค้าส่งในย่านประตูน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการในย่านจึงมีแนวคิดที่จะรวมตัวกัน เพื่อผลักดันให้ย่านค้าส่งของประตูน้ำเป็นแลนด์มาร์คของภูมิภาคเซียน และได้มีการก่อตั้งสมาคมผู้ประกอบการศูนย์ค้าส่งแฟชั่นย่านประตูน้ำขึ้นเมื่อ 1  เดือนที่ผ่านมา

ปัจจุบันสมาคมผู้ประกอบการศูนย์ค้าส่งแฟชั่นย่านประตูน้ำ มีสมาชิกรวมทั้งหมด 7 ราย ประกอบด้วย เดอะ แพลิทินัมแฟชั่นมอลล์,กรุงทองพลาซ่า,ชิบูญ่า ประตูน้ำ,แกรนด์ไดมอนด์ พลาซ่า ,อินทราสแควร์ ,พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง และวอเตอร์เกต พาวิลเลียน ซึ่งหลังจากรวมตัวกันก็ได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์ของแผนการดำเนินงานคร่าวๆ ไว้ 4 ข้อ  คือ 1.การทำให้ย่านประตูน้ำเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และช้อปปิ้งที่นักท่องเที่ยวทุกประเทศต้องมา เพื่อให้ประตูน้ำเป็น “อาเซียน โฮเซล แฟชั่นฮับ” 2. การเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอี ให้มีศักยภาพในด้านของการค้าขาย 3.การเป็นตัวกลางในการทำบิซิเนสแมทชิ่ง หรือตัวกลางการเจรจาระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ และ 4.การพัฒนาย่านประตูน้ำให้เป็นแหล่งของผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้พัฒนาฝีมือ และเป็นศูนย์แสดงสินค้า

 
 
 
สำหรับแนวทางการผลักดันย่านประตูน้ำให้เป็นที่รู้จักนั้น เบื้องต้นสมาคมฯ มีแผนที่จะทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้ว่าประเทศไทยมีย่านค้าส่งที่ยิ่งใหญ่อยู่ที่ประตูน้ำ ซึ่งหลังจากนี้คงจะต้องมีการเข้าไปทำกิจกรรมการตลาดร่วมกับบริษัททัวร์ต่างๆ เพื่อบรรจุโปรแกรมการช้อปปิ้งใส่เข้าไปในโปรแกรมการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเชิญนักธุรกิจหรือบริษัททัวร์ให้เข้ามาช้อปปิ้งและพักภายในย่าน เนื่องจากผู้ประกอบการค้าส่งแต่ละรายมีโรงแรมอยู่ภายในพื้นที่ศูนย์การค้า เช่น เดอะ แพลทินั่มแฟชั่นมอลล์  มีโรงแรมโนโวเทล ,กรุงทองพลาซ่า มีโรงแรมโกลว์ ประตูน้ำ, แกรนด์ไดมอนพลาซ่า มีโรงแรมแกรนด์ไดมอน ประตูน้ำ , อินทราสแควร์ มีโรงแรมอินทรา ประตูน้ำ , พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง  มีโรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ และ วอเตอร์เกต พาวิลเลียน  มีโรงแรมเซ็นทารา วอเตอร์เกท พาวิลเลียน กรุงเทพฯ เป็นต้น

นายศิริชัย กล่าวว่า หากสามารถดำเนินการไปตามแผนงานที่วางไว้ได้  สมาคมผู้ประกอบการศูนย์ค้าส่งแฟชั่นย่านประตูน้ำมั่นใจว่าจะขึ้นเป็นฮับด้านการค้าส่งของอาเซียนได้ก่อนประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซียที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้อย่างแน่นอน

ก่อนหน้าที่สมาคมผู้ประกอบการศูนย์ค้าส่งแฟชั่นย่านประตูน้ำ จะออกมาประกาศตัวเป็น “อาเซียน โฮเซล แฟชั่นฮับ” ในส่วนของสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA) ซึ่งประกอบด้วยพันธมิตร 5 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษร พร็อพเพอร์ตี้, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา,ไมเนอร์ กรุ๊ป, ดิ เอราวัณ กรุ๊ป, เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป ก็ออกมาประกาศปั้นย่านราชประสงค์เป็น “ราชประสงค์ บางกอก ดาวน์ทาวน์” เช่นกัน ด้วยการออกมาประกาศลงขันร่วมกันก่อสร้างโครงการใหม่และปรับปรุงโครงการเก่า รวมมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท

 
 
 
เช่นเดียวกับ ย่านสุขุมวิท ที่บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ได้ออกมาประกาศกร้าวว่า จะสร้างย่านสุขุมวิท เป็นย่านการค้า ศูนย์กลางธุรกิจ และแหล่งท่องเที่ยวภายใต้ชื่อ “ดิ เอ็ม ดิสทริค” ซึ่งจะประกอบไปด้วย ศูนย์การค้าในเครือ 3 แห่ง คือ ดิ เอ็มโพเรียม ,ดิ เอ็มควอเทียร์ และดิ เอ็มสเฟียร์ ด้วยการใช้งบลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท สำหรับการสร้าง ดิ เอ็ม ดิสทริค ปรับปรุงศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม ก่อสร้างศูนย์การค้าดิ เอ็มควอเทียร์ และศูนย์การค้า อิ เอ็มสเฟียร์
 
 
 
 
อีกหนึ่งย่านที่มีแผนที่จะปั้นให้เป็นเดสติเนชั่นของกรุงเทพฯ คือ จตุจักร เนื่องจากปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในย่านนี้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการในย่านมีแนวคิดที่จะรวมตัวกัน เพื่อปั้นย่านจตุจักรและถนนกำแพงเพชร ซึ่งถือเป็นย่านการค้าชื่อดังของกรุงเทพฯ ให้กลับมาคึกคักอักครั้ง

 
 
 
 
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษาโครงการ ดีดี มอลล์  บริษัท ดีดี มอลล์  กล่าวว่า หลังจากบริษัทดำเนินการปรับปรุงและก่อสร้างโครงการดีดีมอลล์ จำนวน 8 ชั้น แล้วเสร็จ บริษัทก็มีแผนที่จะเข้าไปเจรจากับผู้ประกอบการในย่าน เพื่อออกมาทำกิจกรรมการตลาดร่วมกัน   เพราะปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกในย่านจตุจักรและถนนกำแพงเพชรซบเซาลงไปมาก ดังนั้นบริษัทจึงมีแนวคิดที่จะรวมตัวกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในย่าน เพื่อผลักดันให้ธุรกิจค้าปลีกในย่านจตุจักรและถนนกำแพงเพชรกลับมาคึกคักอีกครั้ง

แนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าวของแต่ละย่านค้าปลีก เชื่อว่าจะให้ประเทศไทยเป็น "ฮับค้าปลีก" ได้ไม่ยาก เพราะหากมองไปที่ความพร้อมในหลายๆ ด้าน หากมีการพัฒนาเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย การที่ประเทศไทยจะนั่งเป็นศูนย์กลางค้าปลีกของอาเซียน คงไม่ยากเกินที่จะไปถึง.
 

บันทึกโดย : วันที่ : 16 ก.พ. 2558 เวลา : 12:42:36
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:07 pm