การตลาด
สกู๊ป "เคเอฟซี" อ้าแขนรับพันธมิตร ปูพรมทุกอำเภอ


ตลอดระยะเวลากว่า 31 ปีที่ผ่านมา ร้านเคเอฟซี ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีสำหรับการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย เนื่องจากมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรในการขยายธุรกิจร้านเคเอฟซี ส่งผลให้ปัจจุบันร้านอาหารเคเอฟซี มีจำนวนสาขาเปิดให้บริการในประเทศไทยมากถึง 532 สาขาทั่วประเทศ

              

ทั้งนี้ จากนโยบายที่ต้องการจะเปิดร้านเคเอฟซีให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในทุกอำเภอ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด จึงมีแผนที่จะหาพันธมิตรใหม่เข้ามาช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับร้านเคเอฟซีอีก 1 ราย เนื่องจากภายในปี 2562  บริษัท ยัมฯ มีแผนที่จะขยายร้านเคเอฟซีให้ครบ 800 สาขา และครบทุกอำเภอในอนาคตอันใกล้ จากปัจจุบันสามารถเข้าไปเปิดร้านเคเอฟซีบ้างแล้วในอำเภอขนาดใหญ่

สำหรับคุณสมบัติของพันธมิตรที่บริษัท ยัมฯ ต้องการนำมาร่วมขยายธุรกิจหลักๆ จะเน้นไปที่ความสามารถในด้านของการลงทุน และการมีวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจที่เหมือนกัน เพราะสิ่งดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการขยายธุรกิจในอนาคต

 

นางแววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไป เคเอฟซี ประจำประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อนำมาเสริมความแข็งแกร่งให้กับการขยายร้านเคเอฟซี จากปัจจุบันบริษัทมีพันธมิตรที่ร่วมแฟรนไชส์ทำธุรกิจร้านเคเอฟซีอยู่เพียง 1 ราย คือ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป ซึ่งแนวทางดังกล่าวถือเป็นการเดินตามแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทแม่ ซึ่งในหลายประเทศได้เริ่มทำธุรกิจรูปแบบนี้ เช่น อินเดีย ปัจจุบันมีพันธมิตรทางธุรกิจร่วมขยายร้านเคเอเอฟซีมากกว่า 5 ราย  และรัสเซียมีพันธมิตรมากกว่า 5 รายเช่นกัน     

อย่างไรก็ดี ไทยถือเป็นประเทศแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ออกมาปรับแผนการดำเนินธุรกิจในรูปแบบดังกล่าว เนื่องจากธุรกิจในประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าภายใน 6 เดือนนับจากนี้ น่าจะได้ข้อสรุปของพันธมิตรใหม่ที่จะเข้ามาร่วมทำธุรกิจร้านเคเอฟซี โดยหลังจากมีพาร์ทเนอร์ครบ 3 ราย  บริษัท ยัมฯ มั่นใจว่าจะทำให้การขยายร้านเคเอฟซี ทำได้รวดเร็วมากขึ้น และครองความเป็นผู้นำธุรกิจร้านอาหารจานด่วน ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ประมาณ 53%

ในส่วนของแผนการขยายร้านเคเอฟซีในปีนี้ บริษัท ยัมฯ มีแผนที่จะเปิดร้านเคเอฟซีสาขาใหม่อยู่ที่ 45 สาขา  ภายใต้งบลงทุนรวม 1,300  ล้านบาท  แบ่งเป็นบริษัท ยัมฯ เปิดเอง 65%  ที่เหลืออีก 35%  เป็นของซีอาร์จี โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ เปิดสาขาใหม่ไปแล้ว 10 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีจำนวนสาขาเปิดให้บริการอยู่ที่  532 สาขา แบ่งเป็นร้านเคเอฟซีที่บริษัท ยัมฯ เปิด 320  สาขา และซีอาร์จีเปิดให้บริการ 202  สาขา ซึ่งจากจำนวนสาขาที่มีมากถึง 532 สาขา ส่งผลให้ร้านเคเอฟซีเป็นผู้นำตลาด ตามด้วยร้าน แมคโดนัลด์  ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสาขาอยู่ที่ประมาณ 220 สาขา และเชสเตอร์มีจำนวนสาขาเปิดให้บริการประมาณ 200 สาขา

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะปรับปรุงร้านเก่าอีก 10 สาขา และทำกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง ภายใต้งบรวมทั้งปีที่ 700 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็จะเดินหน้าพัฒนาและนำเสนอนวัตกรรมทั้งด้านเมนูอาหารคาวหวานและการบริการต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์และความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค

นางแววคนีย์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันผู้บริโภคหันมามองหาอาหารรสชาติดี มีคุณภาพ มีการอำนวยความสะดวก และมีความรวดเร็วผ่านช่องทางจัดจำหน่ายทั้ง 3 ช่องทาง ประกอบด้วย การรับประทานที่ร้าน การสั่งกลับบ้าน และการบริการส่งถึงบ้าน

ขณะเดียวกัน ยังจะได้เร่งขยายสาขาในรูปแบบไดรฟ์ทรูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในทำเลที่ผู้บริโภคมีความต้องการความสะดวกและรวดเร็วสูง และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภคที่ต้องการประสบการณ์การรับประทานอาหารรูปแบบใหม่ๆ และมีความเร่งรีบ โดยในปี 2558 คาดว่าจะเปิดสาขาในรูปแบบไดรฟ์ทรู 10 สาขา และครบ 100 สาขาในปี 2563

สำหรับลูกค้าที่มารับประทานในร้านและสั่งกลับบ้าน บริษัท ยัมฯ ได้พัฒนากระบวนการเพิ่มความเร็วในการสั่งซื้อและรับอาหาร หรือ SOP (Speed Up Ordering Process) เป็นการนำเทคโนโลยีการรับออร์เดอร์มาตรฐานระดับโลกมาใช้ พร้อมปรับปรุงขั้นตอนและรูปแบบในครัวใหม่ ทำให้การทำและนำส่งอาหารให้ลูกค้าเร็วยิ่งขึ้น โดยระบบ SOP ใหม่นี้ จะทำให้เคเอฟซีสามารถให้บริการลูกค้าได้เพิ่มขึ้นจาก 41 คนต่อชั่วโมงในปัจจุบัน เป็น 83 คนต่อชั่วโมง ซึ่งขณะนี้ได้ติดตั้งระบบ SOP ไปแล้ว 7 สาขา และวางแผนที่จะขยายไปยังร้านค้าทั้งหมดภายในสิ้นปี 2558 นี้

อีกหนึ่งนวัตกรรมที่ บริษัท ยัมฯ มีแผนที่จะนำเสนอ คือ การพัฒนาในส่วนเดลิเวอรี่ของเคเอฟซี ซึ่งเป็นบริการที่สร้างยอดขายให้กับเคเอฟซีถึง 9% ของยอดขายโดยรวม และมีการเจริญเติบโตอยู่ที่ 11% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดย 36% ของยอดขายเดลิเวอรี่มาจากการสั่งซื้อออนไลน์ และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นวิธีการสั่งซื้อที่สะดวกและมีการใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

 

ล่าสุด เคเอฟซี จึงได้พัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซการสั่งซื้อออนไลน์ เพื่อเติมเต็มการให้บริการเดลิเวอรี่ของเคเอฟซี ซึ่งปัจจุบันมีการให้บริการเดลิเวอรี่คลอบคลุมอยู่ถึง 231 สาขา ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีดังกล่าว ส่งผลให้การทำตลาดผ่านช่องทางดังกล่าว มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันมีสัดส่วนยอดขายเดลิเวอรี่มาจากช่องทางออนไลน์อยู่ที่  36% คาดว่าสิ้นปี 2559 จะเพิ่มเป็น 55-60% และเพิ่มเป็น 80% ในปี 2560

หลังจากออกมาเดินหน้าขยายธุรกิจในทุกรูปแบบ บริษัท ยัมฯ มั่นใจว่าสิ้นปีนี้จะมีรายได้เติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่ 10% อย่างแน่นอน แม้ว่าขณะนี้ภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคก็ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่หากนำมาเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาถือว่ามีแนวโน้มที่ดีกว่า

นางแววคนีย์ กล่าวต่อว่า จากปัญหาเศรษฐกิจปีนี้ค่อนข้างชะลอตัว ส่งผลให้การบริหารงานลำบากมากขึ้น เนื่องจากอัตราเฉลี่ยการเข้ามาใช้บริการของลูกค้ามีการปรับตัวลดลง ส่งผลให้บริษัทต้องออกมาจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย  และทำโปรโมชั่นกับสินค้าต่างๆ 1 ครั้งต่อ 3 สัปดาห์ หรือ  1 ครั้งต่อ 5 สัปดาห์  ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากเดิมที่จะจัดโปรโมชั่นเดือนละ 1 ครั้ง

ขณะเดียวกันก็ต้องออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในระดับราคาที่ไม่สูงมากนักเข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว่าสินค้ามีความหลากหลาย พร้อมกับนำรายการสินค้าเก่าที่ขายดีกลับมาขายใหม่ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของลูกค้าให้กลับมาซื้อสินค้าอีกครั้ง  จากปัจจุบันลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในร้านเคเอฟซี จะมีซื้อสินค้าเฉลี่ยต่อใบเสร็จที่ 130 บาท

การออกมาปรับแผนการดำเนินงานครั้งใหญ่ของร้านเคอฟซีในครั้งนี้ น่าจะทำให้เคเอฟซี สามารถปักธงเพิ่มสาขาตามที่วางเป้าหมายได้ไม่ยาก เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่เองก็พยายามเดินหน้ายึดหัวหาดต่างจังหวัดที่มีศักยภาพ เพื่อเปิดสาขาใหม่กันอย่างคึกคัก แม้ว่าตอนนี้เศรษฐกิจจะไม่คึกคักก็ตาม

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 พ.ค. 2558 เวลา : 11:23:17
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 7:23 am