เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รัฐบาลทุ่มงบกว่าแสนล้านบาท พยุง SMEs


ต้องยอมรับว่า ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย และปัจจุบันก็เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

 

ภายหลังจากที่ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ภายใต้การนำของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยไปเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสังคม

 

 

กลุ่มต่อไปที่รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือ ได้แก่ กลุ่มผุ้ประกอบการSMEs โดย นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในวันที่ 8 ก.ย.58 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จะเสนอคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs)

สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ในเบื้องต้นจะเสนอแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาประมาณ 10,000 ราย โดยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) ซึ่งแบ่งเป็น 4 ด้าน คือ ด้านการเงิน การคลัง การเพิ่มรายได้ และมาตรการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

โดยในส่วนของด้านการเงินกรอบใหญ่จะแบ่งเป็น 3 แนวทางคือ 1.สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูจากสถาบันการเงินวงเงิน 1 แสนล้านบาท 2.กองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาทางการเงิน 1,000 ล้านบาท และ 3.กองทุนสตาร์ทอัพนักรบใหม่วงเงิน 1,500 ล้านบาท

 

ด้าน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการการคลัง บอกว่า มาตรการที่จะออกมาจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs จะทำให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยหน่วยงานของรัฐจะเข้าไปช่วยค้ำประกันให้ผู้ปล่อยกู้กล้าที่จะให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น

ขณะที่บริษัท PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านการตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก เผยผลสำรวจล่าสุด Bridging the Gap 2015 Annual Global Working Capital Survey

 

โดยได้ให้มุมมองและระบุถึงสถานการณ์ของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมในไทยเวลานี้ว่า ยังน่าเป็นห่วง เพราะสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศหดตัวตามไปด้วย และมูลค่าการส่งออกก็แทบไม่เติบโตหรืออาจลดลงเช่นเดียวกัน ขณะที่ฐานทุนของเอสเอ็มอีไทยนั้นค่อนข้างจำกัดและมีต้นทุนสูงกว่า ทำให้การบริหารเงินทุนหมุนเวียนคล่องตัวน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ แม้ว่าภาครัฐจะพยายามออกมาตรการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ก็ตาม

นอกจากนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ ยังขาดแบบแผนการบริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพและการจัดทำงบการเงินที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากงบการเงินจะช่วยให้ผู้ประกอบการเห็นรายรับ รายจ่าย รู้ความเคลื่อนไหวของกระแสเงินสดของกิจการได้ชัดเจนมากขึ้น จึงทำให้สามารถวางแผนบริหารกระแสเงินสดและเงินทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ


LastUpdate 04/09/2558 15:19:42 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:25 pm