เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
FAA ลดมาตรฐานด้านการบินของไทย ฉุดภาพลักษณ์ประเทศ


ในที่สุดสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ Federal Aviation Administration หรือ FAA ก็มีมติปรับลดอันดับมาตรฐาน ด้านการบินของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จาก Category 1 มาเป็นCategory 2 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558

 

 

 

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ยอมรับว่า การตัดสินดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศพอสมควร ซึ่งได้กำชับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อให้ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม การบริหารจัดการภายใน ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สามารถสร้างความมั่นใจกับคนไทยได้ว่า จะกลับสู่สถานภาพเดิมได้ และทำให้ต่างชาติเชื่อมั่นได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จะต้องพลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสแห่งการพัฒนาอย่างแท้จริง ส่วนเรื่องท่องเที่ยว ไม่ต้องวิตกกังวล เพราะปกติสายการบินของประเทศไทยไม่ได้ทำการบินตรงไปยังสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว

 

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรณี FAA ลดเกรดไทยนั้น ไม่กระทบต่อสายการบินสัญชาติไทย โดยปัจจุบันการบินไทยทำการบินไปลอสแองเจลิส สหรัฐฯ ด้วยวิธีโค้ดแชร์กับสายการบินพันธมิตร ส่วนกรณีเอียซ่า ซึ่งจะแจ้งผลการตรวจสอบวันที่ 10 ธ.ค. 58 หากมีการลดระดับเช่นเดียวกับ FAA อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของการบินไทยได้ เนื่องจากมีเส้นทางบินไปยุโรป แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบไม่มากนัก เพราะยังสามารถให้บริการในเส้นทางบินเดิม และเครื่องบินลำเดิม เพียงแต่ไม่สามารถขยายเส้นทางเพิ่มได้

 

 

ส่วนความคืบหน้าการแก้ปัญหาข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) นั้น ทั้งหมดมี 5 ขั้นตอน ขณะนี้อยู่ในนตอนที่ 3 คือ การตรวจสอบคู่มือเอกสารตามที่สายการบินสัญชาติไทยทั้ง 41 รายยื่นมา เพื่อพิจารณาออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC Re-certification) และคาดว่าภายในเดือนส.ค. 2559 กพท.จะสามารถ Re-certification ได้ 28 สายการบิน ซึ่งเป็นไปตามแผนที่ไทยเสนอไปแล้ว ICAO ให้การอนุมัติมา จากนั้นไทยจะเชิญ ICAO เข้ามาตรวจสอบอีกครั้ง หากผ่านการประเมิน ICAO ก็สามารถปลดธงแดงได้ทันที

 

ด้าน นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทยกล่าวว่า ได้เตรียมแผนรองรับกรณี เอียซ่าไว้แล้ว แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ปัจจุบันบริษัท มีเส้นทางบินตรงสู่ยุโรป 9 ประเทศ รวม 11 เส้นทาง ซึ่งรายได้จากเส้นทางยุโรปคิดเป็น 1 ใน 3 ของรายทั้งหมด

 

ขณะที่ นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ยืนยันว่า บริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากกรณีดังกล่าว เนื่องจากบริษัทฯ ไม่มีเส้นทางบินไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และไม่มีการทำความตกลงเที่ยวบินร่วม (Codeshare) กับสายการบินของประเทศสหรัฐอเมริกา และสายการบินขอยืนยันถึงมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านการบินในระดับสากล เพื่อความมั่นใจและความปลอดภัยสูงสุดของผู้โดยสารทุกคน


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ธ.ค. 2558 เวลา : 16:44:13
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 12:40 pm