เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ปลุกกระแส "สินค้าโอท็อป" สร้างความยั่งยืนให้ชุมชน


แนวคิดการพัฒนาสินค้า หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป)  นับเป็นนโยบายที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์  ให้ความสำคัญมานับตั้งแต่สมัยที่รัฐมนตรีในยุครัฐบาลก่อน และนโยบายนี้ยังได้รับการสานต่อในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา 

 

 

โดยล่าสุด ดร.สมคิด เปิดเผยว่า รัฐบาลมีแนวคิดที่จะออกมาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและการค้าของชุมชน โดยเมื่อนักท่องเที่ยวได้ซื้อสินค้าของชุมชนกลับไปแล้ว สามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้คนมาซื้อสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) ที่มีคุณภาพ แต่ในขั้นตอนปฏิบัติจะต้องดูแนวทางให้ชัดเจนด้วยว่า สินค้านั้นเป็นสินค้าจากชุมชนจริงๆ หรือไม่ ซึ่งหากทำได้จริงจะช่วยส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้มีรายได้จากการขายสินค้าชุมชนเพิ่มมากขึ้น

 


         
โดยจะเห็นได้จากรายได้จากการท่องเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น แม้ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีปัญหาหลายด้านก็ตาม ซึ่งรัฐบาลจะต้องหาแนวทางให้นักท่องเที่ยวพำนักหรืออยู่ในประเทศไทยนานขึ้น ก่อนหน้านี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2559 ราว 2.3 ล้านล้านบาท แต่จะพยายามผลักดันให้ได้ถึง 2.4 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจ โดยจะเน้นให้นักท่องเที่ยวใช้เงินในประเทศเพิ่มขึ้นจากวันละ 5,072 บาท เป็น 5,100-5,200 บาทต่อวัน และเพิ่มระยะเวลาอยู่ในไทยนานขึ้น จาก 9 วัน เป็น 11-12 วัน

 

ขณะเดียวกัน นายประสงค์   นรจิตร์  หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับงบประมาณโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (โอปอย) จ.เชียงรายในปี 2560  เพิ่มขึ้นเป็น 50 ล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาเกษตรแปรรูปอย่างจริงจัง  โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นการใช้งบประมาณ เพื่อจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษารายละไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการแปรรูปเกษตรแบบไม่เสียค่าจ่าย ซึ่งที่ผ่านมาสามารถพัฒนาเกษตรกรได้อย่างต่อเนื่อง
         
สำหรับการพัฒนาผู้ประกอบการ จะให้ผู้ประกอบการแต่ละราย เลือกแผนงานที่กระทรวงฯกำหนด คือ การบริหารจัดการโลจิสติกส์ ,การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ,การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน ,การลดต้นทุนพลังงาน , การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และระบบมาตรการสากล และกลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด โดยโครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2550  ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่เข้าร่วมแล้วกว่า 1,100 ราย  เพิ่มมูลค่าเชิงเศรษฐกิจกว่า 4,000 ล้านบาท มาจากการลดรายจ่ายสิ้นเปลือง และผลจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น


LastUpdate 23/02/2559 08:27:23 โดย : Admin
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 12:17 am