เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
วท.จับมือคมนาคมโชว์ผลงานวิจัยระบบขนส่งทางราง




 


วันนี้(16มี.ค.)พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานการประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 2 เรื่อง “ผลิตชิ้นส่วนระบบรางอย่างไรให้ได้มาตรฐาน” (The Second Thai Rail Industry Symposium and Exhibition (RISE2)  "Railway Standard and Thai Railway Parts Manufacturing") ระหว่างวันที่ 16 - 17 มีนาคม 2559 ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน
 
 
 
 
ซึ่งงานดังกล่าวจัดโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ต เรล ลิงก์) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท.) และ Railway Technical Research Institute (RTRI) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมระบบรางของประเทศไทยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมได้จริง ตลอดจนเผยแพร่องค์ความรู้ด้านมาตรฐานการผลิตชิ้นส่วนระบบราง รวมทั้งนำเสนอความก้าวหน้าของการพัฒนาชิ้นส่วนระบบรางในต่างประเทศ สำหรับเป็นบทเรียนที่ดีในการนำมาประยุกต์และต่อยอดขยายผลในประเทศไทย อันเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว 

นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า โครงการลงทุนระบบขนส่งทางราง ควรเป็นการผนึกกำลังร่วมกันหลายกระทรวง รวมทั้งภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยในการพัฒนาระบบรางของประเทศ โดยไม่ควรเป็นเพียงการจัดซื้อรถไฟฟ้ามาใช้โดยไม่ได้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ควรใช้เงินงบประมาณเพื่อการพัฒนาการศึกษา และการวิจัยควบคู่ไปด้วยกัน โดยให้มีการใช้วัสดุที่ผลิตขึ้นเองภายในประเทศได้ด้วยและค่อยเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งอาจต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานกลาง ที่ทำหน้าที่ดูดซับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบรางจากต่างประเทศ และถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์แก่ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแหล่งสั่งสมความรู้และเทคโนโลยีจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่งทางราง
 

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมขนส่งระบบรางในประเทศไทย ควรพิจารณาหาวิธีการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด เช่น อาศัยกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การกำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อให้ชัดเจนใน TOR ของกระทรวงคมนาคม เพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ เช่น เงื่อนไขการประกอบตัวรถในประเทศไทย การกำหนดสัดส่วนชิ้นส่วนที่ต้องผลิตในประเทศไทย หรือแม้แต่เงื่อนไขการจัดซื้อจำนวนมาก โดยควรมีการศึกษาความเป็นไปได้ และแนวทางการกำหนดนโยบายการจัดซื้อของภาครัฐเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมรางผ่านระเบียบของกระทรวงการคลัง ดังตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย 

“เพื่ออำนวยการให้การวิจัยและพัฒนาขนส่งระบบรางของประเทศไทยสามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว เราจะต้องเร่งให้มีการจัดตั้งหน่วยงานกลาง ที่ทำหน้าที่ดูดซับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบรางจากต่างประเทศ และถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์แก่ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเข้าใจว่าทาง สวทช.กำลังผลักดันอยู่ผมเชื่อว่า หากเราร่วมมือร่วมใจกัน การพัฒนาระบบขนส่งทางรางในประเทศไทย การพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน การพัฒนางานวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการพัฒนาบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบบขนส่งทางรางของไทยก็จะสามารถมีพัฒนาการที่ยั่งยืน ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเราได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่จะประยุกต์ใช้กับการลงทุนในระบบรางของประเทศไทย นอกเหนือจากการลงทุนควรต้องคำนึงถึงการเตรียมการเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี การใช้บุคลากร รวมถึงการให้โอกาสกับอุตสาหกรรมไทยได้เข้ามามีส่วนร่วมในระดับหนึ่งของระบบรางของประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้ตระหนักถึงการพึ่งพาตัวเองในการลงทุนและอยากเห็นภาคเอกชนของไทยเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในระดับอุตสาหกรรมและในระดับชุมชนเมือง ระบบรางเป็นเรื่องที่ต้องเน้นถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ทุกๆชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทยต้องมีมาตรฐานและรับประกันในแง่ของความปลอดภัย  

การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ขยายองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานโดยหน่วยงานระบบขนส่งทางรางจาก RTRI สู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้รับรู้แนวทางการใช้มาตรฐานการผลิตอุปกรณิชิ้นส่วน นำเสนอความก้าวหน้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมระบบรางของประเทศไทยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งส่งมอบงานวิจัยที่ดำเนินการแล้วเสร็จให้หน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยในปีนี้ เป็นการส่งมอบผลงานวิจัยโดยประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยสนับสนุนงบประมาณการวิจัย ที่พัฒนาโดย ดร.รัฐภูมิ ปริชาติปรีชา แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง การพัฒนาระบบประเมินความปลอดภัยและสภาวะการใช้งานได้ของระบบรางด้วยการตรวจวัดการสั่นสะเทือน สำหรับการประยุกต์ใช้งานกับระบบรางในไทย ให้แก่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด 

โดยผลที่ได้รับจากการจัดประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ จะได้จัดทำสรุปเป็นรายงานทางวิชาการอันจะเป็นจักรกลสำคัญในการสนับสนุนให้ประเทศไทยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและสามารถพึ่งพาตนเองในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางที่นำมาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน และทำให้ประเทศมีความยั่งยืนในระยะยาวต่อไป

 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 มี.ค. 2559 เวลา : 16:56:36
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 2:02 pm