เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สถานการณ์"เลิกจ้าง"มีสัญญาณน่าห่วงมากขึ้น


 


เศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวมาอย่างยาวนาน  ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นตามลำดับ   โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อย    ซึ่งม.ล. ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์ด้านแรงงานในช่วงที่ผ่านมาว่าแนวโน้มการว่างงานยังต้องติดตาม    เนื่องจากตัวเลขของผู้ขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมในเดือนก.พ.2559 มีจำนวน 123,087 คน มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 25.58%  เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2558 และเพิ่มขึ้น 7.83% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.  ที่ผ่านมา ที่มีจำนวนผู้ขอรับเงินทดแทน 114,150 คน
 
 
 
 
โดยในจำนวนดังกล่าวมีผู้ที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากการเลิกจ้าง เดือน ก.พ.2559 อยู่ที่ 7,915 คน มีอัตราการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 26.06%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558     แต่ภาพรวมยังถือว่าการเลิกจ้าง 26.06%  ยังต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 3 ปี ในช่วงเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ ซึ่งอยู่ที่ 41.01%

 
ซึ่งขณะนี้แนวโน้มภาพรวมในตลาดแรงงา น การจ้างงาน ว่างงาน  และการเลิกงานยังถือว่าอยู่ในภาวะปกติจากการเฝ้าระวังสถานการณ์จากระบบเตือนภัยด้านแรงงาน โดยใช้ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจในรูปแบบดัชนีผสม 13 ตัว  ส่งสัญญาณด้านการจ้างงานในสภาพปกติอยู่ในเกณฑ์สีเขียว    ซึ่งถ้าไม่เกิน 5  ตัวจะแสดงภาวะปกติ ซึ่งมีเพียงดัชนี 1 ตัว คือ มูลค่าการส่งออกที่ชะลอตัว  

ส่วนแนวโน้มการว่างงานจากระบบเตือนภัยด้านแรงงานซึ่งอาศัยข้อมูลการว่างงานผู้มีงานทำภาคเอกชนของสำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงสถานะปกติ  แนวโน้มการเลิกจ้าง  จากระบบเตือนภัยด้านแรงงาน ซึ่งอาศัยข้อมูลการแจ้งและตรวจพบจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน   ก็ยังแสดงสถานะปกติ 

 
 
 
แต่กระทรวงแรงงานได้ให้ส่วนราชการในพื้นที่ทุกจังหวัดติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงานโดยให้รายงานเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงานทุกเดือน   รวมถึงจับตาแนวโน้มและสัญญาณตัวเลขการเลิกกิจการการเลิกโรงงานและความเคลื่อนไหวของการจ้างงานของธุรกิจทุกขนาดในพื้นที่จังหวัดอย่างใกล้ชิดพร้อมจัดทำทะเบียนกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันปัญหาและสามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือแก้ไขได้ทันท่วงที

สถานการณ์การเลิกจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น  ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศเท่านั้น  แต่ในต่างประเทศก็มีทิศทางไม่ต่างกัน  โดยหนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัล เปิดเผยว่า ปี 2558    ถือเป็นปีที่สิงคโปร์ปลดพนักงานออกครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2552   เนื่องจากภาวะราคาพลังงานตกต่ำ โดยเฉพาะพนักงานในกลุ่มบริษัทสำรวจและขุดเจาะพลังงานนอกชายฝั่งและบริษัทด้านการเดินเรือ

ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา มีการปลดพนักงานในภาคการผลิตไปแล้วกว่า 5,200 อัตรา หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2557  ถึง 22% คิดเป็นพนักงาน 1,680 อัตรา ในบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่ทำจากโลหะประดิษฐ์ เครื่องจักร และอุปกรณ์ รวมถึงแท่นขุดเจาะน้ำมันด้วย โดย เซมบ์คอร์ป มารีน บริษัทอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ของสิงคโปร์ ปลดพนักงานราว 3,000-4,000 อัตรา ขณะที่ ไรวัล เคปเปล คอร์ป  บริษัทแท่นขุดเจาะน้ำมันรายใหญ่ ปลดพนักงานกว่า 6,000 อัตรา

LastUpdate 26/03/2559 20:53:34 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 11:11 pm