การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
เกษตรฯเตือนเตรียมรับมือโรคและแมลงศัตรูกล้วยไม้ระบาด




 



ในช่วงหน้าร้อนสภาพอากาศแห้งแล้งเช่นนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้เฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยไฟฝ้าย มักพบการเข้าทำลายในระยะกล้วยไม้ออกดอก หากระบาดรุนแรง กล้วยไม้จะแสดงอาการรอยด่างขาวบริเวณกลีบดอก หรือเกิดขี้กลากบนก้านช่อดอก ซึ่งจะพบการระบาดของเพลี้ยไฟฝ้ายมากช่วงฤดูร้อนของทุกปี
 
 
 
 
 
 
หากเกษตรกรสุ่มพบอาการทำลายของเพลี้ยไฟฝ้าย 8 ช่อดอก จาก 40 ช่อดอก ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงแบบสลับชนิดกัน อาทิ สารสไปนีโทแรม 12% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (รอบการพ่นทุก 14 วันครั้ง) หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (รอบการพ่นทุก 5 วันครั้ง) หรือสารอีมา เมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (รอบการพ่นทุก 5-7 วันครั้ง) โดยพ่นทุก 14 วัน ด้วยปริมาณการพ่น 80-120 ลิตรต่อครั้ง
 
 
 

ในระยะนี้ เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ควรหมั่นสังเกตการระบาดของโรคปื้นเหลือง จะพบอาการของโรคที่บริเวณใบล่างโคนต้นก่อนแล้วลุกลามสู่ใบยอด ด้านหน้าใบเป็นจุดกลมสีเหลือง ต่อมาแผลขยายใหญ่เป็นปื้นสีเหลืองตามแนวยาวของใบ ด้านหลังใบพบกลุ่มผงสีดำของเชื้อราคล้ายขี้ดินสอ ถ้าอาการรุนแรงใบจะเปลี่ยน เป็นสีน้ำตาลแห้งและหลุดร่วงได้ โดยจะสามารถพบการระบาดของโรคปื้นเหลืองได้ตลอดทั้งปี
 

ถ้าพบการระบาดของโรคปื้นเหลือง ให้เกษตรกรเก็บใบที่เป็นโรคและใบที่ร่วงไปเผาทำลายนอกแปลง และพ่นด้วยสารคาร์เบนดาซิม 50% เอสซี อัตรา 10-20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ล ยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรพิเนบ 70% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งต่อเนื่องกันเกิน 3 ครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันการดื้อยาของเชื้อราสาเหตุโรค และควรพ่นให้ทั่วโดยเฉพาะด้านหลังใบที่มีกลุ่มผงสีดำของเชื้อรา
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 มี.ค. 2559 เวลา : 11:29:04
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 4:15 pm