เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เลขาฯ สศช.เผยไตรมาสแรกของปีนี้จีดีพีโต 3.2 %


 


เมื่อวันที่16 พ.ค.59 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงว่าได้รายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบว่าในไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนับตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศ โดยในไตรมาสก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามาดูแลบริหารประเทศนั้นเศรษฐกิจไทยติดลบอยู่ประมาณ 0.5 ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปีนี้ที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.2 นั้น ถือเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 12 ไตรมาส (ย้อนหลัง 3 ปี) รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวถ้าเปรียบเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วยในอัตราร้อยละ 0.9
 
 

สำหรับปัจจัยหลักที่สนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจซึ่งรายงานที่ประชุมรับทราบ ประกอบด้วย การสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐทั้งในส่วนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ โครงการลงทุนต่าง ๆ รวมถึงงบประมาณที่ลงไปดูแลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เช่น งบประมาณตำบลละ 5 ล้านบาท ขณะนี้ลงไปในพื้นที่แล้วประมาณ 20,000 ล้านบาท ในไตรมาสที่หนึ่ง โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงตัวเลขของการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวถึงร้อยละ 12.4 ทำให้การใช้จ่ายการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดีในไตรมาสที่หนึ่งด้วย โดยมีการลงทุนและขยายตัวร้อยละ 2.1 ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 2.3

ขณะเดียวกันภาคการผลิตส่วนใหญ่มีการขยายตัวเป็นบวก มีเพียง 2 สาขาที่ยังติดลบอยู่ โดยภาคการเกษตรติดลบร้อยละ 1.5 อย่างไรก็ตามผลกระทบที่เกิดขึ้นของภาคการเกษตรก็บรรเทาลงมากเมื่อเปรียบเทียบจากที่เคยติดลบร้อยละ 3.8 ในปีที่แล้ว ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนและฝนเริ่มตก มีน้ำมากขึ้นคาดว่าการผลิตในช่วงหลังของปีถ้าขยายตัวได้ดีตรงนี้ก็มีโอกาสที่จะภาคการเกษตรจะกลับมาเป็นบวกได้ในปีนี้ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจในภาพรวมของปีนี้ขยายตัวดีขึ้นด้วย

ส่วนสาขาที่มีความเข้มแข็งมากคือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวขยายตัวร้อยละ 15 ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวยังขยายที่ร้อยละ 21.7 แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยในภาพรวมเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ดีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ในส่วนการท่องเที่ยวปีนี้ ดีกว่าเดิมจากที่เคยคาดการณ์ไว้จะมีนักท่องเที่ยว 32.5 ล้านคนทั้งปีก็จะปรับเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 33 ล้านคน

ขณะที่การส่งออกไตรมาสที่หนึ่งมูลค่าการส่งออกในรูปของดอลลาร์ติดลบร้อยละ 1.4 แต่หากพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่าในส่วนการส่งออกที่เป็นรูปเงินบาทขยายตัวถึงร้อยละ 7.7 ซึ่งเกิดจากค่าเงินบาทอ่อนที่ค่าในช่วงระยะหลังก็ช่วยสนับสนุนให้รายได้ในการส่งออกของผู้ประกอบการยังขยายตัวได้ดี นอกจากนั้นในส่วนของปริมาณการส่งออกก็เริ่มดีขึ้น โดยขยายตัวร้อยละ 1 ในไตรมาสที่หนึ่ง  ซึ่งหากรวมทั้งภาคบริการและภาคส่งออกสินค้าในเชิงปริมาณก็ขยายตัวประมาณร้อยละ 5.1 อย่างไรก็ตาม ต้องรออีกสักระยะหนึ่งที่จะทำให้ในส่วนของราคาในตลาดโลกดีขึ้นจึงจะทำให้การส่งออกปรับตัวสูงขึ้นได้

พร้อมกันนี้ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจอื่น ๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเช่นกัน เศรษฐกิจไทยยังสามารถปรับตัวได้ดีและมีความเข้มแข็ง ถึงแม้ในส่วนของการส่งออกไตรมาสที่หนึ่งมูลค่าการส่งออกในรูปของดอลลาร์จะติดลบร้อยละ 1.4 แต่หากเปรียบเทียบกันแล้วในไตรมาสนี้จะเห็นว่าประเทศอื่นได้รับผลกระทบทางด้านการส่งออกหดตัวสูงกว่าประเทศไทย ทั้งนี้ จากที่ประเทศไทยได้ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจออกมา หลายประเทศก็ได้ทยอยประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่หนึ่งออกมาแล้วเช่นกัน
 
ซึ่งจะเห็นว่าโดยส่วนใหญ่ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่หนึ่งของหลายประเทศจะชะลอตัวลง ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา จีน เกาหลี อินโดนีเซีย เป็นต้น ตรงนี้จึงเป็นจุดที่ทำให้มีนักลงทุนยังให้ความสนใจในโครงการการลงทุนเพราะความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย และนอกจากไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.2  สศช. ยังได้มีการปรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นการประมาณการทั้งปีของปีนี้จากเดิมขยายตัวร้อยละ 2.8 – 3.8  มาอยู่ที่ร้อยละ 3 - 3.5






 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 พ.ค. 2559 เวลา : 07:14:06
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 10:01 am