เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC สัมมนาประจำปี 'สมคิด'ห่วงเอกชนยังไม่กล้าลงทุนกระทบแรงผลักศก.ยังไม่แรงพอ




 




อีไอซี จัดงานสัมมนาประจำปี “EIC Conference 2016: จับตาการลงทุนภาครัฐ-เอกชน…แรงส่งเศรษฐกิจระลอกใหม่” เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีความตระหนักในทุกแง่มุมโอกาสและความท้าทายทางเศรษฐกิจท่ามกลางสภาวการณ์ในโลกปัจจุบัน ตลอดจนผลกระทบทางภาคธุรกิจที่จะเกิดขึ้น โดยงานสัมมนาปีนี้จัดขึ้นในวันพุธที่ 8 มิถุนายน 2559 ณ ห้องคริสตัลฮอลล์ ชั้น 3 โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน
 
โดยได้รับเกียรติจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แสดงปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “อนาคตไทยกับทศวรรษใหม่แห่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน” รวมถึง นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมบรรยายหัวข้อ “เดินเกมการลงทุน…ทางรอดเศรษฐกิจไทย” พร้อมด้วยเสวนาภายใต้หัวข้อ “โอกาสการลงทุนในทศวรรษแห่งโครงสร้างพื้นฐาน” โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ ทนายความอาวุโส บริษัท วีระวงค์, ชินวัฒน์ และเพียงพนอ จำกัด 

นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดงานสัมมนาว่า “สืบเนื่องจากสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่ไม่ปกติ ซึ่งส่งผลกระทบมายังประเทศไทย ทำให้เศรษฐกิจได้รับแรงกดดันจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ทั้งนี้ การลงทุนภาครัฐจะเป็นแรงส่งที่สำคัญ จึงเป็นโอกาสและความท้าทายของทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงธนาคารในการผสานความร่วมมือเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอีกครั้ง”
 
 

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ"อนาคตไทยกับทศวรรษใหม่แห่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน" ว่าโครงการขับเคลื่อนของรัฐบาลในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญในการเป็นแรงผลักเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งนับจากนี้โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะเริ่มทยอยออกมา ซึ่งเป็นเม็ดเงินมหาศาล อาทิ โครงการด้านพลังงานนับจากนี้จะมีเม็ดเงินลงทุนออกมาเกือบ 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับโครงการด้านคมนาคม ขณะที่โครงการด้านดิจิตอลที่มีเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด 5 แสนล้านบาท ในปีนี้แน่ๆ จะมีเงินลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท
 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเสียดาย คือ ภาคเอกชน ไม่กล้าลงทุน ทำให้การลงทุนเอกชนยังไม่เข้มข้น ตัวเลขการลงทุนยังต่ำมีสัดส่วนต่อจีดีพีแค่ 19% เทียบกับช่วงเศรษฐกิจก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งที่มีสัดส่วนถึง 35% ของจีดีพี

"การที่ภาคเอกชนไทยไม่กล้าลงทุน ทำให้แรงผลักที่จะดันเศรษฐกิจให้เดินหน้ายังไม่แรงพอ เศรษฐกิจไทยจึงยังแผ่วอย่างที่เห็นในปัจจุบัน" ดร.สมคิดกล่าว

 
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ฉะนั้นเมื่อขณะนี้รัฐบาลกล้าที่จะลงทุนอย่างมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในส่วนของภาคเอกชนก็ควรที่จะต้องกล้าลงทุนด้วยเช่นกัน เพื่อร่วมแรงร่วมใจช่วยกันผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ เพราะเราก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น
 
 
"ผมฝากถึงภาคเอกชนไทย กล้าที่ะลงทุนเถอะ ดีกว่าเอาเงินไปฝากแบงก์ ดอกเบี้ยก็ต่ำ เอาไปลงทุนดีกว่า ช่วยเศรษฐกิจและช่วยประเทศ เพราะเราก็เป็นคนไทยด้วยกัน"ดร.สมคิดกล่าวย้ำ
 

ดร.สมคิดกล่าวว่า ต่อจากนี้เวลาที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้ ผมขอประกาศว่า ผมจะเข้าไปจี้ไปไชในโครงการลงทุนต่างๆของภาครัฐ ซึ่งอย่าโกรธผมก็แล้วกัน เพราะผมทำเพื่อให้งานเดินและเดินเร็ว เศรษฐกิจจะได้เดินหน้าสักที จะเป็นจ่าเป็นหมู่ก็ตอนนี้แหละ

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ากับไทยว่า ในส่วนของเศรษฐกิจจีน หากจีนมีโอกาสเติบโตได้ต่อไป ส่งออกของไทยก็ยังมีโอกาส ขออย่างเดียวเศรษฐกิจจีนอย่าทรุดก็แล้วกัน แต่สิ่งที่ผมเป็นห่วงในตอนนี้ คือ เศรษฐกิจของประเทศในตะวันออกกลาง ที่มีแต่รายจ่าย ไม่มีรายได้ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยส่งออกรถยนต์ไปประเทศในตะวันออกกลางจำนวนมาก หากเขาไม่มีเงินก็จะกระทบการส่งออกรถยนต์ของไทยอย่างมาก
 
 

นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์ กล่าวว่า “เศรษฐกิจโลกปัจจุบันยังคงชะลอตัวจากวิกฤติการเงินโลกเมื่อ 8 ปีก่อนและยังไม่มีประเทศใดที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจเหมือนในอดีต การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในหลายประเทศ เช่น การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ภาระหนี้ที่สูง รวมไปถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้ความต้องการในการใช้จ่ายและการลงทุนหดหายไป ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยโลกลดต่ำลงจนอยู่ในระดับเดียวกับยุค Great Depression ที่เศรษฐกิจโลกซึมเป็นเวลานานก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
 
ในสภาวการณ์เช่นนี้ อีไอซีมองว่าทางรอดเดียวสำหรับเศรษฐกิจไทยคือ การใช้มาตรการทางการคลัง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพการเติบโตในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การสร้างโครงสร้างพื้นฐานจะต้องสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่การพัฒนาธุรกิจภาคบริการมากขึ้น” 

 
 
ทั้งนี้ อีไอซีแนะว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวควรที่จะเข้าไปสนับสนุนธุรกิจภาคบริการที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง 3 ด้าน ได้แก่

1. ธุรกิจท่องเที่ยว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทางภาครัฐได้มีการวางแผนขยายและก่อสร้างสนามบินเพิ่มเติมเพื่อรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี การลงทุนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในด้านอื่นๆ ก็ควรที่จะได้รับการสนับสนุนเช่นกัน อาทิ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค รวมถึงระบบการรักษาความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุให้แก่นักท่องเที่ยว และสำคัญที่สุดเพื่อให้ธุรกิจท่องเที่ยวเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ ควรเพิ่มการลงทุนเชิงสถาปัตยกรรมให้รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งจะมีสัดส่วนสูงขึ้นในอนาคตอีกด้วย 

2. ธุรกิจ ICT ปัจจุบันไทยมีการใช้งานด้านข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดผ่านสมาร์ทโฟนและอีคอมเมิร์ซ ประกอบกับระบบ National e-Payment และเทคโนโลยียุคใหม่ อย่าง Internet of Things (IoT) จะผลักดันให้ไทยเข้าสู่ “สังคมดิจิทัล” อย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ดี โครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ทั้งในด้านจำนวนคลื่นความถี่ ความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และกฎหมายด้านดิจิทัลของไทยกลับยังตามหลังประเทศคู่แข่งในอาเซียนอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์มาโดยตลอด ดังนั้น ไทยจึงควรเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวเพื่อให้ประเทศสามารถพัฒนาธุรกิจนี้ได้อย่างเต็มที่ 

3. ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเติบโตของ CLMV ขณะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาวะชะลอตัว แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) กลับเติบโตอย่างสวนทางกัน สะท้อนจากมูลค่าการลงทุนและการค้าชายแดนที่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า  2 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ทั้งทางถนน ทางราง และทางอากาศเพื่อเชื่อมต่อกับกลุ่มประเทศดังกล่าวที่ทางภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จะสร้างโอกาสให้กับธุรกิจขนส่งสินค้าและการเดินทางข้ามแดน รวมถึงภาคธุรกิจบริการต่างๆ  โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าส่งค้าปลีก ซึ่งหากภาครัฐสามารถวางแผนพัฒนาพื้นที่รายรอบโครงการเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณจุดตัดระหว่างเส้นทางคมนาคมต่างๆ จะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ


“การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อภาคบริการจะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการยกระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทยให้มีความพร้อม และก้าวเป็นผู้นำของธุรกิจบริการในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอีไอซีเชื่อมั่นว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี อนาคตของเศรษฐกิจไทยนั้นขึ้นอยู่กับการทำงานร่วมกันอย่างเข้าใจของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเราในครั้งนี้เป็นกระสุนที่มีอานุภาพสูง ช่วยให้เศรษฐกิจไทยก้าวข้ามอุปสรรค ไปสู่อนาคตที่แข็งแกร่งกว่าปัจจุบันได้” นางสาวสุทธาภา กล่าวสรุป

ในส่วนของการเสวนา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ได้แถลงภาพรวมความคืบหน้าของโครงการโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมไทยที่ภาครัฐกำลังเร่งรัด รวมถึงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์ตามมาจากโครงการเหล่านี้ ในด้านของ นายคีรี กาญจนพาสน์ ได้ร่วมเล่าประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย รวมถึงมุมมองและโอกาสทางธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นจากโครงการในอนาคต และ นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ ได้กล่าวเสริมด้านการเตรียมตัวของภาคเอกชนและนักลงทุนตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) สำหรับโครงการเมกะโปรเจกต์ที่กำลังจะเกิดขึ้น 
 
 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงอนาคตโครงสร้างพื้นฐานไทย ว่า รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า และผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัว รวมถึงเพื่อให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตขึ้น
 

โดยที่ผ่านมาโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการไปแล้วและเปิดให้บริการแล้ว ได้แก่
 
1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางสุขุมวิทและสีลม
 
2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เส้นทางบางซื่อ-หัวลำโพง
 
3.โครงการรถไฟฟ้าสายแอร์พอร์ตเรลลิงค์ เส้นทางสุวรรณภูมิ-พญาไท

 
 
 
 
 
 
นอกจากนี้ยังมีอีก 4 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่

1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เส้นทาง บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค มูลค่าการลงทุน 76 พันล้านบาทคาดว่าจะเริ่มเปิดบริการ ปี 2019
 
2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ เส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการ มูลค่าการลงทุน 20 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเปิดบริการ ปี 2020
 
3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง เส้นทาง บางซื่อ-รังสิต มูลค่าการลงทุน 86 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการ ปี 2019
 
4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ เส้นทาง หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มูลค่าการลงทุน 53 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ปี 2016

 
 
 
 
 
 

นอกจากนี้ยังมีอีก 19 โครงการเร่งด่วนที่เร่งดำเนินการ ได้แก่

1. โครงการถไฟฟ้าสายสีส้ม เส้นทางศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี มูลค่าการลงทุน 110 พันล้านบาท คาดจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ปี 2016
 
2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เส้นทาง แคราย-มีนบุรี มูลค่าการลงทุน 57 พันล้านบาท คาดจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ปี 2016
 
3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เส้นทาง ลาดพร้าว-สำโรง  มูลค่าการลงทุน 55 พันล้านบาท คาดจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างปี 2016
 
4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(งานระบบราง) เส้นทาง บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค มูลค่าการลงทุน 22 พันล้านบาท คาดจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างหลังปี 2018
 
5.โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง เส้นทาง บางซื่อ-หัวลำโพง และบางซื่อ-หัวหมาก มูลค่าการลงทุน 39 พันล้านบาท คาดจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างหลังปี 2018
 
6.โครงการรถไฟฟ้าสายแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เส้นทางดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท มูลค่าการลงทุน 31 พันล้านบาท คาดจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างหลังปี 2018
 
7.โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มูลค่าการลงทุน 170 พันล้านบาท อยู่ระหว่างการตกลงด้านการออกแบบและแหล่งเงินทุน
 
8. โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มูลค่าการลงทุน 450 พันล้านบาท อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
 
9.โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพฯ-หัวหิน มูลค่าการลงทุน  95 พันล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการ
 
10.โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง มูลค่าการลงทุน 155 พันล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการ

11.โครงการรถไฟรางคู่ เส้นทาง ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร มูลค่าการลงทุน 17 พันล้านบาท
 
12.โครงการรถไฟรางคู่ เส้นทาง มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ มูลค่าการลงทุน 30 พันล้านบาท
 
13.โครงการรถไฟรางคู่ เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ มูลค่าการลงทุน 15 พันล้านบาท
 
14.โครงการรถไฟรางคู่ เส้นทาง นครปฐม-หัวหิน มูลค่าการลงทุน  20 พันล้านบาท
 
15.โครงการ มอเตอร์เวย์ เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด มูลค่าการลงทุน 20 พันล้านบาท
 
16.โครงการมอเตอร์เวย์ เส้นทาง บางปะอิน-นครราชสีมา มูลค่าการลงทุน 85 พันล้านบาท
 
17.โครงการมอเตอร์เวย์ เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่าการลงทุน 56 พันล้านบาท
 
18.โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ : รันเวย์และอาคารผู้โดยสาร มูลค่าการลงทุน 50 พันล้านบาท
 
19.โครงการท่าเรือ ท่าเรือแหลมฉบัง(AO) และศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) มูลค่าการลงทุน 4 พันล้านบาท

 
 

LastUpdate 08/06/2559 18:17:27 โดย : Admin
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 5:11 pm