การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สบส.ขยายหมู่บ้านลดโรคมะเร็ง ความดัน หัวใจ และหลอดเลือด 52,000แห่ง ปีนี้


 


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เร่งขยายหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยหลัก 3อ. 2 ส. ลดโรคเรื้อรังคุกคามสุขภาพวัยทำงาน สูงอายุ ได้แก่มะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด สูญเสียค่ารักษาปีละกว่าแสนล้านบาท โดยความร่วมมือประชารัฐ หลังดำเนินการ 6 ปี ได้ผลดีทั้งความรู้และพฤติกรรม ประชาชนลงมือปรับเปลี่ยนตนเองสูงถึงร้อยละ 80 ปีนี้ตั้งเป้าดำเนินการ 52,000 หมู่บ้านจะครบทั้งประเทศในปีหน้า
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนนุบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังนำคณะลงพื้นที่เยี่ยมชมหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ในโครงการเฉลิมพระเกียรติ 57 พรรษามหาวชิราลงกรณ์  ที่หมู่ 5บ้านหนองไทร ต.ทุ่งควายกิน อ.แกลง จ.ระยอง ว่า ในปี 2559 นี้ กรมสบส.ได้เร่งสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาโรคเรื้อรังที่คุกคามชีวิตโดยเฉพาะวัยทำงานและวัยสูงอายุในอันดับต้นๆของประเทศ ได้แก่โรคมะเร็ง  โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด  ซึ่งในปี 2558ทั้ง 4 โรคนี้ใช้เงินค่ารักษามากกว่า1 แสนล้านบาท  สาเหตุของโรคที่กล่าวมาเกิดจากการมีพฤติกรรมเสี่ยงหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่ กินผักผลไม้น้อย  กินอาหารรสหวาน มันเค็ม และออกกำลังกายไม่เพียงพอ จัดการความเครียดไม่เหมาะสม สูบบุหรี่และดื่มเหล้า 
 
 

อธิบดีกรม สบส.กล่าวต่อว่า ในการลดโรคดังกล่าว กรม สบส.ได้ใช้ยุทธศาสตร์เพชรตัดเพชร  เน้นการแก้ที่ต้นเหตุคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงของประชาชนทุกคนด้วยหลัก3 อ.2 ส. ได้แก่การปรับพฤติกรรมการกินอาหาร ลดเค็ม ลดมัน เพิ่มการกินผักสด ผลไม้มากขึ้นกว่าวันละ 500 กรัม ออกกำลังกายให้ได้วันละไม่ต่ำกว่า30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย5 วัน เพื่อควบคุมน้ำหนักตัว  และรักษาอารมณ์ ลดเครียด  ส่วน2 ส.คืองดการดื่มสุรา และงดการสูบบุหรี่เริ่มดำเนินการในหมู่บ้านต้นแบบจำนวน304 แห่งในปี 2552  ได้ผลดีมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2559 นี้ ขยายผลอีก 52,000  หมู่บ้าน และได้บูรณาการเข้าสู่ตำบลจัดการสุขภาพ อันจะเป็นความร่วมมือในภาพการทำงานแบบประชารัฐที่สมบูรณ์แบบ คือทั้งเครือข่ายภาคราชการทั้งหมด ผู้นำชุมชน อสม.และประชาชนในแต่ละหมู่บ้าน ใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วงวางแผน ร่วมดำเนินการ ตั้งเป้าครบทุกหมู่บ้านทั่วประเทศในปีหน้านี้

ทางด้านนายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวว่า จากการติดตามประเมินผลหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพบว่าได้ผลดีขึ้น  ประชาชนตื่นตัวมีการดูแลจัดการสุขภาพตนเองและครอบครัว  และลงมือปรับเปลี่ยนตนเองสูงถึงร้อยละ 80  ผลการสำรวจล่าสุดในปี 2558 พบว่าในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป มีความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับดีมากร้อยละ 13 เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2557  และมีพฤติกรรมสุขภาพตามเกณฑ์ในระดับดีมากร้อยละ 15 เพิ่มขึ้นจากเดิม 2 เท่าตัว  ส่งผลให้ผู้ที่เป็นโรคแล้ว  สามารถควบคุมอาการของโรคเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 72  ชุมชนส่วนใหญ่มีมาตรการลดป่วยของชุมชน เช่น งดกินน้ำอัดลมในงานเลี้ยงต่างๆ ในหมู่บ้าน ทุกครัวเรือนมีอย่างน้อย 1 คน เป็นสมาชิกชมรมออกกำลังกาย  ห้ามตั้งวงดื่มสุราในครอบครัวที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี  หากทำผิดกติกา จะถูกสงวนสิทธิ์บางอย่างในชุมชน จนกว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ถูกต้อง
สำหรับที่หมู่ 5 บ้านหนองไทร ต.ทุ่งควายกิน มีประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 341 คน ได้ปรับเปลี่ยน3อ.2 ส.ตั้งแต่พ.ศ. 2556 พบว่าได้ผล กลุ่มไม่ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5  ในกลุ่มป่วยที่มีจำนวน 29 คน  สามารถคุมอาการได้ในระดับปกติ ร้อยละ 35  ลดป่วยรายใหม่ได้ที่เคยมีร้อยละ20 เหลือร้อยละ 10ประชาคมหมู่บ้านกำหนดมาตรการทางสังคม  โดยให้ทุกบ้านต้องมีน้ำพริกผักพื้นบ้านในสำรับกับข้าวทุกมื้อ  ดื่มน้ำสะอาดแทนน้ำอัดลมในงานพิธีกรรม  และให้ทุกบ้านติดกะลาทาสี7 สี เพื่อบอกจำนวนคนป่วย คนปกติ ไว้ที่หน้าบ้าน  คนปกติใช้สีขาว คนป่วยใช้สีเขียวเข้ม สีเหลือง สีส้ม สีแดงและสีดำ ตามลำดับความรุนแรงอาการที่ตรวจรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 มิ.ย. 2559 เวลา : 10:23:58
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 6:04 pm