การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สธ.เผยครม.เห็นชอบ แผนปฏิบัติการ เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อฉบับใหม่


 


คณะรัฐมนตรี เห็นชอบแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ.2559-2561 โดยมีแผนปฏิบัติการ 4 ระบบหลัก คือ ป้องกันโรคติดต่อ ตรวจจับภัยจากโรคติดต่อ ควบคุมโรคติดต่อและตอบสนองต่อปัญหา และระบบสนับสนุน เร่งตั้งคณะกรรมการฯระดับจังหวัด กทม. คณะทำงานประจำช่องทางเข้าออกประเทศ และตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ เพื่อให้ไทยปลอดภัยจากโรคติดต่อ


วันนี้(22 มิถุนายน 2559)ที่ กระทรวงสาธารณสุข ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2559 รับทราบความก้าวหน้าแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ.2559-2561 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่คณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559  

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล กล่าวว่า แผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ.2559-2561 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 กระทรวงสาธารณสุข และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยปลอดภัยจากโรคติดต่อด้วยระบบป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อที่มีประสิทธิภาพทันต่อสถานการณ์และเป็นที่ยอมรับในนานาชาติ ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าจะกวาดล้าง กำจัด ควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญของประเทศด้วยระบบและเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็ง รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน

 
โดยมีแผนปฏิบัติการ 4 ระบบหลัก คือ ระบบป้องกันโรคติดต่อ(Prevent) ระบบตรวจจับภัยจากโรคติดต่อ (Detect) ระบบควบคุมโรคติดต่อและตอบสนองต่อปัญหา(Respond) และระบบสนับสนุนการดำเนินงาน ด้านโรคติดต่อ(Support) ทั้งนี้ เพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาดในพื้นที่จังหวัดและในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สามารถนำไปใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนงบประมาณต่อไปได้  

ทางด้านนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญ สำหรับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้ 1.แต่งตั้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกทม. 2.แต่งตั้งคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออก 3.ตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ
 

4. ดำเนินการตามนโยบาย ระบบ และแนวทางปฏิบัติ ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อที่คณะกรรมการกำหนด และจัดทำแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาด ในเขตพื้นที่ พิจารณาจากแผนปฏิบัติการฯ สอดคล้อง และตามลำดับความสำคัญ ที่เป็นปัญหาของพื้นที่โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ในช่วงฤดูฝนซึ่งทางคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยกรมควบคุมโรคจะสนับสนุนติดตาม สนับสนุนทางวิชาการและอื่นๆ ที่จำเป็น รวมทั้งติดตามประเมินผล มั่นใจว่าคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัดและ กทม.จะช่วยให้งานเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อสำเร็จ
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 มิ.ย. 2559 เวลา : 11:59:15
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 12:44 pm